เด็กไฮเปอร์ เป็นอาการที่มักได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุยังน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะสมาธิสั้น แต่ก็อาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติของระบบประสาท ความผิดปกติทางอารมณ์ ภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไป เด็กในภาวะนี้มักมีอาการอยู่ไม่สุข อยู่นิ่งได้ไม่นาน ขยับแขนหรือขาไปมาตลอด หุนหันพลันแล่น สนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ไม่นาน ภาวะไฮเปอร์อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและคนรอบข้าง โดยเฉพาะที่บ้านและที่โรงเรียน ภาวะนี้สามารถรักษาให้หายได้ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าเด็กมีพฤติกรรมผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะไฮเปอร์ หรือสภาวะสุขภาพอื่น ๆ ควรพาเด็กไปพบคุณหมอแต่เนิ่น ๆ
เด็กไฮเปอร์ เกิดจากอะไร
เด็กไฮเปอร์ คือ เด็กที่มีภาวะอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) หรือที่มักเรียกสั้น ๆ ว่า ไฮเปอร์ อาการที่เป็นสัญญาณของภาวะนี้ เช่น ซนมากกว่าปกติ ชอบปีนป่าย อยู่ไม่สุข ชอบขยับตัวไปมา เล่นรุนแรง ทำเสียงดัง พูดมาก ไม่ค่อยระมัดระวัง ชอบแกล้งเพื่อน ภาวะไฮเปอร์มักพบในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมองที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์ของเด็กกับคนรอบข้างทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
สาเหตุของอาการไฮเปอร์ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อาจเกิดได้จากปัจจัยต่อไปนี้
- โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder หรือ ADHD) เป็นความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองที่มักพบในเด็ก แต่ก็สามารถวินิจฉัยพบตอนเป็นผู้ใหญ่ได้ โรคนี้ส่งผลกระทบต่อการแสดงความสนใจ ความสามารถในการนั่งนิ่ง ๆ รวมไปถึงการควบคุมตัวเอง อาการของโรคสมาธิสั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
- อาการสมาธิสั้นหรือขาดสมาธิ (Inattention) เด็กจะมีปัญหาในการตั้งสมาธิ ไม่ค่อยจดจ่อ อยู่เฉย ๆ ได้ไม่นาน มักเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ เหม่อลอย หลงลืมอยู่บ่อยครั้ง ไม่สามารถทำงานหรือตั้งใจทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายได้จนสำเร็จ
- อาการอยู่ไม่นิ่งหรือไฮเปอร์ (Hyperactivity) เด็กจะมีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง และกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่คิดถึงผลของการกระทำของตัวเองมากนัก อาจกระโดด ปีนป่าย เล่นซนในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม หรือมีพฤติกรรมที่รบกวนผู้อื่น
- อาการขาดความยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) เด็กจะขาดความยั้บยั้งชั่งใจ เล่นรุนแรง หรือซนกว่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน มักไม่คิดให้รอบคอบก่อนลงมือทำอะไร และทำโดยไม่ขออนุญาตผู้ใหญ่ก่อน อาจมีปฏิริยาหรือแสดงอารมณ์รุนแรงเกินไปเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ได้ดั่งใจ
- ความผิดปกติของสมองหรือระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าผิดปกติ อาจส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมและทำให้เกิดอาการสมาธิสั้น ฟุ้งซ่าน หลงลืม
- ความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ภาวะวิตกกังวล อาจส่งผลให้เด็กมีอาการกระสับกระส่าย หุนหันพลันแล่น และมีพฤติกรรมที่ผิดปกติและแตกต่างไปจากเด็กทั่วไป
- ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) เป็นภาวะที่ไทรอยด์ทำงานมากเกินไป และหลั่งฮอร์โมนออกมามากเกินความจำเป็น ซึ่งนอกจากความผิดปกติทางกายยังทำให้เกิดอาการผิดปกติทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิด วิตกกังวล สมาธิสั้น
สัญญาณและอาการของ เด็กไฮเปอร์
อาการของเด็กไฮเปอร์ อาจมีดังนี้
- พูดมาก พูดไม่หยุด
- ลงมือทำโดยไม่คิด
- ตื่นตัวตลอดเวลา ตื่นเต้นง่าย
- เล่นเสียงดัง ส่งเสียงรบกวนผู้อื่นในที่สาธารณะ
- อยู่นิ่งไม่ได้ ชอบขยับร่างกายไปมาตลอด
- ไม่อดทน เช่น ทนรอต่อแถวจนถึงคิวตัวเองไม่ได้
- รีบตอบคำถามก่อนที่ผู้ถามจะพูดจบ เด็กโตอาจจบประโยคที่ผู้อื่นพูดอยู่
- มักขัดจังหวะขณะที่ผู้อื่นพูดหรือทำกิจกรรม
การวินิจฉัยอาการไฮเปอร์ในเด็ก
การวินิจฉัยอาการไฮเปอร์ในเด็กสามารถทำได้ด้วยการซักประวัติ สังเกตพฤติกรรมที่แปลกไปจากเด็กทั่วไป ร่วมกับการใช้แบบประเมินพฤติกรรมที่แสดงถึงภาวะไฮเปอร์ที่บ้านและที่โรงเรียน รวมถึงการตรวจหาความผิดปกติด้านพฤติกรรมหรืออารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ความบกพร่องทางการเรียนรู้ ที่มักพบร่วมกับอาการไฮเปอร์ในเด็ก นอกจากนี้ ในบางครั้งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างกะทันหันในชีวิตของเด็ก เช่น สูญเสียสมาชิกในครอบครัว พ่อแม่หย่าร้าง อาจทำให้เด็กมีปัญหาด้านพฤติกรรมที่อาจสับสนกับภาวะไฮเปอร์ได้
วิธีรักษา เด็กไฮเปอร์
การรักษาเด็กไฮเปอร์ อาจทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy) เป็นวิธีแรกในการรักษา จะบำบัดรักษาเพื่อจัดการพฤติกรรมของเด็ก นักบำบัดอาจช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะทางสังคม อารมณ์ และวางแผนการพัฒนาทักษะบางอย่างที่เด็กขาดไป
- การอบรมให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง คุณหมอจะให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีในการจัดการและตอบสนองต่อปัญหาพฤติกรรมของเด็กไฮเปอร์ที่เหมาะสมแก่คุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลเด็กไฮเปอร์ได้อย่างเหมาะสมที่สุด
- การช่วยเหลือในห้องเรียน คุณครูประจำชั้นหรือคุณครูผู้สอนแต่ละวิชาจะดูแลช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะไฮเปอร์ขณะอยู่ที่โรงเรียน เช่น ให้เด็กนั่งใกล้ครู ไม่นั่งใกล้ประตูหรือหน้าต่างซึ่งจะถูกหันเหความสนใจได้อย่างง่ายดาย อธิบายอย่างใจเย็นแทนที่จะตำหนิเมื่อเด็กไม่เชื่อฟัง
- การใช้ยารักษา คุณหมออาจสั่งยาที่ช่วยกระตุ้นความสามารถในการควบคุมการให้ความสนใจของสมอง ปรับให้เด็กมีพฤติกรรมช้าลง ควบคุมตัวเองได้มากขึ้น วิธีนี้จะใช้ต่อเมื่อเด็กอายุมากกว่า 6 ปี และมีความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
คุณพ่อคุณแม่และคุณครูคือส่วนสำคัญที่จะสอนให้เด็กจัดการความสนใจ พฤติกรรม และอารมณ์ได้ดีขึ้น หากเริ่มดูแลเด็กไฮเปอร์ด้วยวิธีที่เหมาะสมตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อโตขึ้น เด็ก ๆ ก็สามารถเรียนรู้ที่จะพัฒนาความสนใจและการควบคุมตัวเองได้
ภาวะเด็กไฮเปอร์ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยการใช้ยาร่วมกับพฤติกรรมบำบัด ในเด็กก่อนวัยเรียน อายุประมาณ 4-5 ขวบ คุณหมออาจแนะนำให้ใช้พฤติกรรมบำบัดเพียงอย่างเดียวก่อนการใช้ยา โดยมีการฝึกอบรมวิธีที่เหมาะสมในการรักษาให้กับผู้ปกครองด้วย แผนการรักษายังรวมไปถึงการเฝ้าติดตามอาการและผลอย่างใกล้ชิดเป็นระยะตลอดการรักษา โดยรูปแบบการรักษาและผลการรักษามักขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของตัวเด็กและครอบครัวเป็นหลัก
เมื่อไหร่ควรไปหาคุณหมอ
หากเด็กมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยว่าเด็กมีภาวะไฮเปอร์หรือไม่ และรับการรักษาอย่างเหมาะสม
- เด็กมีอาการอยู่ไม่สุขตลอดเวลา
- เด็กซนมากผิดปกติ ขยับร่างกายไปมา ก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น และไม่สามารถจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นาน
- เด็กไม่สามารถทำกิจกรรมหรือเรียนหนังสือได้ตามปกติ เช่น มีปัญหาในการทำการบ้าน ไม่สามารถตั้งใจอ่านหนังสือได้
[embed-health-tool-vaccination-tool]