โรคลำไส้อักเสบ เป็นภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร อาจมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัสโรตา ลูกเป็นลำไส้อักเสบ กี่วันหาย อาจเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวล โดยเฉพาะหากลูกเป็นเด็กทารกหรือเด็กเล็ก โดยปกติแล้ว หลังรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย 1-2 วัน ลูกจะเริ่มมีอาการไข้ อาเจียนและอ่อนเพลีย จากนั้นอาจมีอาการท้องเสียเป็นเวลา 7-10 วัน ในรายที่อาการไม่รุนแรงสามารถดูแลตามอาการให้หายเองได้ แต่หากมีอาการรุนแรงและมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด
[embed-health-tool-vaccination-tool]
โรคลำไส้อักเสบ คืออะไร
โรคลำไส้อักเสบ คือ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย มักเกิดจากเชื้อไวรัสโรตา (Rotavirus) เป็นเชื้อโรคที่ติดต่อได้ง่าย โรคนี้พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางปาก จะทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหารและลำไส้ เยื่อบุลำไส้เล็กอักเสบและสร้างน้ำย่อยได้น้อยลง ส่งผลให้ลูกย่อยนมและอาหารได้ช้า ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสียรุนแรง อาเจียน มีไข้ และเกิดภาวะขาดน้ำ ทั้งนี้ โรคนี้สามารถพบได้ทั้งในเด็กทารก เด็กเล็ก เด็กวัยรุ่น รวมไปถึงผู้ใหญ่ จึงควรรักษาสุขอนามัยและล้างมือเป็นประจำ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
อาการของโรคลำไส้อักเสบ
ส่วนใหญ่แล้ว อาการของโรคลำไส้อักเสบมักปรากฏหลังจากลูกได้รับเชื้อไวรัสที่ทำให้ลำไส้อักเสบประมาณ 1-2 วัน โดยอาการที่พบอาจมีดังนี้
- เป็นไข้ อาเจียน และปวดท้อง เป็นอาการเริ่มต้นเมื่อได้รับเชื้อลำไส้อักเสบ เกิดขึ้นหลังรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลา 1-2 วัน
- ท้องเสีย เป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากอาการเริ่มต้นหายไป ในช่วงนี้ไวรัสเข้าสู่ระบบภายในร่างกายเรียบร้อยแล้ว และอาจทำให้ท้องเสียเป็นน้ำหรือมีมูกเป็นเวลาประมาณ 5-7 วัน
เมื่อลูกอาเจียนและท้องเสีย อาจทำให้กินนม กินข้าวและดื่มน้ำน้อยลง ร่างกายของลูกอาจสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากจนนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ซึ่งอาจถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้ จึงควรหมั่นสังเกตอาการของลูก และดูแลให้ลูกได้รับของเหลวอย่างเพียงพอ สัญญาณของภาวะขาดน้ำที่ควรเฝ้าระวัง มีดังนี้
- กระหายน้ำ
- วิงเวียนศีรษะ
- ตาลึกโหล
- ปากแห้ง
- ตัวซีด
- ร้องไห้แบบไม่มีน้ำตา
- ปัสสาวะน้อยหรือผ้าอ้อมแห้ง
- ง่วงซึม
ลูกเป็นลำไส้อักเสบ รักษาอย่างไร
การรักษาโรคลำไส้อักเสบมักเป็นการรักษาตามอาการ และเน้นบรรเทาภาวะขาดน้ำ หากลูกเป็นเด็กเล็กที่ยังกินนมแม่หรือนมผง ให้ผสมผงเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) ใส่ในขวดนมให้กินเพื่อทดแทนของเหลวที่สูญเสียไป สำหรับเด็กอายุมากกว่า 6 เดือน ในช่วงที่ท้องเสีย ให้กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้มหมู โจ๊กไก่ เนื้อไม่ติดมัน ปลา ไข่ ในปริมาณที่เหมาะสม และให้เกลือแร่เสริมเช่นกัน หากลูกไม่อยากอาหาร ให้แบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อแทนการกินมื้อใหญ่ทีเดียว วิธีนี้อาจช่วยให้ลูกกินได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ไม่ควรรักษาโรคลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อไวรัสด้วยยาปฏิชีวนะ และไม่ควรใช้ยาลดอาการท้องเสีย เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กเล็กได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนเลือกซื้อยาให้ลูกใช้ และควรใช้ยาตามชนิดและปริมาณที่คุณหมอและเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง
วิธีป้องกันลูกเป็นลำไส้อักเสบ
คุณพ่อคุณแม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคลำไส้อักเสบให้ลูกได้ด้วยการให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร เตรียมอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ให้กับลูก และรักษาสุขอนามัยของคนในครอบครัวให้ดี รวมถึงการให้ลูกเข้ารับวัคซีนโรตาชนิดหยอด
โดยเริ่มหยอดครั้งแรกเมื่อลูกอายุอย่างน้อย 6 สัปดาห์ และเว้นระยะหยอดครั้งต่อไปเป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน ในปัจจุบัน ประเทศไทยใช้วัคซีนโรตาชนิดหยอดทั้งหมด 2 ชนิด ได้แก่
- วัคซีนหยอด 2 ครั้ง วัคซีนชนิดนี้ควรหยอดให้เสร็จสิ้นก่อนลูกอายุ 6 เดือน
- วัคซีนหยอด 3 ครั้ง วัคซีนชนิดนี้ควรหยอดให้เสร็จสิ้นก่อนลูกอายุ 8 เดือน
ลูกเป็นลำไส้อักเสบ กี่วันหาย
โรคลำไส้อักเสบ จะมีช่วงที่ยังไม่แสดงอาการประมาณ 1-2 วัน เมื่อเริ่มมีอาการปวดท้อง อาเจียน ไปจนถึงท้องเสียแล้ว อาจมีอาการท้องเสียอยู่ประมาณ 3-7 วัน ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจมีอาการได้นานถึง 10 วัน จึงควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ให้กินอาหารที่มีประโยชน์ ย่อยง่าย และเสริมเกลือแร่ให้เพียงพอ โดยให้จิบน้ำเกลือแร่ทีละน้อยแต่ให้จิบบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้อาเจียน หรือถ่ายเหลวออกมาจนหมด
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากลูกมีอาการต่อไปนี้ ควรพาไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด
- มีอาการเซื่องซึม ไม่ร่าเริง
- อาเจียนบ่อยครั้ง
- อยากดื่มของเหลว เช่น น้ำ นม น้อยลงง
- อุจจาระเป็นสีดำ มีเลือดหรือหนองปนอยู่ด้วย
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
- เด็กอายุมากกว่า 6 เดือนมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง
- ปัสสาวะออกน้อยลงใน 6 ชั่วโมง