backup og meta

วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด มีอะไรบ้าง และการกระตุ้นให้ลูกพูดสำคัญอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด มีอะไรบ้าง และการกระตุ้นให้ลูกพูดสำคัญอย่างไร

    ลูกเริ่มเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางภาษากับการพูดตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งจะเริ่มเรียนรู้และเลียนแบบจากคุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้าง โดย วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด อาจทำได้หลายวิธี แต่ควรเป็นวิธีที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุด้วย

    ความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการพูดของลูก

    ทารกเริ่มเรียนรู้ทักษะด้านการฟังและการพูดตั้งแต่แรกเกิด โดยจะเริ่มเรียนรู้จากการฟังเสียงคุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้าง ทำความเข้าใจกับภาษา จากนั้นจะเริ่มสื่อสารด้วยการเปล่งเสียงแต่ไม่ใช้คำพูด ซึ่งการฝึกทักษะด้านภาษาและกระตุ้นให้ลูกพูดจึงมีความสำคัญอย่างมากในการดำเนินชีวิตของลูกในอนาคต ดังนี้

    • ช่วยให้ลูกสามารถเข้าเรียนและทำกิจกรรมในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี เพราะเด็กที่มีทักษะการพูดและการใช้ภาษาที่ดีจะสามารถทำความเข้าใจกับความรู้ในห้องเรียนได้ดี และยังสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
    • ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก เพราะเมื่อลูกพูดได้คล่องจะช่วยให้ลูกสามารถสื่อสารกับเพื่อนหรือคนรอบข้างได้อย่างมั่นใจ
    • ช่วยให้เด็กสามารถสื่อสารความต้องการได้ดี เมื่อลูกมีความต้องการ หรือต้องการปฏิเสธบางอย่าง การพูดเป็นสิ่งที่จะสามารถสื่อสารได้ตรงประเด็นมากที่สุด
    • ช่วยให้เด็กผูกมิตรกับคนรอบข้างได้ การพูดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการผูกมิตรกับเพื่อนและคนรอบข้าง
    • ช่วยให้เด็กเข้าใจโลกรอบตัว เพราะเมื่อลูกมีความเข้าใจในทักษะทางภาษาและการพูดมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยให้ลูกพัฒนาความรู้รอบตัวได้มากเท่านั้น

    วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด

    วิธีกระตุ้นให้ลูกพูดอาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

    1. การเป็นตัวอย่างที่ดี

    ลูกสามารถเรียนรู้ทักษะทางภาษาและการพูดได้ดีที่สุดจากการสังเกตและเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้างจึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการพูด เช่น

    • พูดเป็นคำหรือประโยคอย่างช้า ๆ ชัดเจน และใจเย็น
    • ใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัยของลูก
    • พูดพร้อมกับสบตาลูกทุกครั้ง
    • พูดประโยคเดิมซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จะช่วยย้ำเตือนให้ลูกจำได้เร็วขึ้น
    • พูดประโยคเดิมซ้ำ ๆ หากลูกพูดผิดก็พูดแก้ไขคำเดิมเรื่อย ๆ จากนั้นให้ขยายไปเป็นคำอื่น ๆ มากขึ้น
    • พูดอธิบายและแสดงความคิดเห็นในที่สิ่งที่ตัวเองหรือลูกกำลังทำ
    • ตั้งใจฟังเมื่อลูกพูด และอดทนเมื่อลูกพูดช้าหรือพูดผิด
    • ติดป้ายกำกับสิ่งต่าง ๆ และแสดงการกระทำให้ลูกเห็น เช่น ติดป้ายรูปแมวที่ตะกร้าของเล่น แสดงการกระทำให้ลูกเห็นว่าควรหยิบของเล่นที่เล่นแล้วใส่ตะกร้ารูปแมว
    1. การใช้กิจกรรมกระตุ้นให้ลูกพูดตามช่วงอายุ

    ทารกแรกเกิดถึง 3 เดือน

    ช่วงอายุนี้เป็นวัยที่ลูกจะฟังเสียงคุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้าง รวมถึงมีการเลียนแบบการออกเสียงที่ได้ยิน จึงอาจกระตุ้นการพูดได้ ดังนี้

    • ร้องเพลงให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกได้ฟังเสียงดนตรีและเรียนรู้ภาษาจากเนื้อเพลง
    • พูดคุยกับลูกทุกวัน และสามารถอุ้มลูกไว้เมื่อพูดคุยกับผู้อื่น ระหว่างนี้ลูกจะฟังเสียง เรียนรู้พฤติกรรมและภาษาที่ได้ยิน
    • ลองปิดโทรทัศน์ วิทยุหรือโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้บ้านเงียบสงบ เพราะช่วงเวลาที่เงียบสงบลูกอาจต้องการพูดพล่ามด้วยการเปล่งเสียงของตัวเองออกมา

    ลูกอายุ 3-6 เดือน

    เป็นช่วงอายุที่ลูกกำลังเรียนรู้ว่าผู้คนพูดคุยกันอย่างไร และแสดงพฤติกรรมโต้ตอบการพูด จึงอาจกระตุ้นการพูด เช่น

    • อุ้มลูกไว้ใกล้ ๆ ตัว เพื่อให้ลูกเรียนรู้การพูดและการสื่อสาร ในระหว่างนี้ลูกจะจ้องมองและเรียนรู้ทักษะทางภาษาของผู้คนมากขึ้น
    • พูดคุยเล่นกับลูกพร้อมกับยิ้มแย้มไปด้วย
    • พูดเลียนแบบสียงของลูก หรือพูดซ้ำเมื่อลูกตอบสนองต่อเสียงหรือคำใดที่พูด เพื่อเป็นการสอนให้ลูกจดจำคำและการสนทนา

    ลูกอายุ 6-9 เดือน

    ช่วงอายุนี้ลูกจะเล่นกับเสียงในบางคำพูด เช่น ดาดา บาบา และลูกจะแสดงอาการมีความสุข ร้องไห้หรือโกรธเมื่อได้ยินเสียงที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์นั้น จึงอาจกระตุ้นการพูด เช่น

    • เล่นเกมจ๊ะเอ๋กับลูกเพื่อช่วยให้ลูกขยับมือ เรียนรู้การสัมผัส และฟังเสียงในระหว่างเล่นเกม
    • ให้ของเล่นกับลูกพร้อมพูดคุยเกี่ยวกับของเล่น เช่น คืนนี้พี่หมีจะนอนกอดหนูนะคะลูก
    • อุ้มลูกไปที่หน้ากระจกให้ลูกเห็นตัวเองในกระจก จากนั้นให้พูดถามลูกว่านั่นใคร แต่ถ้าลูกไม่ตอบสนองให้พูดชื่อของลูกเพื่อให้ลูกรู้ตัวว่าเป็นตัวเอง
    • ถามคำถามกับลูกบ่อย ๆ เช่น พี่หมีอยู่ที่ไหน ถ้าลูกไม่ตอบให้พาลูกไปตามหาพี่หมี

    ลูกอายุ 9-12 เดือน

    ลูกจะเริ่มเข้าใจคำศัพท์สั้น ๆ ง่าย ๆ ได้มากขึ้น เช่น ได้ ไม่ หยุด และจะเข้าใจคำถามสั้น ๆ เช่น แม่อยู่ไหน พ่อทำอะไร ลูกจะตอบสนองสิ่งที่ถามด้วยการชี้ให้เห็น ทำเสียง หรือใช้ร่างกายเพื่อสื่อสารเป็นคำตอบ

    นอกจากนี้ ลูกอาจแสดงความต้องการบางสิ่งบางอย่างด้วยการเปล่งเสียง โบกมือ หรือจ้องมอง เพื่อแสดงความต้องการสิ่งนั้นด้วย

    ลูกอายุ 12-18 เดือน

    ลูกจะเริ่มใช้คำพูดและใช้เสียงเพื่อระบุสิ่งของ ซึ่งการเปล่งเสียงหรือพูดเป็นคำขึ้นอยู่กับการเรียนรู้คำ เช่น บาบา อาจหมายถึง พี่หมี, ดาม อาจหมายถึง น้ำ

    นอกจากนี้ ลูกจะสามารถมอบสิ่งของให้เมื่อร้องขอ และจะแสดงความต้องการสิ่งของนั้นด้วยการชี้ เอื้อมมือไปที่สิ่งนั้น มองดูหรือพูดพล่ามเพื่อให้คนรอบข้างหยิบสิ่งของให้ จึงอาจกระตุ้นการพูดของลูกได้ ดังนี้

    • พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับสิ่งของที่กำลังใช้ เช่น ถ้วย ชาม ช้อน ตุ๊กตา โดยอาจให้ลูกช่วยตั้งชื่อสิ่งของนั้น
    • ชวนลูกอ่านหนังสือและถามคำถามเกี่ยวกับภาพในหนังสือ และให้ลูกตั้งชื่อตัวละครในหนังสือด้วย
    • ยิ้มหรือปรบมือเมื่อลูกพูดถึงสิ่งที่เห็น และขยายความมากขึ้น เช่น ดูสิลูกหมากำลังกระดิกหางด้วย
    • พูดคุยในสิ่งที่ลูกต้องการพูด และฟังสิ่งที่ลูกพูดอย่างตั้งใจ
    • ถามคำถามเกี่ยวกับสิ่งในชีวิตประจำวัน เช่น วันนี้ใส่เสื้อตัวไหนดี จะกินนมหรือกินน้ำผลไม้
    • เล่นและสนทนาเป็นบทบาทสมมติกับตุ๊กตา เช่น พี่หมีอยากเล่นบอลกับหนูด้วยได้ไหม

    ลูกอายุ 18-24 เดือน

    ลูกจะสามารถทำตามคำสั่งและเริ่มรวมคำได้ เช่น รถไป กินน้ำ จะนอน กินนม จึงอาจกระตุ้นการพูดของลูก เช่น

    • พูดขอให้ลูกช่วยสิ่งง่าย ๆ เช่น พูดขอให้ลูกวางถ้วยบนโต๊ะ พูดขอให้ลูกหยิบรองเท้ามาให้
    • สอนร้องเพลงง่าย ๆ ร้องเพลงกล่อมเด็ก หรืออ่านหนังสือให้ลูกฟัง และขอให้ลูกชี้ว่าตอนนี้กำลังเห็นอะไร
    • กระตุ้นให้ลูกพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว
    • ให้ลูกมีส่วนร่วมกับการเล่นบทบาทสมมติ เช่น ให้ลูกคุยโทรศัพท์ ให้อาหารตุ๊กตา จัดปาร์ตี้กับของเล่น

    ลูกอายุ 2-3 ปี

    ทักษะทางภาษาของลูกจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยลูกจะสร้างประโยคง่าย ๆ ได้เอง เช่น ลาก่อน แม่ไปแล้ว แม่นอนแล้ว และจะสามารถเริ่มตอบคำถามที่ซับซ้อนมากขึ้นได้ เช่น เวลาหิวจะทำอะไร นอกจากนี้ ลูกจะเล่นแสดงบทบาทสมมติมากขึ้น เช่น ทำอาหาร ไปทำงาน แข่งรถ จึงอาจกระตุ้นการพูดของลูกได้ ดังนี้

    • สอนลูกให้พูดชื่อหรือนามสกุลของตัวเอง
    • พูดถามเกี่ยวกับจำนวน ขนาด และรูปร่างของสิ่งที่ลูกนำมาให้ดู
    • ถามคำถามปลายเปิดที่ไม่มีคำตอบ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” จะช่วยให้ลูกพัฒนาความคิดของตัวเองและเรียนรู้ที่จะแสดงออก
    • ขอให้ลูกเล่าเรื่องที่มีในหนังสือเล่มโปรด
    • แกล้งทำเป็นเล่นบทบาทสมมติกับลูก เพื่อช่วยในการเรียนรู้ภาษา
    • ลองปิดโทรทัศน์และวิทยุ หรือเสียงรบกวนอื่น ๆ เพื่อให้ลูกได้ลองพูดคุยกับคนในบ้านโดยไม่มีอะไรรบกวน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา