โลหิตจาง (Anemia) คือ ภาวะขาดฮีโมโกลบินซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในเซลล์เม็ดเลือดแดง ส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายขาดธาตุเหล็ก เมื่อมีฮีโมโกลบินน้อยเกินไปจึงทำให้เลือดไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ และอาจปวดศีรษะหรือหายใจถี่ได้ด้วย
คำจำกัดความ
โลหิตจาง คืออะไร
โลหิตจาง (Anemia) คือ ภาวะที่ร่างกายขาดฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์และเนื่อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อขาดฮีโมโกลบิน ร่างกายจึงได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จนอาจทำงานผิดปกติได้
โลหิตจาง แบ่งตามสาเหตุการเกิดได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
- โลหิตจางเนื่องจากร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงได้น้อยลง เช่น
- โลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก
- โลหิตจางจากภาวะขาดวิตามินบี
- โลหิตจางจากภาวะขาดโฟเลต
- โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ
- โลหิตจางเนื่องจากร่างกายทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงมากเกินไป เช่น
- โรคธาลัสซีเมีย
- โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกง่าย
- โลหิตจางจากโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว
- โลหิตจางจากการเสียเลือดอย่างฉับพลัน เช่น
- โลหิตจางจากการตกเลือด
- โลหิตจางจางการเกิดอุบัติเหตุ
อาการ
อาการของโลหิตจาง
อาการของโลหิตจางอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุ อย่างไรก็ตาม อาการที่อาจพบได้ เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ผิวซีด ตัวเย็น หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจลำบาก เวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก มือและเท้าเย็น และปวดศีรษะ อาการของโลหิตจางอาจสังเกตไม่ได้ในระยะแรก แต่จะรุนแรงขึ้นเมื่อโรคลุกลาม
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากมีอาการข้างต้นโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง แนะนำให้เข้าพบคุณหมอทันที
สาเหตุ
สาเหตุโลหิตจาง
สาเหตุหลักของภาวะโลหิตจาง คือ การขาดฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง มักเกิดจาก
- ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงได้น้อยลง เนื่องจากขาดวิตามินและแร่ธาตุอย่างธาตุเหล็ก วิตามินบี หรือเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก เป็นต้น
- ร่างกายทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงมากเกินไป เนื่องจากโรคบางชนิด เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว
- ร่างกายเสียเลือดอย่างฉับพลันจากอุบัติเหตุ การตกเลือด เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงโลหิตจาง
หากมีภาวะเหล่านี้ อาจทำให้ความเสี่ยงในการเกิดภาวะโลหิตจางสูงขึ้น
- บริโภคธาตุเหล็ก โฟเลต และวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ
- ลำไส้ผิดปกติ จนส่งผลต่อความสามารถในการดูดซึมสารอาหารไปใช้
- เป็นผู้หญิงวัยมีประจำเดือน
- ตั้งครรภ์
- มีภาวะสุขภาพที่อาจทำให้โลหิตจาง เช่น โรคธาลัสซีเมีย
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโลหิตจาง
หากมีอาการของภาวะโลหิตจาง ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เนื่องจากภาวะโลหิตจางอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ของโรคที่รุนแรงกว่าได้
สำหรับการตรวจวินิจฉัยภาวะโลหิตจาง คุณหมออาจซักประวัติสุขภาพ ตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดง เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโลหิตจาง อาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาโรคประจำตัว
การรักษาโลหิตจาง
วิธีรักษาภาวะโลหิตจางอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น หากโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กหรือวิตามิน อาจรักษากด้วยการรับประทานอาหารเสริมเพื่อทดแทนสารอาหารที่ขาดไป อย่างไรก็ดี หากมีโรคประจำตัวอื่น ๆ คุณหมออาจมุ่งเน้นในการรักษาโรคประจำตัวนั้น ควบคู่ไปกับการสั่งจ่ายยาที่ช่วยบรรเทาอาการของโลหิตจาง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อรับมือกับโลหิตจาง
การใช้ยาที่เหมาะสม และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะสารอาหารที่สำคัญต่อการผลิตฮีโมโกลบิน อาจช่วยป้องกัน ช่วยลดความเสี่ยง หรือช่วยให้ภาวะโลหิตจางที่เป็นอยู่ดีขึ้นได้