backup og meta

วิธีเลี้ยงลูก ที่เหมาะสม ในแต่ละช่วงวัย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    วิธีเลี้ยงลูก ที่เหมาะสม ในแต่ละช่วงวัย

    การเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องเหมาะสมจากคนในครอบครัวเป็นพื้นฐานแรกที่อาจช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และความคิดได้อย่างสมวัย วิธีเลี้ยงลูก อาจมีหลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับช่วงวัย และพฤติกรรมของเด็กแต่ละคน การเลือกวิธีการเลี้ยงลูกที่เหมาะสม ช่วยให้ลูกมีพัฒนาการ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคม

    รูปแบบการเลี้ยงลูก

    รูปแบบการเลี้ยงลูกอาจแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

  • การเลี้ยงลูกแบบเข้มงวด (Authoritarian parenting)

  • เป็นการเลี้ยงลูกแบบบังคับตามเป้าหมายของผู้ปกครอง โดยไม่สนใจความต้องการของลูก และเมื่อลูกทำบางสิ่งบางอย่างผิดพลาดนอกเหนือกฎวินัยที่ผู้ปกครองตั้ง บางครอบครัวอาจมีการทำโทษรุนแรง เช่น การตี ตะโกนต่อว่าด้วยคำหยาบคาย การเลี้ยงลูกในรูปแบบเข้มงวดอาจส่งผลให้ลูกมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เดินไปในแนวทางที่ถูกต้องเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเอง และอาจทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้านพ่อแม่เมื่อโตขึ้น เครียด วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง

    1. การเลี้ยงลูกแบบให้อิสระ (Permissive Parenting)

    ผู้ปกครองจะเลี้ยงด้วยความรัก ความอบอุ่น ไม่กำหนดขอบเขตหรือตั้งกฎให้ลูกปฏิบัติตาม หลีกเลี่ยงการทำโทษลูก และจะคอยสนับสนุนให้ลูกทำในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งการเลี้ยงลูกในรูปแบบนี้อาจทำให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง กล้าตัดสินใจ แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำให้ลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น เอาแต่ใจ ไม่มีมารยาท ไม่มีความรับผิดชอบ หากโดนเตือนโดนต่อว่าเพียงเล็กน้อยอาจมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าวรุนแรงเนื่องจากเคยชินกับความเป็นอิสระทำตามใจตัวเองมากเกินไป

    การเลี้ยงลูกอย่างสมเหตุสมผล (Authoritative parenting)

    เป็นการเลี้ยงลูกคล้ายกับรูปแบบเข้มงวด แต่แตกต่างตรงที่ผู้ปกครองยังคอยรับฟังความรู้สึก ความคิด และความต้องการของลูก โดยจะพิจารณาตามสถานการณ์ อาจยังคงมีข้อกำหนดที่ควรปฏิบัติอยู่แต่เมื่อลูกทำผิดพลาดจะไม่ใช้ความรุนแรง แต่จะสอนและแนะนำวิธีจัดการกับปัญหา เพื่อให้ลูกเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเองเมื่อเจอสถานการณ์ตึงเครียด

    1. การเลี้ยงลูกแบบละเลย (Uninvolved parenting)

    เป็นการเลี้ยงลูกแบบขาดการเอาใจใส่ ใช้เวลาร่วมกับลูกน้อยซึ่งอาจมาจากปัจจัยบางอย่าง เช่น งานหนัก อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว อีกทั้งผู้ปกครองมักจะไม่ค่อยสนใจว่าลูกจะมีความต้องการอย่างไร กำลังทำอะไร หรือคิดอะไรอยู่ เด็กที่โตมาด้วยการเลี้ยงลูกแบบละเลยอาจรู้สึกขาดความอบอุ่นและความรักของพ่อแม่ จนแสวงหาสิ่งที่ขาดจากคนแปลกหน้า ทำให้อาจนำตัวเองไปอยู่ในสังคมที่ไม่ดี เสพยาเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในขณะเดียวกัน ลูกที่ถูกละเลยอาจโตมาเป็นบุคคลมีคุณภาพ ประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากเรียนรู้ที่จะคิด พูด ทำอะไรด้วยตัวเองตั้งแต่เล็ก ๆ

    วิธีเลี้ยงลูก ในแต่ละช่วงวัย

    วิธีเลี้ยงลูก ในแต่ละช่วงวัยให้เหมาะสมและช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้ลูก อาจทำได้ดังนี้

