backup og meta

นิทาน กล่อม เด็ก ตัวช่วยในการพาเด็กเข้านอนและเสริมพัฒนาการเด็ก

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    นิทาน กล่อม เด็ก ตัวช่วยในการพาเด็กเข้านอนและเสริมพัฒนาการเด็ก

    นิทาน กล่อม เด็ก เป็นอีกหนึ่งวิธีในการเสริมสร้างพัฒนาการและทักษะด้านต่าง ๆ ของเด็ก เช่น พัฒนาการทางความคิดและอารมณ์ ทักษะด้านสังคม ทักษะทางภาษา  ทั้งยังช่วยฝึกสมาธิ และอาจช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านที่ดีต่อเด็กด้วย นอกจากนี้ การเล่านิทานให้เด็กฟังก่อนนอนยังเป็นตัวช่วยที่ดีในการพาเด็กเข้านอน ทำให้เด็กไม่งอแงเพราะได้ทำกิจกรรมที่ชอบและสบาย ๆ ก่อนนอน เมื่อเด็กเข้านอนง่ายขึ้น ก็จะทำให้เด็กได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งจะส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านร่างกายและสติปัญญา ช่วยให้เด็กเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงสมวัย

    ประโยชน์ต่อพัฒนาการของนิทาน กล่อม เด็ก

    ประโยชน์ต่อพัฒนาการของนิทานกล่อมเด็ก มีดังนี้

    • ช่วยพัฒนาทักษะด้านสังคม ช่วงอ่านนิทานให้เด็กฟังก่อนนอนเป็นช่วงเวลาสานความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกน้อย ช่วยให้ได้ใช้เวลาที่มีค่าร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันมากขึ้น
    • อาจเป็นรากฐานของนิสัยรักการอ่าน การเรียนรู้เกี่ยวกับหนังสือภาพหรือหนังสือนิทาน เริ่มตั้งแต่การฟังนิทานในวัยเตาะแตะไปจนถึงการอ่านนิทานไปพร้อม ๆ กับคุณพ่อคุณแม่เมื่ออยู่ในวัยเรียน อาจเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เด็ก เมื่อเด็กโตพอก็สามารถที่จะค้นหาหนังสือประเภทที่สนใจเพิ่มเติมได้ด้วยตัวเอง
    • ช่วยเสริมทักษะด้านภาษา การฟังนิทานกล่อมนอนช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การสื่อสารด้วยเสียงพูด เสริมสร้างทักษะด้านภาษา การจดจำชื่อคน สัตว์ สถานที่ และสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เด็กอาจพบไม่บ่อยในชีวิตประจำวัน
    • เสริมสร้างทักษะด้านอารมณ์ หนังสือนิทานที่เป็นสถานการณ์สมมติ เช่น ไปโรงเรียนครั้งแรก เจอเพื่อนใหม่ครั้งแรก อาจเป็นสถานการณ์ทางอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้จริง คุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายและพูดคุยเรื่องเหล่านี้กับเด็กได้โดยการใช้นิทานเป็นจุดเริ่มต้นบทสนทนา และเด็กอาจได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาจากเนื้อเรื่องของนิทานอีกด้วย เป็นการสอนให้เด็กหัดวิเคราะห์ปัญหาอย่างง่ายๆ ช่วยให้เด็กมีพื้นฐานการแก้ไขสถานการณ์ที่อาจพบเจอในชีวิตประจำวัน
    • เสริมสร้างทักษะด้านความคิด หนังสือนิทานช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านความคิด จิตใจและพฤติกรรมได้ เช่น นิทานกล่อมเด็กที่มุ่งเน้นคำสอนให้เด็กมีความคิดที่ดี มีความเสียสละ และเห็นแก่ผู้อื่น อาจช่วยเสริมสร้างคุณธรรมและจิตสำนึกที่ดีให้กับเด็กได้
    • ช่วยฝึกสมาธิ หนังสือนิทานช่วยให้เด็กได้จดจ่อกับกิจกรรมเป็นระยะเวลาหนึ่ง ถือเป็นการฝึกสมาธิ และอาจช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองและทักษะด้านการจดจำไปพร้อม ๆ กัน

    เคล็ดลับอ่าน นิทาน กล่อม เด็ก ให้หลับสบาย

    เคล็ดลับในการอ่านนิทานกล่อมเด็กน้อย สามารถทำได้ดังนี้

    • ปิดโทรทัศน์ วิทยุ วิดีโอเกม และปิดเสียงโทรศัพท์ และทำให้บรรยากาศในห้องนอนเงียบสงบ จัดแสงสว่างให้พอดี ไม่จ้าเกินไป เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านนิทานให้เด็กได้ยินอย่างชัดเจน ช่วยให้เด็กตั้งใจจดจ่อกับการฟังนิทานร่วมกันโดยไม่มีเสียงรบกวน
    • คุณพ่อคุณแม่อาจทำเสียงตลก ๆ หรือเสียงเลียนแบบตัวละครแต่ละตัวที่อ่านเพื่อให้เด็กสามารถจินตนาการตามได้ง่ายขึ้น ใช้น้ำเสียงที่เหมาะสมกับเนื้อเรื่องที่กำลังเล่าเพื่อดึงความสนใจของเด็ก เปลี่ยนโทนเสียงที่ใช้เล่าเรื่องไปตามเนื้อหาและอารมณ์ของเนื้อเรื่อง ซึ่งอาจช่วยให้เด็กเรียนรู้การสร้างเสียงหรือคำศัพท์ต่าง ๆ และจดจำไปใช้ได้
    • กระตุ้นให้ลูกมีส่วนร่วมในการฟังนิทาน อาจชี้ชวนให้ดูรูปประกอบที่มีสีสันสดใส โดยไม่จำเป็นต้องโฟกัสไปที่การอ่านนิทานให้จบ แต่ควรเน้นการเล่าเรื่องในแต่ละหน้าเพื่อให้เด็กได้ใช้เวลากับเนื้อหาอย่างเต็มที่
    • คุณพ่อคุณแม่อาจกอดเด็กไปด้วยในขณะเล่านิทาน ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย วางใจ และอาจช่วยให้เด็กนอนหลับได้ง่ายขึ้น
    • เด็กมักเรียนรู้จากการทำสิ่งต่าง ๆ ซ้ำไปมา จึงเป็นเรื่องปกติที่เด็กจะชอบฟังหรืออ่านนิทานเรื่องเดียวกันซ้ำ ๆ เมื่ออ่านนิทานเรื่องเดิม ให้อ่านเน้นจังหวะหรือทำเสียงพูดของตัวละครที่ใกล้เคียงกันทุกครั้ง
    • สำหรับเด็กที่โตพอเลือกหนังสือเองได้ อาจลองให้เด็กเลือกนิทานเรื่องที่ตัวเองชื่นชอบ วิธีนี้เป็นการฝึกให้เด็กได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง และอาจทำให้เด็กสนุกและสนใจการเล่านิทานมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนร่วม
    • ให้ความสำคัญกับความสนใจของเด็ก หากเด็กไม่ต้องการฟังนิทานหรืออ่านนิทานไปพร้อม ๆ กับคุณพ่อคุณแม่ แต่อยากทำกิจกรรมอื่นแทน ก็ไม่ควรไปบังคับและปล่อยให้เด็กได้เลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจจะทำ หรือเสนอกิจกรรมอื่นแทน เช่น ร้องเพลงก่อนนอน

    วิธีที่ช่วยให้พาเด็กเข้านอนได้ง่ายขึ้น

    วิธีที่ช่วยให้พาเด็กเข้านอนได้ง่ายขึ้น อาจมีดังนี้

  • ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาพักผ่อนของครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ควรกำหนดเวลาตื่นนอนและเข้านอนของคนในครอบครัวให้แน่นอนในแต่ละวัน เพื่อสร้างวินัยในการนอนให้กับเด็ก และทำให้เด็กได้ใช้เวลาในการพักผ่อนอย่างเต็มที่
  • ทำกิจวัตรก่อนเข้านอนให้เป็นเวลา กิจวัตรในตอนกลางคืนที่คล้ายคลึงกันในทุกวัน เช่น หลังอาบน้ำ เด็ก ๆ จะได้ฟังหรืออ่านนิทาน แล้วเข้านอน จะทำให้เด็กคุ้นเคยกับสิ่งที่ทำเป็นประจำ รับรู้ว่าถึงเวลาที่จะต้องเข้านอนแล้ว ทั้งยังทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและมั่นคง เนื่องจากคาดเดาได้ว่าจะได้ทำอะไรต่อหลังจากนี้
  • รับประทานของว่างก่อนนอน ให้เด็กรับประทานหรือดื่มอะไรเบา ๆ ย่อยง่าย ก่อนเข้านอน เช่น นมอุ่น ๆ แครกเกอร์โฮลเกรน ผลไม้อย่างองุ่น กล้วยหอม เพื่อช่วยให้เด็กมีพลังงานตลอดคืน และควรเว้นระยะสัก 1-2 ชั่วโมงให้อาหารว่างย่อยก่อนให้เด็กล้มตัวลงนอน และอย่าลืมให้เด็กแปรงฟันให้สะอาดทุกครั้งก่อนเข้านอนด้วย
  • จัดบรรยากาศให้เหมาะสำหรับการนอน หรี่ไฟภายในห้องนอนของเด็กให้มืดลงและสร้างสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป เพื่อช่วยให้เด็กหลับได้ยาวนานขึ้น ทั้งยังลดการตื่นตกใจกลางดึกด้วย
  • ทำกิจกรรมร่วมกันก่อนนอน เช่น อ่านหนังสือนิทานกล่อมนอน ร้องเพลงกล่อมนอน พูดคุยและโอบกอดกัน อาจช่วยให้เด็กรู้สึกเพลิดเพลินและผ่อนคลายจนสามารถเคลิ้มหลับได้อย่างง่ายดาย (เน้นกิจกรรมที่ทำให้สงบ สบาย ไม่โลดโผน ไม่กระตุ้นความตื่นเต้น)
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา