ตะคอก เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อรู้สึกโกรธ โมโห ไม่พอใจ หรือรู้สึกหนักใจจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ การตะคอกใส่ผู้อื่นอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ที่รับฟัง เช่นเดียวกับการที่คุณพ่อคุณแม่ตะคอกใส่เด็กก็อาจทำให้พวกเขาหยุดพฤติกรรมที่ทำอยู่ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่สาเหตุของปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งยังอาจทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และอาจทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวได้ด้วย
ทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงต้อง ตะคอก
ตะคอก เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อรู้สึกโกรธ โมโห ไม่พอใจ การแสดงออกทางอารมณ์จะเป็นในลักษณะที่รุนแรง โทนเสียง และน้ำเสียงที่ใช้พูดก็จะเริ่มดังขึ้น เสียงสูงขึ้น ซึ่งนั่นไม่ได้ช่วยในการแก้ปัญหา การที่คุณพ่อคุณแม่แสดงออกถึงพฤติกรรมของการตะคอก ตะโกน หรือแผดเสียงใส่เด็ก ๆ ก็เป็นเพียงการทำให้เด็กเงียบและสงบลงได้แค่เพียงชั่วคราว แต่สาเหตุของปัญหาก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งไปกว่านั้น เด็กจะเรียนรู้พฤติกรรมต่าง ๆ ของคุณพ่อคุณแม่ หากคุณพ่อคุณแม่โมโหและตะคอกใส่เด็กบ่อย ๆ ก็อาจมีแนวโน้มที่จะทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมเลียนแบบและนำไปปฏิบัติกับผู้อื่น ทั้งยังอาจทำให้เด็กโตมาเป็นคนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ขี้โมโห และชอบหงุดหงิดใส่ผู้อื่น เนื่องจากคิดว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำใส่ตัวเองที่บ้านเป็นเรื่องปกติ
ตะคอก ใส่เด็กบ่อย ๆ ส่งผลเสียอย่างไร
การตะคอกใส่เด็กบ่อย ๆ อาจมีผลกระทบทั้งทางร่างกาย สภาพจิตใจ รวมถึงสถานภาพความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เปลี่ยนไป ดังนี้
ทางร่างกาย
พฤติกรรมก้าวร้าว
การกระทำของคุณพ่อคุณแม่ในช่วงที่มีอารมณ์โกรธ หรือไม่พอใจ เช่น การตะโกนเสียงดังใส่เด็ก อาจเพิ่มโอกาสที่จะทำให้พฤติกรรมของเด็กจะเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี หรือก้าวร้าว
มีผลต่อสมอง
สมองของผู้ที่มีเหตุการณ์เลวร้ายในอดีต มีความแตกต่างกับผู้ที่ไม่มีเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจ โดยมีความแตกต่างกันในส่วนของสมองที่ทำหน้าที่รับผิดชอบการประมวลผลของเสียงและภาษา
โรคซึมเศร้า
เด็กที่ความเจ็บปวด ความโกรธ ความกลัว และความเสียใจเกิดจากการตะคอกของคุณพ่อคุณแม่ที่ปฏิบัติต่อเด็กในแต่ละวัน รวมถึงการละเมิดทางวาจาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า
ทางจิตใจ
การแผดเสียงดังด้วยอารมณ์ที่ไม่ดีใส่เด็ก ๆ อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในจิตใจและสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมองส่วนอะมิกดะลา (Amygdala) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทำงานทางด้านอารมณ์ และเพิ่มฮอร์โมนความเครียดเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้ร่างกายเกิดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและอื่น ๆ ก่อให้เกิดโรคเครียด โรคซึมเศร้า มีอาการตื่นตระหนกทุกครั้งที่ได้ยินเสียงดัง
นอกจากนี้ การตะโกนยังอาจพฤติกรรมฝังใจของเด็ก แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้ว แต่สมองยังคงเชื่อมโยงตามประสบการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อมีเหตุการณ์ที่คล้ายกับตอนที่คุณพ่อคุณแม่เคยตะคอกใส่ตอนที่ยังเล็ก บุคคลนั้นก็ยังคงได้ยินเสียงคุณพ่อคุณแม่ตะโกนใส่อยู่ในหัว ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่ได้อยู่ที่นั่นด้วยก็ตาม
สถานภาพความสัมพันธ์
หากคุณพ่อคุณแม่เผลอตัวตะคอกและตะโกนใส่เด็กเป็นประจำ อาจสังเกตเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ระหว่างคุณพ่อคุณแม่และเด็กได้
- เด็ก ๆ ตะโกนใส่กัน เหมือนเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมที่พบเห็นมาจากคุณพ่อคุณแม่
- เด็กตะคอกกลับใส่คุณพ่อคุณแม่เวลาที่ทะเลาะหรือมีเรื่องไม่เข้าใจกัน
- คุณพ่อคุณแม่และเด็กเริ่มตีตัวออกห่างกัน
- เด็กให้ความสำคัญกับคนอื่นมากกว่าคนในครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อคุณแม่
วิธีหยุดตะคอกใส่เด็กเมื่อรู้สึกโกรธ
ไม่ตะคอก
เมื่อเด็กทำผิด หรือทำในสิ่งต้องห้าม หรือฝ่าฝืนคำสั่ง ให้เดินไปพูดกับเด็กโดยตรง และพูดด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่กระโชกโฮกฮาก ไม่ควรตะโกนจากที่ไกล ๆ
รู้อารมณ์ตนเอง
ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะเดินไปพูดกับเด็กด้วยน้ำเสียงไม่พอใจ ให้ตั้งสติ พาตัวเองออกจากสถานที่ตรงนั้นสักครู่เพื่อสงบสติอารมณ์โกรธ หายใจเข้าลึก ๆ ทำใจเย็นลง แล้วจึงกลับไปพูดกับเด็กด้วยโทนเสียงปกติ
ใช้การอธิบาย
ในบางครั้งที่คุณพ่อคุณแม่โกรธ เด็ก ๆ อาจรับรู้ถึงอากัปกิริยาที่เปลี่ยนไป ในระหว่างนี้ให้ใช้การพูดคุยแบบปกติ อธิบายว่าตอนนี้กำลังโกรธ โกรธเพราะอะไร เด็กทำผิดอย่างไร พวกเขาสามารถที่จะเรียนรู้พฤติกรรมเหล่านี้จากคุณพ่อคุณแม่ และอาจรู้จักใช้เหตุผลในการพูดคุยมากกว่าการระเบิดอารมณ์
ระวังคำพูด
ในช่วงเวลาที่อารมณ์กำลังปะทุไปด้วยความขุ่นเคือง คำพูดที่หลุดออกมาอาจเป็นไปในทางที่เสียดสีให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ คำหยาบ คำแช่ง ต่าง ๆ นานา คุณพ่อคุณแม่อาจต้องระมัดระวังการกล่าวคำที่ไม่ดีเหล่านี้ พยายามเลือกใช้คำที่สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึก ค่อย ๆ พูด ด้วยความใจเย็น อย่าโมโหจนกระทั่งขาดสติและใช้พูดคำที่รุนแรง เพราะคำพูดบางคำพูดอาจติดอยู่ในใจเด็กไปตลอด
ใช้ความใกล้ชิด
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจไม่ได้ตะโกนเพราะโมโหเสมอไป แต่เป็นการตะโกนเพื่อต้องการให้อีกฝ่ายทำตามคำสั่ง อาจเปลี่ยนจากการตะโกนจากที่ไกล ๆ เป็นการเดินเข้ามาหาเด็กแล้วบอกสิ่งที่ต้องการ เช่น หยิบถุงใบนั้นมาหาแม่หน่อยได้ไหม
ทำความเข้าใจ
คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจทั้งต่อตัวเอง และทำความเข้าใจกับเด็กว่า การกระทำเช่นนี้ไม่สมควร และทำความเข้าใจกับเด็กว่าสิ่งที่ทำผิดไปอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่โกรธอย่างไร ขอโทษหากใช้คำพูดรุนแรง รวมถึงเปิดโอกาสที่จะรับฟังข้อเท็จจริงจากเด็ก ให้เด็กได้มีโอกาสพูดเพื่อที่จะได้ความกระจ่างมากขึ้น ไม่ควรเป็นฝ่ายพูดใส่เด็กเพียงฝ่ายเดียว ทั้งสองฝ่ายควรผลัดกันพูดและผลัดกันรับฟังซึ่งกันและกัน
[embed-health-tool-vaccination-tool]