    1. ทารกแรกเกิด

    ช่วงอายุ 0-1 ปี ลูกจะเริ่มมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว ตอบสนอง เช่น การยิ้ม โบกมือ เอื้อมแขนไปจับวัตถุสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า อีกทั้งยังเริ่มเปล่งเสียงเรียกพ่อแม่ หรือพูดคุยโต้ตอบ นอกจากนี้ เมื่อทารกอายุ 9 เดือน ถึง 1 ปี ก็จะเริ่มหัดคลาน และพยายามลุกขึ้นยืน เดิน ตามลำดับ โดยคุณพ่อคุณแม่สังเกตได้จากการคว้าหาที่ยึดเพื่อพยุงตัวขึ้น การดันตัวจากพื้น

    วิธีเลี้ยงลูกช่วงวัยทารก

    • ให้ทารกกินนมในช่วงอายุ 6 เดือนแรก เมื่อสังเกตว่าลูกมีฟันขึ้นอาจให้อาหารอ่อน เช่น ผักต้ม ซีเรียล เต้าหู้ ไข่ โดยทำให้นิ่มและขนาดเล็กมากที่สุด เพื่อให้ทารกรับรู้รสชาติอาหารใหม่ ๆ และเริ่มฝึกให้ทารกเริ่มรับประทานอาหารแข็ง
    • อุ้มทารกอย่างระมัดระวัง ไม่ควรเขย่าทารก เพราะบริเวณลำคอและศีรษะของทารกยังไม่แข็งแรง
    • พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ เพื่อให้ลูกจดจำและเริ่มเปล่งเสียงตามคำที่ได้ยิน
    • อ่านหนังสือ ร้องเพลง และเปิดเพลงให้ลูกฟัง เพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษา
    • เอาใจใส่ลูกน้อย ใช้เวลากอดและอุ้มให้มาก ๆ เพราะจะทำให้ทารกรับรู้ได้ถึงความรัก ความปลอดภัย
    • ควรระวังไม่ให้ผ้าห่ม ผ้าอ้อม ตุ๊กตา หรือหมอน ที่อยู่รอบตัวทารกบดบังใบหน้าจนทำให้หายใจไม่ออก
    • ให้ทารกนอนพักผ่อนมาก ๆ สำหรับทารกแรกเกิด ควรนอนอย่างน้อย 12-16 ชั่วโมง/วัน
    • ไม่ควรนำของเหลว อาหารร้อน และของมีคมอันตรายไปวางไว้ใกล้ลูก เพราะอาจทำให้ทารกเอื้อมมือคว้าจนเกิดอุบัติเหตุ
    • ผู้ปกครองควรงดการสูบบุหรี่ใกล้ลูกเพราะอาจทำให้ทารกสูดดมควันที่เป็นพิษ
    • ควรให้ลูกได้รับวัคซีนตามกำหนด เพื่อป้องกันโรคที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในทารกแรกเกิดยังพัฒนาไม่เต็มที่
    1. เด็กวัยหัดเดิน

    อยู่ในช่วงอายุ 1-3 ปี ที่มีพัฒนาการด้านเคลื่อนไหวมากขึ้น เริ่มทรงตัวยืนและเดินได้ แต่ยังต้องรับความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ และพยุงตัวเองด้วยการจับวัตถุรอบข้าง ราวบันได โซฟา เด็กวัยหัดเดินอาจเริ่มแสดงพฤติกรรมรักอิสระ ต่อต้านสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการ และเริ่มอยากรู้อยากเห็นสิ่งแปลกใหม่ สามารถแยกรูปร่าง สี ขนาดของของเล่น อีกทั้งยังเริ่มจดจำและเลียนแบบพฤติกรรมบางอย่าง เช่น พนมมือสวัสดี โบกมือลา รวมถึงเลียนแบบคำพูดที่ได้ยินบ่อย ๆ จากคุณพ่อคุณแม่

    วิธีเลี้ยงลูกวัยหัดเดิน

    • คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มให้ลูกกินอาหารแข็งบ่อยขึ้น แต่ควรให้กินนมเป็นประจำ เนื่องจากนมมีสารอาหารสำคัญที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย
    • ปล่อยให้ลูกเดิน วิ่ง และเคลื่อนไหวอย่างอิสระภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มทักษะการเคลื่อนไหวให้คล่องตัว
    • อ่านหนังสือให้ลูกฟังบ่อย ๆ และควรเลือกของเล่นที่ช่วยเสริมพัฒนาการ เช่น เกมส์จับคู่ ระบายสี
    • ให้ลูกตัดสินใจเลือกบางอย่างด้วยตัวเอง เช่น เสื้อผ้า
    • หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการทำโทษเมื่อเด็กทำผิด ควรหลีกเลี่ยงการกระทำรุนแรงและควรใช้เหตุผลพูดคุย แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมใดที่สมควรทำและไม่สมควรทำ
    • ไม่ควรให้ลูกอยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำ อ่างน้ำ สระน้ำ และสถานที่อื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายเพียงลำพัง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
    • เก็บสิ่งของมีคม สารเคมี และของใช้ที่อาจเป็นอันตราย เช่น กรรไกร มีด ปากกา ฝงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ เตารีด กาน้ำร้อน ให้ห่างไกลจากมือของเด็ก
    • ควรกั้นบันได ปิดหน้าต่างและประตู เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กคลานหรือเดินออกไป เสี่ยงอันตรายหรือเกิดอุบัติเหตุได้
    • จำกัดเวลาลูก ไม่ให้ลูกดูโทรทัศน์หรือเล่นโทรศัพท์มากเกินไป เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ของลูกได้ และควรมีผู้ใหญ่คอยดูแลและให้คำแนะนำทุกครั้งเมื่อลูกดูโทรทัศน์หรือเล่นโทรศัพท์
    1. เด็กวัยก่อนเรียน

    อยู่ในช่วงอายุ 3-5 ปี เด็กในช่วงวัยนี้อาจเริ่มมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวมากขึ้น เช่น เดิน วิ่ง สามารถกระโดดได้ เริ่มสนใจการเข้าสังคมกับเด็กคนอื่น ๆ และอาจตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่สงสัยรอบตัวมากขึ้น เด็กบางคนอาจเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน ตักข้าวกิน แต่งตัว ถอดเสื้อผ้า ล้างจานของตนเอง

    วิธีเลี้ยงลูกวัยก่อนเรียน

    • ควรให้ลูกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มและอาหารที่มีน้ำตาล เกลือ และไขมันมากเกินไป รวมทั้งอาหารขยะ เช่น พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ ถึงแม้เด็กอาจจะชอบก็ตาม
    • เลือกของเล่นให้ลูกอย่างเหมาะสม เช่น ลูกบอลพลาสติก ไม้เบสบอลพลาสติก เพื่อให้ลูกสนุกกับการเคลื่อนไหว และออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัย
    • ควรจำกัดเวลาดูโทรทัศน์ เล่นแท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ ไม่เกิน 1 ชั่วโมง/วัน เพื่อป้องกันลูกติดหน้าจอมากเกินไป
    • อ่านหนังสือให้ลูกฟัง หาเวลาไปร้านหนังสือ ห้องสมุด เพื่อส่งเสริมให้ลูกรักการอ่าน
    • หากิจกรรมทำร่วมกัน เช่น ทำงานบ้านง่าย ๆ ออกไปเดินเล่น ให้ลูกมีส่วนร่วมเลือกซื้อของกินของใช้ในบ้าน
    • สร้างระเบียบวินัยให้กับลูก อธิบายพฤติกรรมที่ไม่สมควรทำและแนะนำสิ่งที่ควรทำแทน
    • ระมัดระวังไม่ให้ลูกอยู่ใกล้ถนน และควรสอนเกี่ยวกับวิธีการสังเกตสีไฟจราจร การเดินตามสัญลักษณ์
    • สอนลูกให้ระวังคนแปลกหน้า ไม่รับสิ่งของหรือพูดคุยกับคนแปลกหน้า และเรียนรู้วิธีการขอความช่วยเหลือเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตราย
    • ฝึกให้ลูกว่ายน้ำ เพื่อป้องกันอุบัติการจมน้ำ โดยอาจเริ่มจากให้ลูกสวมอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัย เช่น ห่วงยาง เสื้อชูชีพ หรืออาจพาไปว่ายในสระน้ำตื้น ๆ
    1. เด็กวัยเรียน

    อยู่ในช่วงอายุ 6-14 ปี หรือช่วงปฐมวัยและมัธยมต้น โดยเด็กในวัยนี้อาจสามารถช่วยเหลือตัวเองในเรื่องยาก ๆ ได้มากขึ้น สามารถตัดสินใจทำในสิ่งที่ชอบ เช่น การเล่นกีฬา วิชาการ ศิลปะ และอาจให้เวลากับเพื่อนหรือบุคคลอื่น ๆ มากกว่าครอบครัว

    เมื่ออายุ 12-14 ปี ร่างกายของเด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ เช่น หน้าอกขยาย มีขนบริเวณอวัยวะเพศ มีประจำเดือน เสียงเปลี่ยน ความตื่นตัวทางเพศ มีความสนใจเรื่องบุคลิกภาพของตัวเองมากขึ้น และอาจอารมณ์ไม่คงที่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน นอกจากนี้ เด็กวัยเรียนยังอาจมีความเสี่ยงไปเกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ สารเสพติด หากเข้าไปอยู่ในสังคมที่ไม่ดี หรือไม่ได้รับการชี้นำที่เหมาะสม อีกทั้งยังอาจมีความเครียดมากขึ้นและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้

    วิธีเลี้ยงลูกวัยเรียน

    • ควรให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ และส่งเสริมการออกกำลังกายที่ลูกชอบ
    • แสดงความรักต่อลูก พูดคุย และรับฟังความคิดเห็นของลูกให้มากขึ้น โดยไม่ตำหนิ หรือตัดสิน
    • สอนให้ลูกตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง รู้จักมีน้ำใจต่อผู้อื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันสิ่งของ
    • สอนให้ลูกเก็บออมเงิน วางแผนการใช้เงิน เพื่อซื้อของที่ตัวเองอย่างได้
    • ตั้งกฎระเบียบและวินัยที่ชัดเจน เพื่อให้ลูกทราบว่าสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ เช่น ช่วงเวลาการเล่นโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ รวมถึงกำหนดบทลงโทษอย่างเหมาะสมเมื่อลูกไม่ทำตามกฏระเบียบ ทั้งนี้ ไม่ควรลงโทษด้วยการใช้ความรุนแรง หรือการใช้ถ้อยคำด่าทอที่หยาบคาย ไม่มีเหตุผล เนื่องจากอาจส่งผลลบต่อความรู้สึกของลูกได้
    • หากิจกรรมทำร่วมกันภายในครอบครัว เช่น เล่นเกมส์ อ่านหนังสือ ออกไปเที่ยวข้างนอก รับประทานอาหารร่วมกัน
    • ชมเชยลูก เมื่อลูกทำดี มีพฤติกรรมที่ดี และตักเตือนลูก เมื่อลูกทำไม่ถูกต้อง
    • หากมีโอกาสควรทำความรู้จักกับกลุ่มเพื่อนของลูก เพื่อสร้างความสนิทสนม เป็นกันเอง
    • สอนให้ลูกทราบถึงพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ เช่น การสูบบุหรี่ ยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • พูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเมื่อลูกเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ เช่น วิธีการเลือกและการใช้ผ้าอนามัย การป้องกันตนเองหากมีเพศสัมพันธ์ เช่น ใช้ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด
    1. วัยรุ่น

    อยู่ในช่วงอายุ 15-17 ปี เป็นช่วงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธ์ุอย่างเต็มตัว เด็กในวัยนี้อาจมีความสนใจทางเพศมากขึ้น จนเริ่มอยากเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพตัวเอง เลือกซื้อเสื้อผ้า ลดน้ำหนัก แต่งหน้า ออกกำลังกาย อีกทั้งยังอาจติดเพื่อนอย่างมากจนใช้เวลากับคุณพ่อคุณแม่น้อยลง และแสดงพฤติกรรมที่ต้องการอิสระจากผู้ปกครอง วัยรุ่นบางคนอาจเริ่มมีความรู้สึกวิตกกังวล คิดไตร่ตรอง และวางแผนถึงการเรียน การทำงานในอนาคตเพื่อครอบครัวมากกว่าติดเพื่อน

    วิธีเลี้ยงลูกช่วงวัยรุ่น

    • ผู้ปกครองควรสังเกตพฤติกรรมของลูก และหาเวลาพูดคุยถึงความรู้สึก ความกังวลที่ลูกเก็บไว้ในใจ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา ป้องกันไม่ให้ลูกรู้สึกเครียด ซึมเศร้า เพราะอาจนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรง เช่น ทำร้ายตัวเอง ใช้ยาเสพติด
    • สนับสนุนให้ลูกทำในสิ่งที่ต้องการและเป็นไปในทางที่ดี เช่น ส่งเสริมการเล่นดนตรี ศิลปะ กีฬา
    • ชมเชยและให้กำลังใจเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ดี และประสบความสำเร็จ และควรตักเตือนลูกเมื่อกระทำความผิด
    • ใช้เวลาร่วมกันให้ได้มากที่สุด เช่น หาเวลาออกไปเที่ยวต่างจังหวัด ทำอาหาร เล่นกีฬา
    • สอนให้ลูกรู้จักเผชิญกับปัญหา สอนให้รู้จักวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม ไม่หลีกหนีปัญหาโดยควรสอนด้วยเหตุผล ไม่ควรต่อว่าซ้ำเติมหรือใช้ความรุนแรง เพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุ้นให้ลูกไปพึ่งสารเสพติด สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดืมแอลกอฮอล์
    • เคารพความต้องการของลูก รับฟังเหตุผล ไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของลูกมากจนเกินไป
    • สอนให้ลูกรู้จักการเลือกคบหาเพื่อนที่ดีเลือกอยู่ในสังคมที่ดีที่ส่งเสริมพากันเติบโตไปในทางที่ดี
    • พูดคุยและตักเตือนให้ลูกทราบถึงความปลอดภัยบนท้องถนน เมื่อลูกใช้ยานพาหนะ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา