หูฟัง เป็นอุปกรณ์ที่เด็ก ๆ และวัยรุ่นในปัจจุบันใช้กันเป็นจำนวนมาก ทั้งเพียงเพื่อฟังเพลงที่ชอบ ใช้สำหรับการเรียนหนังสือออนไลน์ คุยโทรศัพท์ ดูภาพยนตร์ออนไลน์ เล่นเกมในมือถือ ซึ่งอาจทำให้ใช้หูฟังนานหลายชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว นอกจากนั้น การใส่หูฟังและเปิดเสียงดังเป็นเวลานนาน ยังอาจส่งผลเสียต่อการได้ยินของหูข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง ผู้ปกครองควรใส่ใจสุขภาพหูของเด็ก ๆ และคอยสังเกตพฤติกรรมการใช้หูฟังเพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหู
[embed-health-tool-bmr]
การใช้ หูฟัง ของเด็กและวัยรุ่น
การฟังเสียงดังเป็นเวลานานอาจนำไปสู่การสูญเสียการได้ยิน จากงานวิจัยของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2554-2555 ทดสอบเกี่ยวกับการได้ยินและการสัมภาษณ์ พบว่า ผู้ใหญ่มากถึง 40 ล้านคนในสหรัฐอมเริกาที่อายุต่ำกว่า 70 ปี สูญเสียการได้ยินของหูข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างจากการได้ยินเสียงดังเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการใช้หูฟังกับการสูญเสียการได้ยินในเด็กวัย 9-11 ปี พบว่า 40% ของผู้ที่ใช้เครื่องเล่นเพลงแบบพกพา มีความสามารถต่ำมากในการได้ยินเสียงที่มีความถี่สูง เนื่องจากมีภาวะประสาทหูเสื่อมจากเสียง (Noise-Induced Hearing Loss) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้เครื่องเล่นแบบพกพา
ภาวะสูญเสียการได้ยิน คืออะไร
การได้ยินเสียงเกิดจากการทำงานของอวัยวะ 3 ส่วนภายในหู ได้แก่ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง หูชั้นใน โดยส่วนหนึ่งของหูชั้นในเรียกว่า คอเคลีย (Cochlea) หรือหูชั้นในรูปหอยโข่ง จะมีเซลล์ขนหูเล็ก ๆ อยู่ โดยเซลล์ขนหูมีหน้าที่ช่วยส่งสัญญาณไปที่สมอง ทำให้ได้ยินเสียง แต่การได้ยินเสียงดังอาจสร้างความเสียหายให้เซลล์ขนหู ส่งผลให้คอเคลียในหูชั้นในไม่สามารถส่งสัญญาณไปยังสมองได้ดีเหมือนเดิม ส่งผลให้เกิดปัญหาการได้ยิน หรือภาวะประสาทหูเสื่อมเนื่องจากเสียงแบบถาวร ทำให้บางครั้งก็เรียกอาการนี้ว่า โรคหูหนวกบางส่วน
นอกจากภาวะประสาทหูเสื่อมแล้ว การได้ยินหรือฟังเสียงดัง ๆ เป็นเวลานาน ยังทำให้เกิดโรคเสียงอื้อในหู (Tinnitus) ซึ่งเป็นอาการที่เหมือนได้ยินเสียงบางอย่างอยู่ในหู หรือเหมือนถูกอุดหู ซึ่งอาการนี้อาจเกิดขึ้นได้แบบถาวรเช่นกัน แม้จะไม่ได้ฟังเสียงเพลงที่ดังมากเกินไป แต่เนื่องจากการใช้หูฟังอุดอยู่ในหูเป็นเวลานานหลายชั่วโมง อาจทำให้หูล้าจากการได้ยินเสียง และเมื่อมีการใช้หูฟังต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ โดยที่หูไม่ได้พักอย่างเต็มที่ ก็อาจทำให้เกิดอาการของโรคเสียงอื้อในหูได้
ดังแค่ไหนที่ถือว่าดังเกินไป
โดยปกติแล้ว เสียงในการสนทนาตามปกติจะอยู่ที่ประมาณ 60 เดซิเบล ซึ่งเป็นระดับที่ถือว่าปลอดภัยสำหรับการได้ยิน แต่หากเป็นเสียงที่ดังประมาณ 85 เดซิเบล สถาบันโรคหูหนวกและอาการผิดปกติด้านการสื่อสารอื่น ๆ แห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ถือเป็นเสียงที่อยู่ในระดับที่สามารถทำความเสียหายให้กับการได้ยินได้ และเสียงนี้อาจเทียบได้กับเสียงการทำงานของเครื่องผสมซีเมนต์ที่เห็นตามที่ก่อสร้าง ซึ่งหากได้ยินเสียงขนาดนี้แค่ 8 ชั่วโมง ก็อาจส่งผกระทบต่อหูได้
เสียงปกติที่ได้ยินในชีวิตประจำวัน เช่น เสียงรถไฟใต้ดิน อาจดังถึง 90 เดซิเบล ขณะที่เสียงเครื่องบินขณะบินขึ้นดังถึง 120 เดซิเบล อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ยินเสียงเหล่านี้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็ยังถือว่าปลอดภัยอยู่ แต่ความเสียหายจะเกิดขึ้น เมื่อได้ยินเสียงดังขนาดนี้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ความดังของเสียงไม่ใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวของการเกิดปัญหากับการได้ยิน แต่ระยะเวลาในการได้ยินเสียงดัง ๆ เป็นเวลานานต่างหากที่อาจจะสำคัญกว่า และในเด็กและวัยรุ่นที่นิยมเสียบหูฟังติดหูอยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้เปิดเสียงดังอย่างเต็มที่ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการได้ยินได้
สัญญาณและอาการของภาวะสูญเสียการได้ยิน
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริการายงานว่า การสูญเสียการได้ยินในเด็ก จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสามารถในการพัฒนาการฟัง พัฒนาการด้านภาษา และทักษะการเข้าสังคม โดยสัญญาณและอาการของการสูญเสียการได้ยินในเด็ก มักจะมีอาการแตกต่างกันไปในเด็กและวัยรุ่นแต่ละคน โดยอาการที่พบบ่อยมีดังนี้
- เปิดเสียงโทรทัศน์เสียงดังมาก
- ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เนื่องจากไม่ได้ยิน
- เด็ก ๆ ดูไม่สนใจคนรอบตัว
- ขอให้พูดซ้ำ หรือแสดงอาการว่าไม่ได้ยินเสียงในทีแรก
วิธีป้องกันเด็กจากภาวะสูญเสียการได้ยิน
เวลาในการได้ยินเสียงดัง ๆ มีความสำคัญพอ ๆ กับความดังของเสียง ดังนั้น เพื่อที่จะปกป้องเด็ก ๆ จากปัญหาเรื่องการได้ยิน พ่อแม่ควรใช้กฎในการฟัง 60% ต่อ 60 นาที สำหรับการใช้ หูฟัง ของเด็ก ๆ นั่นก็คือ
- ควรฟังเพลง ดูภาพยนตร์ หรือเล่นเกมด้วยความดังของเสียงที่ไม่เกิน 60%
- จำกัดเวลาในการใช้ หูฟัง โดยใช้หูฟังไม่เกิน 60 นาที
- ลองฟังเสียงด้วยตนเอง หรือถามคนที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ว่าพวกเขาได้ยินเสียงจากหูฟังหรือไม่ ถ้าคนอื่นได้ยินเสียงจากหูฟังนั่นหมายถึงว่า เสียงดังจนเกินไป จนอาจเป็นอันตรายต่อหูได้ ให้ลดเสียงลงจนเหลือ 60% หรือจนกระทั่งผู้อื่นไม่ได้ยินเสียงที่ดังเกินออกมา
นอกจากนี้ลักษณะของ หูฟัง มีผลต่อสุขภาพหูเช่นกัน โดยหูฟังแบบที่สอดใส่เข้าไปในหูอาจทำให้เกิดอันตรายต่อการได้ยินมากกว่า เนื่องจากการมีแหล่งของเสียงอยู่ภายในหู สามารถเพิ่มความดังของเสียงขึ้นไปอีก 6-9 เดซิเบล ดังนั้น หูฟัง แบบที่ครอบอยู่ด้านนอกของหูอาจจะปลอดภัยกว่า และหากเลือกแบบที่มีเทคโนโลยีตัดเสียงรบกวน ก็จะทำให้ไม่ต้องเปิดเสียงเพลงดังจนเกินไป อย่างไรก็ตาม หากใช้หูฟังแบบครอบหูเป็นเวลานาน ๆ และเปิดเสียงดังมาก ๆ ก็อาจทำความเสียหายให้หูได้เช่นกัน