backup og meta

วิธีใช้ที่ตรวจครรภ์ และการอ่านผลทดสอบการตั้งครรภ์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    วิธีใช้ที่ตรวจครรภ์ และการอ่านผลทดสอบการตั้งครรภ์

    วิธีใช้ที่ตรวจครรภ์ เป็นการใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง เพื่อตรวจยืนยันว่าตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถเข้ารับการตรวจตรวจครรภ์จากคุณหมอได้อีกด้วย สำหรับคนที่ต้องการตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง ควรศึกษาวิธีใช้ที่ตรวจครรภ์อย่างละเอียด เพราะหากตรวจอย่างถูกวิธีตามคู่มือการใช้งาน ผลการทดสอบอาจแม่นยำถึง 99%

    ควรตรวจครรภ์เมื่อใด

    ควรตรวจครรภ์ทันทีหากมีสัญญาณเตือนทางร่างกาย ดังต่อไปนี้

    • ประจำเดือนขาด เป็นอาการแรกเริ่มที่เกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ปฏิสนธิแล้วกำลังฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก บางคนอาจมีเลือดออกมาจากช่องคลอดเล็กน้อย ปวดท้องเกร็ง หรือมีตกขาว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับตกขาวที่มีสีเปลี่ยนแปลง เช่น เปลี่ยนเป็นสีขาวเขียว เปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่น ร่วมกับมีอาการแสบร้อนและคันช่องคลอด ควรเข้ารับการตรวจจากคุณหมอทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณจากติดเชื้อที่ช่องคลอด
    • คลื่นไส้ อาเจียน อาจเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะตอนเช้า หรือเมื่อได้กลิ่นของอาหารบางชนิด แม้กระทั่งอาหารที่เคยชอบ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ อาการอาเจียนอาจบรรเทาลงเมื่อเข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 13-14 แต่สำหรับบางคนอาจไม่มีอาการแพ้ท้องคลื่นไส้ อาเจียนใด ๆ
    • เหนื่อยล้า เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในร่างกายอาจเพิ่มขึ้นสูงขึ้นเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของทารก ทำให้อาจรู้สึกเหนื่อยล้าง่าย อ่อนเพลีย รวมถึงอาจส่งผลให้อารมณ์แปรปรวนง่ายอีกด้วย
    • ปัสสาวะบ่อย มักเกิดขึ้นในช่วง 6-8 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต ทำให้ปัสสาวะบ่อย และมดลูกเริ่มขยายตัวมากขึ้น
    • คัดเต้านม หากสังเกตว่าเต้านมขยาย คัดเต้า เจ็บเต้านม หัวนมมีสีเข้ม ในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อาจเป็นไปได้ว่าฮอร์โมนกำลังเปลี่ยนแปลงเนื่องจากตั้งครรภ์
    • ท้องผูกและกรดไหลย้อน อาจเกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การหดตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ลดลง ทำให้เกิดอาการท้องผูก

    วิธีใช้ที่ตรวจครรภ์

    การตรวจครรภ์ด้วยชุดตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง ควรตรวจปัสสาวะแรกของวัน หรือในช่วงเวลาเช้าหลังตื่นนอนทันที เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ปัสสาวะมีความเข้มข้นของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (HCG) สูงสุด อีกทั้งไม่ควรดื่มน้ำก่อนการตรวจเพราะอาจทำให้ปัสสาวะเจือจาง และทำให้ผลคลาดเคลื่อนได้

    วิธีใช้ที่ตรวจครรภ์อาจแตกต่างกันตามรูปแบบของที่ตรวจครรภ์ ดังนี้

    1. ชุดทดสอบตั้งครรภ์แบบหยด

    ภายในกล่องจะประกอบด้วยตลับทดสอบการตั้งครรภ์ ถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ หลอดหยดสำหรับดูดน้ำปัสสาวะ

    วิธีใช้ที่ตรวจครรภ์

    • ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
    • นำหลอดดูดน้ำปัสสาวะหยดลงบนตลับการทดสอบที่มีตัวอักษร S ประมาณ 3 หยด สูงสุดไม่เกิน 6 หยด เพื่อเพิ่มความไวให้ตลับทดสอบในการอ่านค่าปัสสาวะ
    • วางทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที หรือตามคำแนะนำที่ระบุข้างผลิตภัณฑ์ เพื่อรอผลทดสอบ

    2. ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบจุ่ม

    ในกล่องอาจมีถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ กระดาษ ตลับทดสอบการตั้งครรภ์ หรือเป็นเครื่องพลาสติกที่มีส่วนปลายไว้จุ่มปัสสาวะที่สามารถอ่านผลลัพธ์ได้เลยภายในชิ้นเดียวกัน

    วิธีใช้ที่ตรวจครรภ์

  • ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
  • นำกระดาษทดสอบ หรือถอดฝาอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ แล้วนำส่วนปลายของอุปกรณ์จุ่มลงในปัสสาวะไม่เกินขีดที่กำหนด ประมาณ 7-10 วินาที
  • ปิดฝาอุปกรณ์หรือวางกระดาษในพื้นที่สะอาด และรอ 5 นาที หรือตามคำแนะนำที่ระบุข้างผลิตภัณฑ์ เพื่อรอผลทดสอบ
  • ผลทดสอบการตั้งครรภ์

    ชุดทดสอบการตั้งครรภ์จะมีตัวอักษรที่แสดงถึงผลลัพธ์การตรวจ คือ ตัว C (Control Line) และ T (Test Line) เมื่อถึงเวลาอ่านค่าผลทดสอบตามกำหนดหลังจากการตรวจปัสสาวะ สามารถอ่านความหมายที่ระบุในคู่มือการใช้ชุดทดสอบหรือข้างกล่อง ดังนี้

    • ตั้งครรภ์

    หากเส้นสีแดงปรากฏตรงกับตัวอักษร C และ T ทั้ง 2 ขีดอย่างชัดเจน อาจหมายความว่ากำลังตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม หากขีดที่ตรงกับตัว T มีเส้นสีจาง อาจจำเป็นต้องทำการตรวจสอบใหม่ในเช้าวันถัดไป หรืออีก 1 สัปดาห์ถัดไป

    • ไม่ตั้งครรภ์

    หากมีเส้นสีแดงขึ้นตรงกับตัวอักษร C เพียง 1 ขีด มีความหมายว่า ไม่ตั้งครรภ์ หรือระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ต่ำ อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันผลทดสอบคลาดเคลื่อนควรซื้อชุดทดสอบอย่างน้อย 2-3 ชุด ต่างยี่ห้อเพื่อนำผลลัพธ์มาเปรียบเทียบ หรือเข้ารับการตรวจกับคุณหมอเพื่อให้แน่ใจอีกครั้ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา