ยา ขยาย หลอดลม เด็ก (Bronchodilators) เป็นยาที่ใช้โดยทั่วไปในผู้ที่เป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจอย่างโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ยาจะออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อรอบทางเดินหายใจและเปิดช่องให้อากาศไหลผ่านได้สะดวกขึ้น ยาขยายหลอดลมมี 2 ประเภท คือ ยาชนิดออกฤทธิ์สั้นที่ใช้รักษาอาการเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากทางเดินหายใจหดตัวหลังการสัมผัสสิ่งกระตุ้น และยาชนิดออกฤทธิ์ยาวที่ใช้ควบคุมอาการและลดความถี่การเกิดอาการใช้เป็นประจำทุกวัน
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ยา ขยาย หลอดลม เด็ก ใช้เพื่ออะไร
ยาขยายหลอดลมเด็กเป็นยาที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อในปอดและขยายทางเดินหายใจบริเวณหลอดลม ใช้เพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางเดินหายใจตีบแคบและอักเสบจนทำให้เด็กไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ เช่น
- โรคหอบหืด (Asthma) เป็นความผิดปกติของปอดที่เกิดจากทางเดินหายใจอักเสบ ทำให้เด็กมีอาการไอบ่อย หายใจถี่ หายใจออกมีเสียงหวีด แน่นหน้าอก เป็นต้น อาการอาจแย่ลงในเวลากลางคืน เมื่อเป็นไข้หวัด สัมผัสกับสิ่งกระตุ้นเช่นอากาศเย็น ฝุ่นควัน หรือออกกำลังกาย
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease หรือ COPD) เป็นโรคในกลุ่มอาการปอดอักเสบเรื้อรังที่เกิดขึ้นเมื่อปอดได้รับความเสียหายในระยะยาว ส่งผลให้ผนังถุงลมปอดอ่อนแอ ทำให้เด็กมีอาการหายใจลำบาก ไอเรื้อรัง ปอดติดเชื้อบ่อย หายใจมีเสียงหวีด เป็นต้น แต่พบได้น้อยมากในเด็ก
ยา ขยาย หลอดลม เด็กมีอะไรบ้าง
ยาขยายหลอดลมเด็กเป็นยาที่ออกฤทธิ์ลดการตีบตันและการอักเสบของทางเดินหายใจ มีด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น
- ของเหลวที่ใส่ในเครื่องพ่นละอองยา (Nebulizer)
- ยาสูดกำหนดขนาด (Metered dose inhaler หรือ MDI)
- ยาสูดชนิดผงแห้งหรือดีพีไอ (Dry powder inhaler หรือ DPI)
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน
- ยาน้ำชนิดรับประทาน
- ยาฉีดเข้าผิวหนัง
ยาขยายหลอดลมเด็กชนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ยาขยายหลอดลมชนิดสูดดม เนื่องจากยาจะเข้าไปในทางเดินหายใจของเด็กโดยตรงและจะมีผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยกว่าชนิดอื่น
ยาขยายหลอดลมเด็ก อาจมีดังนี้
- ยาขยายหลอดลมเด็กชนิดออกฤทธิ์สั้น (Short-Acting Bronchodilators) เช่น อัลบูเทอรอล (Albuterol) เมทาโพรเทเรนอล (Metaproterenol) เลโวซาลบูทามอล (Levosalbutamol) เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็วภายในไม่กี่นาทีหลังใช้ และออกฤทธิ์นานถึง 2-4 ชั่วโมง ใช้เพื่อขยายหลอดลมที่ตีบหรือเกร็งตัวในผู้ป่วยโรคหอบหืดที่มีภาวะปอดอุดกั้นชั่วคราวหรือแบบเฉียบพลัน ในภาวะปกติไม่ควรต้องใช้ยานี้เลย แต่บางแนวทางการรักษา (Guideline) กำหนดว่าหากเด็กมีอาการที่ต้องใช้ยาชนิดนี้เกิน 2 ครั้ง/สัปดาห์ ควรไปพบคุณหมอเพื่อปรับเปลี่ยนแผนการรักษาให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของเด็กที่สุด
- ยาขยายหลอดลมเด็กชนิดออกฤทธิ์ยาว (Long-Acting Asthma Inhalers) เช่น ซัลเมเทอรอล (Salmeterol) ฟอร์โมเทอรอล (Formoterol) ไทโอโทรเปียม โบรไมด์ (Tiotropium bromide) เป็นยาชนิดออกฤทธิ์นาน 12- 24 ชั่วโมง แนะนำให้เด็กใช้แบบสูดพ่นวันละ 2 ครั้งติดต่อกันในระยะยาว เพื่อลดการอักเสบ ทำให้หลอดลมขยายตัว ช่วยให้ควบคุมอาการได้ดีขึ้น และลดความถี่หรือป้องกันการเกิดอาการได้
ผลข้างเคียงของ ยา ขยาย หลอดลม เด็ก
การใช้ยาขยายหลอดลมเด็ก อาจทำให้มีผลข้างเคียงต่อไปนี้
- รู้สึกกระวนกระวาย ตัวสั่น
- ปวดท้อง ไม่สบายท้อง
- ระคายเคืองคอหรือจมูก
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- นอนไม่หลับ
ในบางกรณีที่พบได้ไม่บ่อย อาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (Tachycardia)
- อาการใจสั่น
หากใช้ยาขยายหลอดลมแล้วรู้สึกว่าเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กไปพบคุณหมอ โดยคุณหมออาจแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีต่อไปนี้
- เปลี่ยนวิธีการรับยา ยาขยายหลอดลมอย่างอัลบูเทอรอลอาจมีผลข้างเคียงน้อยกว่าหากใช้ผ่านเครื่องพ่นจมูกแทนการรับประทานยาเม็ดหรือยาน้ำ หรือหากใช้เครื่องพ่นละอองยาแล้วมีอาการข้างเคียงที่ทำให้เด็กไม่สบายจมูกหรือระคายเคือง อาจเปลี่ยนไปใช้ยาสูดชนิดกำหนดขนาดแทน ซึ่งโดยปกติหากได้รับการวินิฉัยเป้นหอบหืดแล้วคุณหมอจะไม่จ่ายยาชนิดรับประทานแต่จะจ่ายยาให้เพียงชนิดสูดแบบกำหนดขนาดเท่านั้น
- ปรับเปลี่ยนวิธีการรักษา การใช้ยาขยายหลอดลมเด็กชนิดออกฤทธิ์แรงบางตัวบ่อยเกินไป อาจทำให้ระคายเคืองคอและจมูก คุณหมออาจแนะนำให้ไปรักษาด้วยยาตัวอื่นที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน
- ลดขนาดของยา หากคุมอาการได้ดี คุณหมออาจแนะนำให้ลดขนาดยาเพื่อลดผลข้างเคียงของยาขยายหลอดลมเด็ก
วิธีรับมืออาการหอบหืดในเด็ก
วิธีรับมืออาการหอบหืดในเด็ก อาจมีดังนี้
- ติดตามอาการและจดบันทึกข้อมูล เช่น ลักษณะอาการ ความถี่ในการเกิดอาการ ผลข้างเคียงของการใช้ยา ผลกระทบของอาการต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับของเด็ก เพื่อให้ทราบว่าแผนการรักษามีประสิทธิภาพดีหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้สามารถปรับการรักษาให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของเด็กมากที่สุด
- ให้เด็กรับประทานหรือสูดพ่นยาตามปริมาณและความถี่ที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด และควรปรึกษาคุณหมอก่อนปรับยา ไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาชนิดออกฤทธิ์นานด้วยตัวเอง
- หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการกำเริบหรือทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลง เช่น อากาศหนาว ควันบุหรี่ สารก่อภูมิแพ้อย่างไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ น้ำหอม ขนสัตว์ ภาวะสุขภาพอย่างโรคกรดไหลย้อน การติดเชื้อในทางเดินหายใจ
- รักษาความสะอาดด้วยการกวาด ถูพื้น ดูดฝุ่น ในบริเวณบ้านและพื้นที่ที่เด็กอยู่อาศัยเป็นประจำ
- ซักเครื่องนอน หมอน ผ้าห่มของเด็กอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และไม่เก็บตุ๊กตาขนนุ่มที่อาจเป็นแหล่งสะสมฝุ่นและไรฝุ่นไว้ในห้องนอนของเด็ก
- เด็กที่เป็นหอบหืดจะเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายเมื่อไม่สบาย คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กที่อายุมากกว่า 6 เดือน เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันซ้ำ โดยทั่วไป วัคซีนที่ควรฉีดในแต่ละปีจะเปลี่ยนไปตามสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในปีนั้น ๆ