backup og meta

Asperger syndrome คือ โรคแอสเพอร์เกอร์ สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    Asperger syndrome คือ โรคแอสเพอร์เกอร์ สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

    โรคแอสเพอร์เกอร์ หรือ Asperger syndrome คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติด้านพัฒนาการและการทำงานของสมองและระบบประสาท จัดเป็นโรคในกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัมเช่นเดียวกับโรคออทิสติก โรคนี้ส่งผลต่อพัฒนาการด้านสังคม ภาษาและการสื่อสาร และพฤติกรรม ผู้ป่วยมักแสดงอาการน้อยและไม่รุนแรงมาก และมักมีระดับสติปัญญาสูงกว่าค่าเฉลี่ย ผู้ที่เป็นโรคแอสเพอร์เกอร์จะมีทักษะทางภาษาที่ดีกว่าผู้ที่เป็นโรคอื่นในกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัม แต่มีข้อบกพร่องด้านทักษะทางสังคม อารมณ์ ความรู้สึก โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป้าหมายของการรักษาจะอยู่ที่การกระตุ้นและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เพื่อให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้

    Asperger syndrome คือ อะไร

    โรคแอสเพอร์เกอร์ หรือ Asperger syndrome คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ทั้งด้านพฤติกรรมการแสดงออก การมองและเข้าใจโลก การใช้ภาษา และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ภาวะนี้จัดอยู่ในกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) แต่จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าโรคอื่น ๆ ในกลุ่มอาการเดียวกัน ผู้ที่มีอาการของแอสเพอร์เกอร์จัดเป็นกลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง (High functioning autism) หรือที่เรียกว่าเด็กอัจฉริยะ ส่วนใหญ่มักมีระดับสติปัญญาเป็นปกติหรือสูงกว่าคนทั่วไป มีทักษะการใช้ภาษาและการพูดอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่อาจไม่เข้าใจเนื้อหาที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง การเปรียบเทียบ หรือความหมายโดยนัย อาจมีความสนใจในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ เป็นแบบแผนไม่ยืดหยุ่น จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และมักจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวเนื่องจากมีทักษะทางสังคมต่ำ และมีความสนใจแคบ จำกัด หรือเป็นเรื่องที่คนอื่นไม่ค่อยสนใจ บางครั้งเด็กอาจเข้าหาคนอื่น แต่ไม่สามารถสนทนากับคนอื่นได้อย่างราบรื่นเนื่องจากมีพฤติกรรมที่ดูผิดแปลกไปจากปกติ

    สาเหตุของ Asperger syndrome คือ อะไร

    ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ใจของ Asperger syndrome  แต่พบว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

  • เด็กมีโครโมโซมผิดปกติ
  • คุณแม่ใช้ยารักษาโรคบางชนิดในขณะตั้งครรภ์ เช่น วาลโปรเอท (Valproate) หรือกรดวาโปอิก (Valproic acid) ที่ใช้รักษาโรคลมชัก ทาลิโดไมด์ (Thalidomide) ที่ใช้รักษาอาการวิตกกังวล
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุมากกว่า 35 ปี
  • อาการของ Asperger syndrome

    เด็กบางคนอาจแสดงออกถึงภาวะ Asperger syndrome ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยอาการและสัญญาณที่พบอาจมีดังนี้

    • หมกมุ่นอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว
    • ต้องการทำกิจวัตรประจำวันตามแบบแผน ตอบสนองได้ไม่ดีนักเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง
    • ไม่รับรู้ความรู้สึกของคนอื่น
    • พูดคุยในลักษณะที่ผิดไปจากปกติ เช่น ใช้ภาษาทางการในการสื่อสารทั่วไป พูดเสียงดังเกินไป พูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบไม่แสดงอารมณ์
    • ไม่สบตาคนที่คุยด้วย
    • ไม่เข้าใจความคิดเชิงนามธรรม (Abstract thinking) คำพูดที่ซับซ้อน คำพูดเชิงเปรียบเทียบ หรือข้อความที่มีความหมายโดยนัย
    • มีทักษะทางสังคมต่ำ
    • ขาดการรับรู้เรื่องการแสดงออกในเชิงบริบททางสังคม (Social cues) เช่น เมื่อเพื่อนบอกว่าจะไปเดินเล่นกัน เด็กจะเข้าใจว่าเพื่อนไปเดินเล่น แต่ไม่เข้าใจความหมายของภาษาที่เพื่อนต้องการชวนตัวเองไปด้วย
    • ไม่เล่นแสดงบทบาทสมมติ (Pretend play)
    • ไม่ชอบให้ใครมาสัมผัสตัวหรืออุ้ม
    • มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อประสาทสัมผัสอย่างเสียง กลิ่น หรือรส ที่มากหรือน้อยกว่าคนทั่วไป เช่น แสดงท่าทางหวาดกลัวหรือมีอารมณ์แปรปรวนเมื่อเกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง หรืออาจให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวบางอย่างมากกว่าปกติ เช่น ชอบนั่งดูน้ำพุหรือน้ำไหล

