backup og meta

นมกล่อง เด็กจะเริ่มกินได้เมื่อไหร่ และวิธีฝึกให้เด็กกินนมกล่อง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 15/08/2023

    นมกล่อง เด็กจะเริ่มกินได้เมื่อไหร่ และวิธีฝึกให้เด็กกินนมกล่อง

    การกิน นมกล่อง (UHT milk) ชนิดที่เหมาะสม อาจช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและเสริมความแข็งแรงของกระดูกและฟัน จึงควรเลือกชนิดของนมกล่องให้เหมาะสมกับเด็ก และควรฝึกให้เด็กกินนมกล่องเองได้ เพื่อเสริมสร้างนิสัยการกินนมเป็นประจำซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ควรระมัดระวังปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการกินนมกล่อง เช่น การแพ้นมวัว การย่อยน้ำตาลแลคโตสไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้เด็กเกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างเช่น ผื่นลมพิษ ท้องเสีย อาเจียน หรือการกินนมกล่องชนิดที่มีน้ำตาลสูง ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วนในเด็ก และฟันผุ

    นมกล่อง เด็กจะเริ่มกินได้เมื่อไหร่

    ในช่วง 6 เดือนแรกของเด็ก ควรให้เด็กกินนมแม่เป็นอาหารหลักเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะนมแม่เป็นนมที่เด็กสามารถดูดซึมสารอาหารและย่อยได้ง่าย ทั้งยังอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แร่ธาตุอย่างแคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม วิตามินอย่าง วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินดี และมีแอนติบอดี้ที่ช่วยต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เมื่อเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป สามารถให้กินอาหารอื่น ๆ เสริมควบคู่กับไปการให้นมได้ เช่น ข้าวโอ๊ต ซุปปลา ฟักทองบด ไข่ต้ม (โดยเป็นอาหารบดละเอียด ปรับตามอายุ แนะนำปรึกษาคุณหมอ)

    คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มให้เด็กกินนมกล่องได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป นมกล่องมีแคลเซียมซึ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟันของเด็ก   เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ควรให้กินนมกล่องที่มีไขมันปกติ และหลีกเลี่ยงนมพร่องมันเนยหรือนมไขมัน 1% เนื่องจากเด็กยังต้องการไขมันในนมไปช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมอง อย่างไรก็ตาม นมกล่องเป็นเพียงเครื่องดื่มเพื่อเสริมสุขภาพเท่านั้น อาหารมื้อหลักของเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปควรเป็นอาหาร 3 มื้อที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ ผักและผลไม้  3 มื้อ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและความแข็งแรงของร่างกาย

    ประเภทของนมกล่องที่เหมาะสำหรับเด็ก

    ประเภทของนมกล่องที่เหมาะสำหรับเด็ก อาจมีดังนี้

    • นมพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurized Milk) เป็นนมที่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนไม่เกิน 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่เป็นอันตรายที่อาจพบได้ในนม โดยยังคงรักษากลิ่น รสชาติ รวมไปถึงคุณค่าโภชนาการของนมเอาไว้ สามารถเก็บไว้ได้นานไม่เกิน 10 วัน และควรเก็บไว้ในตู้เย็น
    • นมสเตอริไลซ์ (Sterilization Milk) เป็นนมที่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนเกิน 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20-40 นาที เพื่อกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่อาจเป็นอันตราย สามารถเก็บไว้ได้นาน 12 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น แต่ควรเก็บให้พ้นแสงแดด
    • นมuht (Ultra Heat Treatment) เป็นนมที่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนสูง โดยใช้ความร้อนมากกว่า 100 องศาเซลเซียส ในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่กี่วินาที เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนม สามารถเก็บไว้ได้นาน 6-8 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น และควรเก็บให้โดนแดดน้อยที่สุด หากเจาะดื่มแล้วรับประทานไม่หมดควรนำนมไปแช่เย็น และควรรับประทานให้หมดภายใน 24 ชม.

    ปัญหาสุขภาพจากการกินนมกล่องที่ควรรู้

    ปัญหาสุขภาพจากการกินนมกล่อง อาจมีดังต่อไปนี้

    การแพ้นมวัว (Cow’s milk allergy) การแพ้นมวัวพบได้บ่อยในเด็กเล็ก เพราะยังมีระบบภูมิคุ้มไม่แข็งแรงนัก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อโปรตีนในนมวัว และเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรืออาการแพ้ทันทีหลังกินนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว หรือหลายวันหลังจากนั้น (ควรปรึกษาคุณหมอเด็กผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้)

    อาการแพ้นมวัว อาจมีดังนี้

    • มีลมพิษ หรือตุ่มแดงที่ผิวหนัง
    • ผิวหนังบวมแดง
    • รู้สึกคัน
    • หายใจมีเสียงหวีด หรือไอบ่อย ๆ
    • อาเจียน
    • ท้องเสีย

    การย่อยน้ำตาลแลคโตสไม่ได้ (Lactose intolerance) เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยแลคโตส จึงทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หรืออาจมีอาการแพ้ตามมาหลังบริโภคอาหารที่มีแลคโตส ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลชนิดหนึ่งที่อยู่ในน้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด รวมไปถึงน้ำนมมนุษย์ด้วย

    อาการแพ้แลคโตส อาจมีดังนี้

    • ปวดท้อง
    • แน่นท้อง ท้องอืด
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ

    วิธีฝึกให้เด็กกิน นมกล่อง

    วิธีฝึกให้เด็กกิน นมกล่อง อาจทำได้ดังนี้

    • หากเด็กอยู่ในช่วงเริ่มหย่านมแม่หรือนมขวด ให้ค่อย ๆ ลดเวลาการให้นมแบบเดิม แล้วสลับมาให้กินนมกล่องทีละน้อย จนเด็กค่อย ๆ คุ้นชินกับการกินนมจากกล่อง อาจใช้แก้วหัดดื่มนมกล่องช่วยให้จับถนัดในช่วงแรก
    • เว้นระยะเวลาการให้นมให้นานกว่าเดิม หลังจากกินอาหารมื้อปกติ ควรรอให้เด็กรู้สึกหิวและอยากกินนมสักพัก จึงค่อยให้เด็กกินนมกล่อง อย่าให้เด็กกินนมกล่องตอนยังอิ่ม วิธีนี้อาจช่วยให้เด็กยอมกินนมกล่องได้ง่ายขึ้น
    • ทำตัวเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็น อาจทำท่าทางกินนมกล่องด้วยการดูดนมจากหลอดให้เด็กดู จากนั้นยื่นมือแล้วไปตรงหน้าเด็กเพื่อเชิญชวนให้กินตาม เด็กมักทำตามผู้ใหญ่ วิธีนี้จึงอาจช่วยจูงใจให้เด็กเริ่มกินนมกล่องได้
    • เลือกนมกล่องในรสชาติที่เด็กชอบเพื่อให้เด็กอยากกินนมบ่อย ๆ และสามารถกินจนหมดกล่อง อาจช่วยเสริมสร้างนิสัยการกินนมให้กับเด็กได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้เด็กกินนมกล่องรสชาติที่มีน้ำตาลสูงเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้  (ควรรับประทานนมกล่องชนิดไม่เติมน้ำตาล จะดีที่สุด)
    • ยังมีนมกล่อง UHT ที่ทำจากน้ำนมถั่วเหลือง และนมกลุ่ม Lactose free ซึ่งสามารถหัดให้เด็กวัย 1 ปีขึ้นไปรับประทานได้ กรณีมีอาการแพ้นมวัว หรือการย่อยน้ำตาลแลคโตสไม่ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 15/08/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา