backup og meta

ลูกฉีดวัคซีนแล้วเป็นไข้ ควรดูแลอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 25/09/2022

    ลูกฉีดวัคซีนแล้วเป็นไข้ ควรดูแลอย่างไร

    บางครั้งหลังพาลูกไปฉีดวัคซีนตามกำหนด คุณพ่อคุณแม่อาจพบว่าลูกมีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ขึ้น เกิดผื่น หรือรอยแดงบริเวณที่ฉีดยา อ่อนเพลีย ซึ่งมักเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนที่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของเด็กและอาจเกิดขึ้นได้จากการรับประทานยารักษาโรคอื่น ๆ เช่นกัน หาก ลูกฉีดวัคซีนแล้วเป็นไข้ คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลเบื้องต้นได้ด้วยการเช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย ให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ  รับประทานยาลดไข้ เป็นต้น วิธีเหล่านี้อาจช่วยให้อาการไข้ของลูกหายไปได้เองภายในไม่กี่วัน แต่หากดูแลเบื้องต้นแล้วอาการไข้หรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนอื่น ๆ ยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอ

    ลูกฉีดวัคซีนแล้วเป็นไข้ เกิดจากอะไร

    การฉีดวัคซีนจำเป็นสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยสร้างเกราะป้องกันโรคให้กับเด็ก ช่วยให้เด็กสามารถเติบโตอย่างแข็งแรงและพัฒนาการที่สมวัย คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กไปฉีดวัคซีนพื้นฐานตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 12 ปี ทั้งนี้ หลังฉีดวัคซีน เด็กอาจมีอาการไม่สบายอย่างมีไข้ อ่อนเพลีย ผิวหนังบริเวณที่ฉีดวัคซีนปวด บวม แดง ซึ่งมักไม่เป็นอันตรายและสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่นาน

    สาเหตุที่ทำให้ลูกฉีดวัคซีนแล้วเป็นไข้ เนื่องจากในวัคซีนมีเชื้อไวรัสหรือเชื้อที่ทำให้เกิดโรคเป็นส่วนประกอบ เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ เชื้อโปลิโอ เชื้อแบคทีเรียไอกรน ส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อที่ถูกทำให้หมดฤทธิ์และไม่มีประสิทธิภาพมากพอจะทำให้ติดเชื้อจนเกิดโรคจริง ๆ เมื่อวัคซีนที่มีเชื้อก่อโรคนี้ถูกฉีดเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนตีบอดีต่อเชื้อดังกล่าว หากในอนาคตร่างกายได้รับเชื้อโรคชนิดที่เคยฉีดวัคซีนไปแล้ว ก็จะมีภูมิคุ้มกันและต่อต้านเชื้อโรคนั้น ๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจากเชื้อดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ผลข้างเคียงจากวัคซีนที่พบได้ในเด็ก

    ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังเด็กได้รับวัคซีน อาจมีดังนี้

    • มีไข้ต่ำ ๆ
    • อ่อนเพลีย
    • มีผื่นแดง
    • ปวดข้อตามร่างกาย
    • มีอาการบวม แดง แสบ มีก้อนแข็งเล็ก ๆ บริเวณผิวหนังที่ฉีดวัคซีน
    • ไม่อยากอาหาร
    • คลื่นไส้ อาเจียน

    วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก

    วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กไทย มีดังต่อไปนี้

    • วัคซีนบีซีจีหรือวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) ฉีดให้กับทารกภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด เป็นชนิดที่ไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำอีกตลอดชีวิต
    • วัคซีนตับอักเสบบี (HB) ฉีดให้กับทารกภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด และอาจฉีดซ้ำเมื่อเด็กมีอายุ 1 เดือน ในกรณีที่คุณแม่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี
    • วัคซีนป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB1) ควรได้รับเมื่อมีอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปี
    • วัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดหยอด (OPV) และชนิดฉีด (IPV) ควรได้รับทั้งหมด 5 ครั้ง เมื่อเด็กมีอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ปี 6 เดือน และในช่วงอายุ 4-6 ปี
    • วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) ควรได้รับทั้งหมด 2 ครั้ง เมื่อเด็กมีอายุ 9-12 เดือน และ 2 ปี
    • วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี (JEV) ควรได้รับทั้งหมด 2 ครั้ง เมื่อเด็กมีอายุ 1 ปี และ 2 ปี 6 เดือน
    • วัคซีนป้องกันเอชพีวี (HPV) ควรได้รับทั้งหมด 2 ครั้ง เมื่อเด็กมีอายุ 11 ปีขึ้นไป โดยฉีดห่างกัน 6 เดือน
    • วัคซีนป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก (dT) เข็มกระตุ้น ควรได้รับ 1 ครั้ง เมื่อเด็กมีอายุได้ 12 ปี

    คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองเมื่อพาลูกไปฉีดวัคซีน

    • ทุกครั้งที่พาลูกไปรับวัคซีนตามกำหนด คุณพ่อคุณแม่ควรนำสมุดบันทึกสุขภาพเด็กติดตัวไปด้วยเสมอ เพื่อบันทึกการฉีดวัคซีน
    • สำหรับเด็กเล็ก ควรมีสิ่งดึงดูดความสนใจ เช่น ตุ๊กตาตัวโปรด ผ้าห่มที่มีกลิ่นคุ้นเคย เพื่อช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
    • หากลูกมีไข้ในวันที่ถึงกำหนดฉีดวัคซีน ควรเลื่อนนัดฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าจะหายดี
    • หลังฉีดวัคซีน ควรนั่งพักดูอาการอย่างน้อย 15 นาที หากไม่มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ร้องไห้ ผื่น คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกสามารถกลับบ้านได้

    วิธีดูแลลูกหลังฉีดวัคซีน

    การดูแลลูกหลังฉีดวัคซีน สามารถทำได้ดังนี้

    • สำหรับเด็กที่มีไข้หรืออุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ควรให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ในปริมาณตามน้ำหนักตัว และเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาดเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย
    • ให้ลูกสวมเสื้อผ้าบางและระบายความร้อนได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย และหลีกเลี่ยงการห่มผ้าหนาจนเกินไป เพราะอาจเพิ่มความร้อนให้กับร่างกาย
    • ให้ลูกดื่มน้ำมากขึ้น หากลูกยังเล็กเกินไปและยังดื่มนมแม่ ควรให้ลูกดื่มนมบ่อยขึ้น
    • ประคบผิวบริเวณที่ฉีดยาด้วยผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด เพื่อช่วยลดอาการบวมแดง ก้อนแข็ง หรืออาการปวด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 25/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา