backup og meta

อาการเจ็บป่วยทางจิตในเด็ก เป็นอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 29/12/2022

    อาการเจ็บป่วยทางจิตในเด็ก เป็นอย่างไร

    อาการเจ็บป่วยทางจิตในเด็ก สังเกตได้ยากกว่าอาการเจ็บป่วยทางจิตในผู้ใหญ่ ทำให้เด็กหลาย ๆ คนควรที่จะได้รับการรักษา แต่กลับไม่ได้รับการรักษาเพราะสัญญาณและการแสดงออกในเด็กนั้นยากเกินกว่าที่จะสังเกตได้ ดังนั้น การเข้าใจหรือรับรู้ถึงสัญญาณเตือนในเด็กอาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่หาวิธีเยียวยาอาการเจ็บป่วยทางจิตในเด็กได้เร็วขึ้น

    อาการเจ็บป่วยทางจิตในเด็ก มีอะไรบ้าง

    อาการเจ็บป่วยทางจิตในเด็กมีหลายประเภท คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูก ซึ่งมีดังต่อไปนี้

    กลุ่มโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)

    โรคในกลุ่มนี้จะมี โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder หรือOCD) ภาวะความเครียดหลังได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจ โรคหวาดกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) และโรควิตกกังวลทั่วไป (Generalised Anxiety Disorder, GAD) เด็กที่เป็นโรคในกลุ่มนี้จะมีปัญหาในการใช้ชีวิต และมีผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ

    โรคสมาธิสั้น

    โดยปกติจะมีปัญหาในการให้ความสนใจ โดยจะมีอาการซุกซน ไม่อยู่นิ่ง และมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น เด็กที่เป็นโรคนี้บางรายอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่บางรายอาจมีอาการทั้งหมดที่กล่าวมา

    กลุ่มอาการออทิสติก

    เป็นอาการรุนแรงที่พบได้ตั้งแต่แรกเกิด มักจะพบได้ก่อนอายุ 3 ขวบ ซึ่งจะมีการแสดงอาการที่หลากหลาย อีกทั้งโรคออทิสติกยังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอีกด้วย

    กลุ่มโรคพฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติ

    เป็นอาการที่อาจส่งผลให้มีการรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติจนน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หรือเป็นอาการในรูปแบบของการเบื่ออาหารไปจนถึงอดอาหาร และในบางรายเป็นหนักจนกระทั่งพัฒนาไปสู่โรค Anorexia nervosa หรือโรคคลั่งผอม

    สัญญาณเตือน อาการป่วยทางจิตในเด็ก

    • การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ให้สังเกตความรู้สึกเศร้า ท้อแท้ หรืออารมณ์ที่แปรปรวนอย่างรุนแรงของเด็ก ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะอารมณ์ที่ทำให้เกิดปัญหาต่อความสัมพันธ์ทั้งกับที่บ้านและที่โรงเรียน
    • ความรู้สึกรุนแรง มีความรู้สึกกลัวอย่างท้วมท้นโดยไม่มีเหตุผล บางครั้งหัวใจเต้นเร็ว หายใจอย่างแรง หรือมีความกังวลใจ กลัวอย่างรุนแรง จนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน
    • การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงในพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพ ตลอดจนพฤติกรรมที่เป็นอันตรายจนไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมได้ มีการใช้อาวุธและต้องการจะทำร้ายผู้อื่น พฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณเตือนของอาการป่วยทางจิตในเด็ก
    • มีปัญหาเรื่องสมาธิ สังเกตสัญญาณของปัญหาการให้ความสนใจ หรือการนั่งนิ่ง ๆ ทั้งสองอย่างอาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียน
    • การสูญเสียน้ำหนักแบบที่ไม่สามารถอธิบายได้ สูญเสียความอยากอาหารอย่างฉับพลัน มีการอาเจียนเป็นประจำ หรือการใช้ยาระบายอาจจะบ่งบอกถึงความผิดปกติของการกิน
    • อาการทางกายภาพ เด็กบางคนที่มีภาวะสุขภาพจิตอาจจะมีอาการปวดหัว ปวดท้องมากกว่าเศร้าหรือวิตกกังวลเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่
    • อันตรายทางกายภาพ บางครั้งอาการป่วยทางจิตอาจนำไปสู่การบาดเจ็บทางร่างกาย หรือที่เรียกว่า การทำร้ายตัวเอง ซึ่งเป็นการจงใจทำร้ายตัวเอง เช่น การกรีดตัวเอง การเผาตัวเอง เด็กที่มีมีภาวะป่วยทางจิตมีโอกาสเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย
    • มีการใช้สารเสพติด เด็กบางคนหาทางออกด้วยการใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรับมือกับความรู้สึกของตัวเอง

    หากมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเด็กว่ามี อาการป่วยทางจิตในเด็ก หรือไม่ ควรปรึกษาคุณหมอ โดยอธิบายถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งลองพูดคุยกับคุณครู เพื่อนสนิท หรือคนที่เด็กรักและไว้ใจ เพื่อดูว่ามีใครสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของเด็กหรือไม่ และควรให้ข้อมูลนี้กับคุณหมอเพื่อทำการวินิจฉัยและประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ  เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลจิตเวช ผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตหรือนักบำบัดพฤติกรรม การวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยทางจิตในเด็ก อาจเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากเด็กเล็กมักมีปัญหาในการแสดงความรู้สึกและมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน การได้ข้อมูลจากคนที่ใกล้ชิดเด็กจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

    การรักษา อาการป่วยทางจิตในเด็ก

    อาการป่วยทางจิตในเด็ก อาจรักษาได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    จิตบำบัด

    จิตบำบัดหรือที่เรียกว่า การบำบัดด้วยการพูดคุย หรือ พฤติกรรมบำบัด เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยการพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต ในระหว่างที่ทำการบำบัดเด็กอาจได้เรียนรู้เกี่ยวกับสภาพอารมณ์ความรู้สึก ความคิดและพฤติกรรมของตน จิตบำบัดสามารถช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ท้าทายด้วยทักษะ การเผชิญกับความเครียดที่มีผลต่อสุขภาพ

    ยา

    คุณหมอหรือผู้ให้บริการสุขภาพจิตอาจแนะนำให้เด็กใช้ยาบางชนิด เช่น ยากระตุ้น ยาต้านซึมเศร้า ยาคลายความวิตกกังวล ยารักษาอาการทางจิต หรือยาควบคุมอารมณ์ความรู้สึกเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยทางจิตในเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรควบคุมและดูแลให้ลูกรับประทานยาตามคุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด

    การให้คำปรึกษาทั้งครอบครัว

    คุณพ่อคุณแม่และสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวควรเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะเข้าใจว่าปัญหาแต่ละอย่างของเด็กอาจมีผลต่อความสัมพันธ์ทั้งกับพ่อแม่และพี่น้อง

    การสนับสนุนจากพ่อแม่

    ปรึกษา พูดคุยกับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม หรือผู้ปกครองรายอื่น ๆ เพื่อหาวิธีการใหม่ ๆ ในการช่วยเหลือเด็กให้จัดการกับพฤติกรรมที่ยากลำบากให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยนักบำบัดจะแนะนำแนวทางให้ผู้ปกครองตกลงกับโรงเรียน เพื่อหาข้อมูลการรักษาสำหรับความผิดปกติโดยเฉพาะ

    เด็กบางคนดีขึ้นจากการรักษาด้วยการผสมผสานวิธีต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เด็กแต่ละคนจะมีอาการและการตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ต้องปรึกษาคุณหมอหรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ๆ รวมถึงความเสี่ยงหรือประโยชน์ของยาที่จะใช้ในการรักษา

    ข้อควรปฏิบัติเมื่อลูกมี อาการเจ็บป่วยทางจิตในเด็ก

    พ่อแม่มีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะพาลูก ๆ ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ เด็ก ๆ ต้องการการสนับสนุนและการดูแลเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นกว่าเดิม ก่อนที่เด็กจะได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสุขภาพจิตหรือไม่ พ่อแม่และเด็ก ๆ จะรู้สึกผิดปกติ อาจมีความโกรธและความไม่พอใจขึ้นมา จึงควรสอบถามผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก รวมถึงวิธีการจัดการกับพฤติกรรมและอารมณ์ที่ไม่คุ้นเคย อาจจะหาวิธีที่จะผ่อนคลายและสนุกสนานกับลูก ชื่นชมในความสามารถของเขา และหาวิธีในการจัดการความเครียดใหม่ ๆ

    หากคุณพ่อคุณแม่กังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตของลูก ๆ ควรขอคำแนะนำจากคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ อย่าหลีกเลี่ยงหรืออายที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะการดูแลลูกให้หายเจ็บป่วยและเจริญเติบโตได้อย่างปลอดภัยในสังคมนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ อาจลองปรึกษากับครอบครัวที่เจอปัญหาเดียวกัน หรือขอความช่วยเหลือจากกลุ่มสนับสนุนด้วย เพราะการที่เข้าใจความรู้สึกถึงความเจ็บป่วยของเด็ก ๆ เป็นสิ่งสำคัญ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 29/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา