ลูกอาละวาด หรือร้องงอแง ถือเป็นพฤติกรรมที่พบได้ทั่วไปของเด็กวัยเตาะแตะ หรือเด็กอายุ 1-3 ปี แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรรับมือกับพฤติกรรมนี้ของลูกให้ถูกวิธี เพราะอาจส่งผลต่อการแสดงอารมณ์ของเด็กเมื่อเขาโตขึ้นได้
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ลูกอาละวาด เกิดจากอะไร
การร้องอาละวาด (Temper tantrums) ของเด็กนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การร้องสะอื้นเบา ๆ การร้องไห้แบบโวยวาย การเตะต่อย ไปจนถึงการร้องกลั้นหายใจ ซึ่งเป็นการร้องไห้อย่างรุนแรงและกลั้นหายใจตอนหายใจออก จนทำให้ขาดออกซิเจนและส่งผลต่ออวัยวะหลายส่วนในร่างกายได้ โดยพฤติกรรมร้องอาละวาดของเด็กสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ส่วนใหญ่มักพบในเด็กวัยเตาะแตะ (อายุ 1-3 ปี)
การร้องอาละวาดถือเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็ก เด็กบางคนอาจร้องอาละวาดบ่อย ๆ ในขณะที่บางคนก็แทบจะไม่แสดงพฤติกรรมนี้เลย โดยปกติแล้ว เด็กจะร้องอาละวาดเมื่อพวกเขาเกิดความรู้สึก หรืออยู่ในสถานการณ์เหล่านี้
- พื้นฐานอารมณ์ (Temperament) หมายถึง ความโน้มเอียงทางอารมณ์ของเด็กแต่ละคน ที่ส่งผลให้เด็กแสดงออกหรือตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมต่างกันไป เช่น เด็กที่โมโหง่าย อาจแสดงพฤติกรรมร้องอาละวาดเวลาที่เผชิญเหตุการณ์ไม่ได้ดังใจบ่อยกว่าเด็กที่อารมณ์ดี
- สภาวะทางอารมณ์ด้านลบ เช่น โกรธ หงุดหงิด เครียด เหนื่อย โมโหหิว กลัว วิตกกังวล เมื่อเด็กไม่รู้จะรับมือกับอารมณ์ดังกล่าวอย่างไร ก็อาจแสดงออกด้วยการร้องอาละวาดได้
- สถานการณ์ที่รับมือไม่ได้ เช่น เวลาคุณพ่อคุณแม่หยิบของเล่นของลูกไป ลูกไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยแสดงออกด้วยการร้องไห้อาละวาด
- เมื่อเด็กไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดได้ พวกเขาจึงแสดงออกด้วยการร้องอาละวาดแทน แต่เมื่อทักษะทางภาษาและการพูดของเขาพัฒนาขึ้น เขาก็จะร้องอาละวาดน้อยลงตามไปด้วย
แม้การร้องอาละวาดจะเป็นพฤติกรรมที่พบได้มากในเด็กวัย 1-3 ปี แต่เด็กที่อายุมากกว่านี้ก็อาจแสดงพฤติกรรมนี้ได้เช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่พวกเขายังไม่รู้วิธีในการแสดงและจัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง
วิธีรับมือเมื่อ ลูกอาละวาด
- พยายามใจเย็น แม้ลูกจะร้องอาละวาดจนคุณรู้สึกโมโห คุณก็ควรใจเย็นเอาไว้ อย่าใส่อารมณ์กับลูก
- อย่าพยายามปลอบใจเวลาลูกร้องอาละวาดหนัก ให้คุณพ่อคุณแม่ทำกิจกรรมที่ทำอยู่ต่อไปก่อน รอให้ลูกสงบลงก่อนแล้วจึงค่อยพูดคุย หรือทำให้หายอาละวาด
- อย่าติดสินบนเพื่อให้ลูกหยุดร้องอาละวาด เพราะต่อไปลูกอาจจงใจแสดงพฤติกรรมนี้เพราะอยากได้ของรางวัล
- เก็บสิ่งของมีคม หรือสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายออกให้ห่างจากลูก
- ใช้เทคนิคการขอเวลานอก (Time-out) หรือการทำโทษด้วยการให้เด็กเข้ามุมเพื่อไปสงบสติอารมณ์
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกร้องอาละวาด
- ให้ลูกนอนหลับ กินนม และกินอาหารในเวลาเดิมทุกวัน หากจำเป็นต้องพาลูกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ก็ควรให้กินให้อิ่ม นอนให้หลับก่อนออกจากบ้านจะได้ไม่งอแง หรือร้องอาละวาด
- พยายามอย่าให้เกิดอารมณ์ด้านลบ เช่น เครียด เหนื่อย หิวจัด เพราะสภาวะทางอารมณ์เหล่านี้จะทำให้ลูกอาละวาดได้ง่ายขึ้น
- หาสิ่งกระตุ้นให้เจอและหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น เช่น หากลูกชอบร้องไห้อาละวาดเวลาไปชอปปิ้ง อาจเลือกไปชอปปิ้งหลังจากที่ลูกได้นอนกลางวัน หรือกินอิ่มแล้ว
- หากทำได้ ควรให้ลูกได้เลือกอะไรเองบ้าง เช่น เลือกเสื้อผ้าที่อยากใส่ เลือกนิทานที่อยากฟังก่อนนอน เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกกดดัน หรือถูกบังคับจนทำให้อารมณ์ไม่ดี และอยากร้องอาละวาด
ควรปรึกษาคุณหมอเมื่อไหร่
หากลูกอาละวาดหนักหรือมีพฤติกรรมนี้บ่อย ๆ จนรับมือไม่ไหว หรือมีลักษณะดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาคุณหมอทันที
- อายุเกิน 4 ปีแล้ว แต่กลับร้องอาละวาดหนักขึ้น
- ลูกร้องอาละวาดแล้วทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น หรือชอบทำลายข้าวของ
- ลูกร้องไห้อาละวาดจนหยุดหายใจ โดยเฉพาะหากถึงขั้นหมดสติ
- ลูกฝันร้าย มีปัญหาในการขับถ่าย ปวดศีรษะ ปวดท้อง วิตกกังวล ไม่ยอมกินอาหาร ไม่ยอมเข้านอน หรือเกาะติดคุณพ่อคุณแม่แจ