เด็กพิเศษ หรือ เด็กที่มีความต้องการพิเศษ คือ กลุ่มเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ การดูแล และการบำบัดฟื้นฟู แบ่งเป็น เด็กที่มีปัญญาเลิศและมีความสามารถพิเศษ เด็กที่มีความบกพร่องในด้านต่าง ๆ และเด็กยากจนและด้อยโอกาส เด็กพิเศษควรได้รับการดูแลด้านร่างกาย การใช้ชีวิต การเรียนรู้ทางวิชาการและการเข้าสังคม เพื่อพัฒนาศักยภาพให้มากขึ้นตามความสามารถของเด็ก โดยการช่วยเหลือและการดูแลอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความจำเป็น และความต้องการของเด็กแต่ละคนด้วย
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ประเภทของเด็กพิเศษ
เด็กพิเศษแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ เด็กที่มีปัญญาเลิศและมีความสามารถพิเศษ เด็กที่มีความบกพร่องในด้านต่าง ๆ และเด็กยากจนและด้อยโอกาส ดังนี้
-
เด็กที่มีปัญญาเลิศและมีความสามารถพิเศษ
เด็กที่มีปัญญาเลิศและมีความสามารถพิเศษ (Gifted or Talented Child) คือ เด็กที่มีความฉลาดและสติปัญญาที่สูงกว่าเกณฑ์ปกติ คือ มี IQ 130 ขึ้นไป มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถทำให้สำเร็จได้จริง รวมถึงเด็กที่มีความสามารถเฉพาะทางที่สูงกว่าปกติ เช่น ดนตรี คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา ศิลปะ กีฬา
เด็กกลุ่มนี้ถือเป็นเด็กพิเศษที่ควรได้รับการสนับสนุนทางความสามารถ และอาจต้องได้รับการเยียวยาจิตใจ เพราะครอบครัว เพื่อนฝูงและที่โรงเรียน อาจคาดหวังในความสามารถและสติปัญหาที่เป็นเลิศ จนเด็กรู้สึกกดดันมาก หรือถูกละเลยความรู้สึก หรืออาจไม่ได้รับการดูแลทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ ระบบการศึกษาแบบปกติอาจไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเด็กกลุ่มนี้ จึงอาจทำให้เด็กเบื่อหน่าย ไม่ตั้งใจเรียน ไม่มีสมาธิ แยกตัว หรือซึมเศร้าได้
-
เด็กที่มีความบกพร่องในด้านต่าง ๆ
ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการทางการศึกษา พ.ศ. 2552 ได้แบ่งเด็กพิเศษกลุ่มนี้ออกเป็น 9 กลุ่ม ดังนี้
- เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น อาจมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป เช่น ตาบอด การมองเห็นเลือนลาง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของดวงตา หรือเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการมองเห็น
- เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เด็กที่สูญเสียการได้ยินในระดับหูตึงถึงระดับหูหนวก 26-90 เดซิเบล โดยอาจเป็นความบกพร่องทางร่างกายตั้งแต่กำเนิด หรืออาจเกิดขึ้นภายหลัง
- บุคคลที่มีความบกพร่องทางการสื่อสาร เด็กที่มีความผิดปกติในการเปล่งเสียง เช่น พูดไม่ชัด จังหวะการพูดผิดปกติ เช่น พูดติดอ่าง พูดรัว ๆ หรือความผิดปกติในการเข้าใจภาษาพูด การเขียน ไม่เข้าใจคำถามหรือเข้าใจแต่ตอบไม่ได้ อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดและการฟัง เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ หูหนวก
- เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และการเคลื่อนไหว เด็กที่มีอวัยวะไม่สมส่วนหรือขาดหายไปบางส่วน กระดูกหรือกล้ามเนื้อผิดปกติ ทำให้มีอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง มีโรคประจำตัวต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอุปสรรคต่อการศึกษา เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ
- เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กที่มีความผิดปกติของสมองบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ส่งผลต่อความสามารถด้านใดด้านหนึ่งหรืออาจเป็นหลายด้านรวมกัน เช่น บกพร่องทางภาษา การคำนวณ หรือการคิดวิเคราะห์
- เด็กที่มีความบกพร่องทางอารมณ์ และพฤติกรรม เด็กที่อารมณ์แปรปรวนหรือเบี่ยงเบนจากปกติอย่างมาก อาจเกิดจากความผิดปกติทางจิตใจหรือสมองในส่วนการรับรู้ อารมณ์ และความคิด เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเวท
- เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีระดับเชาว์ปัญญาหรือ IQ ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ คือต่ำกว่า 90-109 หรือมีพฤติกรรมปรับตนบกพร่องตั้งแต่ 2 ทักษะจาก 10 ทักษะ ที่แสดงอาการก่อนอายุ 18 ปี ได้แก่ การสื่อความหมาย การดูแลตนเอง การดำรงชีวิตในบ้าน ทักษะทางสังคม การควบคุมตนเอง การใช้แหล่งทรัพยากรในชุมชน การนำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวัน การใช้เวลาว่าง การทำงาน และการมีสุขอนามัยและความปลอดภัย
- เด็กออทิสติก เด็กที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาท ส่งผลทำให้เกิดความบกพร่องทางพัฒนาการทางสังคม เช่น ไม่แสดงออกทางสีหน้า ไม่สบตา ขาดความสนใจผู้อื่น ความบกพร่องทางภาษา เช่น ใช้ภาษาแปลก ๆ พูดซ้ำคำ หรือสื่อสารไม่เข้าใจ ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ และความบกพร่องทางพฤติกรรม เช่น การหมุนตัวไม่หยุด ชอบทำกิจกรรมกิจกรรมซ้ำ ๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
- เด็กที่มีความพิการซ้อน เด็กที่มีความบกพร่องหรือความพิการมากกว่าหนึ่งประเภท เช่น เด็กตาบอดที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่บกพร่องทางการได้ยินร่วมกับบกพร่องทางการสื่อสาร
-
เด็กยากจนและด้อยโอกาส
เด็กยากจนและด้อยโอกาส คือ เด็กที่มีฐานะทางครอบครัวยากจน อาจไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็ก เช่น การเจริญเติบโตทางร่างกาย อาหาร การศึกษา การรักษาพยาบาล หรือการเข้าสังคม นอกจากนี้ อาจรวมถึงเด็กด้อยโอกาสอย่างเด็กเร่ร่อน เด็กต่างด้าว เด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือถูกทารุณกรรม เป็นต้น เด็กพิเศษกลุ่มนี้อาจถูกกระทบกระเทือนทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือไม่ได้รับการพัฒนาทางร่างกายและสติปัญหาอย่างเต็มศักยภาพ จึงควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษทั้งการสงเคราะห์และการคุ้มครองสวัสดิภาพ ให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การดูแลช่วยเหลือเด็กพิเศษ
การช่วยเหลือเด็กพิเศษอาจต้องได้รับความร่วมมือจากครอบครัว เพื่อนฝูง โรงเรียน สถานพยาบาลและคุณหมอชำนาญการ เพื่อช่วยดูแลและฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนี้
- ส่งเสริมความรักความอบอุ่นในครอบครัวผ่านการพูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือเล่นกีฬา เพื่อสานความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่แต่กับพี่เลี้ยง คุณพ่อคุณแม่และทุกคนในครอบครัวควรช่วยกันส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กกลุ่มนี้
- วางแผนการรักษาและฟื้นฟูให้สอดคล้องกับอาการทางสุขภาพและความต้องการของเด็ก เช่น เด็กออทิสติกที่มีปัญหาสมาธิสั้นร่วมด้วย อาจต้องรักษาด้วยยาเพื่อช่วยลดอาการ พร้อมกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ และการปรับพฤติกรรมที่เป็นแผนการรักษาทั่วไปของเด็กออทิสติก
- เฝ้าระวังปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เช่น การถูกกลั่นแกล้ง การทารุณกรรม รวมถึงหาสาเหตุ ช่วยเหลือและร่วมแก้ปัญหาเมื่อเด็กกำลังประสบอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ เช่น การเก็บตัว ซึมเศร้า อาจต้องหาโรงเรียนที่รองรับสำหรับเด็กพิเศษโดยเฉพาะ
- ติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กในทุกช่วงวัย รวมถึงอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เพื่อประเมินภาวะทางสุขภาพและสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที
- ขอคำปรึกษาจากคุณหมอ หากเด็กมีสภาวะทางร่างกาย จิตใจ หรืออารมณ์ที่ผิดปกติ และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กในอนาคต