    โรคแอสเพอร์เกอร์ ต่างจากโรคออทิสติก อย่างไร

    โรคแอสเพอร์เกอร์และโรคออทิสติกจัดเป็นโรคในกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัม หรือกลุ่มความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน (Pervasive Developmental Disorder) เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ผู้ที่เป็นโรคแอสเพอร์เกอร์จะมีพัฒนาการด้านการพูดปกติ มักใช้ภาษาหรือพูดคุยได้ในระดับทั่วไป แต่จะไม่เข้าใจความหมายลึก ๆ หรือความซับซ้อนของภาษา เช่น ไม่สามารถทำความเข้าใจมุกตลกได้เหมือนกับคนทั่วไป จึงอาจทำให้เข้ากับคนรอบข้างได้ยากกว่าปกติ แต่ผู้ที่เป็นโรคออทิสติกจะมีปัญหาด้านพัฒนาการหลายด้านกว่า รุนแรงกว่า และมักมีพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารที่ล่าช้าผิดปกติ

    เนื่องจากโรคในกลุ่มออทิสติกมีอาการแสดงที่หลากหลาย และมีความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไป ลักษณะเป็นเฉดหลายสีคล้ายกับรุ้ง จึงมีชื่อเรียกรวมว่า กลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัม และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association หรือ APA) จัดให้โรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger syndrome) อยู่ในกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัม เมื่อพ.ศ. 2556 โดยกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัมเป็นชื่อกลุ่มอาการที่รวบรวมออทิสติกหลายประเภทเข้าด้วยกัน ปัจจุบันมีด้วยกัน 5 โรค ได้แก่

    1. โรคออทิสติก (Autistic Disorder)
    2. โรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger syndrome)
    3. กลุ่มอาการเร็ทท์ (Rett’s Disorder)
    4. โรคซีดีดี (Childhood Disintegrative Disorder)
    5. โรคพีดีดี เอ็นโอเอส (Pervasive Developmental Disorder, Not Otherwise Specified)

    วิธีรักษา Asperger syndrome

    การรักษา Asperger syndrome จะแตกต่างไปตามลักษณะอาการของเด็กแต่ละคน โดยทั่วไปจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาอาการหลักของโรค ได้แก่ ความบกพร่องด้านทักษะการสื่อสาร พฤติกรรมที่หมกมุ่นและซ้ำซาก และความบกพร่องด้านทักษะการเคลื่อนไหว ยิ่งวินิจฉัยพบตั้งแต่เนิ่น ๆ และเริ่มวางแผนการรักษาได้เร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้รักษาได้ผลดีมากขึ้นเท่านั้น โดยคุณหมอและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

    • การฝึกทักษะทางสังคม (Social skills training) ผู้บำบัดอาจช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและการแสดงออกในลักษณะที่เหมาะสม และอาจช่วยให้เด็กเรียนรู้ทักษะทางสังคมด้วยเทคนิคการใช้ตัวแบบ (Modeling) คือให้เด็กฝึกสังเกตหรือเลียนแบบจากตัวแบบหรือตัวอย่างที่อยู่ใกล้ชิดที่จะแสดงให้เด็กเห็นว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ และควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร
    • การแก้ไขการพูด (Speech-language therapy) เป็นการรักษาที่ช่วยปรับปรุงลักษณะการพูดของเด็กให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น เช่น สอนให้เด็กพูดด้วยเสียงสูงต่ำตามอารมณ์เหมือนทั่วไปแทนการพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบทั้งประโยค และอาจฝึกการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในขณะสนทนาและการทำความเข้าใจบริบททางสังคม เช่น ท่าทางประกอบการพูด การสบตากับคู่สนทนา
    • การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy หรือ CBT) เป็นการรักษาที่มุ่งเน้นให้เด็กปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อช่วยให้เด็กสามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมซ้ำซากได้ดีขึ้น และอาจช่วยให้รับมือกับอารมณ์ที่ผิดปกติของตัวเองได้เมื่อระเบิดอารมณ์ ร้องไห้คร่ำครวญ หมกมุ่นกับอะไรมากเกินไป เป็นต้น
    • การฝึกอบรมผู้ปกครอง (Parent education and training) ผู้บำบัดอาจสอนทักษะหรือเทคนิคที่ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ดูแลเด็กได้ที่บ้าน เพื่อช่วยสนับสนุนให้เด็กสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางสังคมได้อย่างต่อเนื่อง และอาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับมือเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้ที่เป็น Asperger syndrome
    • การวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์ (Applied behavior analysis) เป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีด้านพฤติกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่เป็น Asperger syndrome วิธีนี้จะช่วยส่งเสริมทักษะทางสังคมและการสื่อสารของเด็ก และสอนให้เด็กหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมขึ้น โดยอาจมีการพูดชมและให้รางวัลตอบแทนทันทีที่เด็กสามารถตอบสนองต่อการรักษาได้ดี เพื่อจูงใจให้เด็กทำพฤติกรรมที่เหมาะสมซ้ำ ๆ
    • การใช้ยารักษา ในขณะนี้ยังไม่มียารักษา Asperger syndrome และโรคในกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัมโดยเฉพาะ แต่ยาบางชนิด เช่น ยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (SSRIs) ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotic drugs) ยากระตุ้น (Stimulant drugs) อาจช่วยบรรเทาอาการร่วมที่เกิดขึ้นได้ เช่น อาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า

    เมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง อาจช่วยให้เด็กที่เป็น Asperger syndrome สามารถรับมือกับความบกพร่องด้านพัฒนาการของตัวเองและความท้าทายในการใช้ชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เด็กที่เป็น Asperger syndrome ส่วนใหญ่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยอาจอาศัยการสนับสนุนและกำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้างร่วมด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา