backup og meta

สำลักอาหาร จะรับมือและจัดการอย่างไรดี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    สำลักอาหาร จะรับมือและจัดการอย่างไรดี

    หลายๆ คนคงจะเคย สำลักอาหาร มาบ้างสักครั้งหนึ่งในชีวิต การสำลักอาหาร หมายถึงการที่มีเศษอาหาร เข้าไปติดในหลอดลม ทำให้ไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ การสำลักอาหารนี้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หากไม่ทำการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที บทความนี้จะมานำเสนอวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากมีคน สำลักอาหาร

    สัญญาณและอาการของการ สำลักอาหาร

    สัญญาณและอาการของการสำลักนั้น สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายอย่างชัดเจน ผู้ที่สำลักอาหารส่วนใหญ่ มักจะไอไม่หยุด จนกว่าอาหารที่ติดอยู่ในคอหรือหลอดลมหลุดออกไป แต่ในบางครั้ง อาหารนั้นอาจจะติดแน่นอยู่ในหลอดลม และปิดกั้นทางเดินหายใจจนสนิท ทำให้ขาดอากาศหายใจ และอาจเสียชีวิตได้

    สัญญาณและอาการของคนที่กำลังสำลักมีดังนี้

    • พูดไม่ได้
    • หายใจไม่ออก หรือหายใจมีเสียงดัง
    • ไอ สามารถมีทั้งอาการไอเบาๆ อย่างอ่อนแรง หรือไออย่างรุนแรง
    • ผิวหนัง ริมฝีปาก และเล็บ อาจจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วง เนื่องจากขาดอากาศหายใจ
    • หมดสติ
    • บางคนอาจจะเอามือจับคอ เพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าตัวเองกำลังสำลัก

    อย่างไรก็ตาม หากเด็กทารกสำลัก เราอาจจะไม่สามารถสังเกตเห็นอาการที่กล่าวมาด้านบนได้อย่างชัดเจนเท่าไหร่นัก ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรให้การสังเกตเด็กทารกอย่างใกล้ชิด หากพบว่าทารกมีอาการดังต่อไปนี้ อาจจะเป็นสัญญาณว่าทารกกำลังสำลักได้

    • หายใจไม่ออก
    • ร้องไห้เบาๆ อย่างอ่อนแรง
    • ไอเบาๆ

    การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับอาการสำลักอาหาร

    การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ที่กำลังสำลักที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างมากที่สุด คือวิธีรัดกระตุกหน้าท้อง (Heimlich maneuver) เมื่อเราพบว่ามีคนสำลัก หรือตัวเองกำลังสำลัก และหลังจากไอมาสักพักหนึ่งแล้วก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ควรรีบทำการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือในทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้คนผู้นั้นขาดอากาศหายใจ จนสมองเกิดความเสียหาย หรือเสียชีวิตได้

    การปฐมพยาบาลหากตัวเองสำลัก

    เมื่อคุณพบว่าตัวเองสำลัก ควรรีบโทรแจ้งหน่วยพยาบาลฉุกเฉินในทันที และหากในบริเวณโดยรอบไม่มีใครที่สามารถให้การช่วยเหลือคุณได้อย่างทันท่วงที คุณสามารถทำการรัดกระตุกหน้าท้องตัวเองได้ ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

    • กำหมัดให้แน่น แล้ววางไว้บนหน้าท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือเล็กน้อย
    • เอามืออีกข้างมากุมกับมือนั้น หาขอบโต๊ะ เคาน์เตอร์ หรือพนักเก้าอี้ เอียงตัวพิงไปข้างหน้า ดันขอบใส่หน้าท้องตัวเองแรงๆ พร้อมกับกดมือกระทุ้งท้อง ดันมือที่กำอยู่ให้กดลงในท้องและเฉียงขึ้นบน จนกว่าเศษอาหารจะหลุดออกมา

    การปฐมพยาบาลหากผู้ใหญ่ และเด็กโตสำลัก

    หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ สภากาชาดจะแนะนำให้ใช้หลักการ หลักตบหลัง 5 – กดท้อง 5 (Five and five method) โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

    • ตบหลัง 5 ครั้ง ยืนด้านหลังของผู้ป่วย หากผู้ป่วยเป็นเด็กให้คุกเข่าลงมา วางมือข้างหนึ่งไว้บนหน้าอกของผู้ป่วยเพื่อทำการพยุง เอียงตัวผู้ป่วยให้ช่วงตัวบนขนานกับพื้น ใช้สันมือตบลงไปบนหลังของผู้ป่วย ตรงกลางระหว่างสะบักทั้งสองข้าง ด้วยความแรงพอสมควร เป็นจำนวน 5 ครั้ง
    • กดท้อง 5 ครั้ง กดท้องผู้ป่วย 5 ครั้ง ด้วยวิธีการรัดกระตุกหน้าท้อง โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
    • ยืนด้านหลังของผู้ป่วย ใช้มือโอบเอวของผู้ป่วย
    • ก้มตัวลงมาด้านหน้า
    • กำมือให้แน่น โดยเก็บนิ้วโป้งไว้ด้านใน ให้อีกสี่นิ้วกำทับนิ้วโป้ง
    • วางมือที่กำไว้บนท้องของผู้ป่วย บริเวณใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือ
    • ใช้มืออีกข้างที่ว่างอยู่มากำหมัดนั้น แล้วกดลงกระทุ้งดันมือที่กำหมัดเข้าไปในท้องและเฉียงขึ้นบน
    • หากเป็นกรณีของผู้ตั้งครรภ์ หรืออ้วนลงพุง ให้ทำการรัดกระตุกที่บริเวณหน้าอกของผู้ป่วยแทน
    • ทำขั้นตอนทั้งสองชุดนี้สลับกันไปมา จนกว่าเศษอาหารจะออกมาจากหลอดลม

    หากผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก (อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป) ไม่ควรใช้หลักการตบหลัง 5 – กดท้อง 5 แต่ควรเริ่มต้นที่วิธีการรัดกระตุกหน้าท้องเลย และวิธีการรัดกระตุกหน้าท้องนี้ ไม่ควรใช้กับเด็กทารก

    การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่เป็นทารก (อายุน้อยกว่า 1 ปี)

    สำลักอาหาร-ปฐมพยาบาล

    วิธีการปฐมพยาบาลสำหรับเด็กทารก คือต้องใช้วิธีการตบหลัง 5 ครั้ง และกดหน้าอก 5 ครั้ง ห้ามใช้วิธีการรัดกระตุกหน้าท้อง โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

    • นั่งเก้าอี้หรือคุกเข่าลง วางเด็กทารกไว้บนตัก
    • หากเป็นไปได้ควรถอดเสื้อผ้าเด็กออก เพื่อให้สามารถมองเห็นตำแหน่งที่ต้องตบหลังและกดหน้าอกอย่างชัดเจน
    • ใช้มือด้านหนึ่งประคองศีรษะและกรามของเด็กทารกให้มั่นคง คว่ำหน้าเด็กลง วางตัวเด็กบนท่อนแขน ให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าลำตัว
    • ใช้สันมือตบลงบนกึ่งกลางระหว่างสะบักทั้งสองข้างในแนวเฉียงลง ด้วยแรงพอสมควร ทำซ้ำ 5 ครั้ง
    • พลิกตัวเด็กกลับมาในท่านอนหงาย ประคองตัวเด็กให้มั่นคง
    • กดหน้าอก 5 ครั้ง ในบริเวณกึ่งกลางอก บนกระดูกหน้าอกส่วนล่าง
    • ตรวจดูว่าสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาหรือไม่ หากมีให้ใช้นิ้วกวาดออกมา หากไม่แน่ใจไม่ควรทำแบบนั้น
    • หากยังไม่มีสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาและเด็กหมดสติ ให้ทำการ CPR ทันที

    การปฐมพยาบาลในกรณีผู้ป่วยหมดสติ

    • หากผู้ป่วยหมดสติไม่รู้ตัวแล้ว ควรจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงายราบบนพื้น
    • เริ่มทำการกดหน้าอกนวดหัวใจทันที โดยไม่ต้องประเมินชีพจร โดยการกดนวดหัวใจอย่างต่อเนื่อง 30 ครั้ง
    • ทำการช่วยหายใจ โดยการจัดท่าเพื่อเปิดปากผู้ป่วย ควรมองหาสิ่งแปลกปลอมในปากของผู้ป่วยก่อน ถ้ามีให้ใช้นิ้วกวาดออก แต่ถ้าไม่แน่ใจอย่ากวาดนิ้ว เพราะอาจจะทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปลึกกว่าเดิม
    • เริ่มทำการช่วยหายใจ โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งบีบจมูกผู้ป่วย จากนั้นก็เป่าลมเข้าปากของผู้ป่วย 2 ครั้ง

    ทำขั้นตอนการกดนวดหัวใจและเป่าปากสลับกันอย่างต่อเนื่อง คือกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับเป่าปาก 2 ครั้ง ทำซ้ำประมาณ 5 รอบ หรือ 2 นาที จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา หรือจนกว่าการช่วยเหลือจากแพทย์จะมาถึง

    Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา