backup og meta

ทารกท้องเสีย เกิดจากอะไร ควรรับมือได้อย่างไรดี

ทารกท้องเสีย เกิดจากอะไร ควรรับมือได้อย่างไรดี

ท้องเสีย อาจจะฟังดูเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่หากอาการรุนแรงก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพจนถึงขึ้นทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะสำหรับทารก ซึ่งปัญหาเรื่อง ทารกท้องเสีย อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความวิตกกังวล ดังนั้น การทราบถึงทราบถึงสาเหตุที่ทำให้ทารกท้องเสีย รวมถึงวิธีการดูแลลูกเมื่อท้องเสีย จึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาเอาไว้ เพื่อจะได้รับมือได้อย่างทันท่วงที

ตรวจเช็กตารางการฉีดวัคซีนของลูกน้อย ที่นี่

ขับถ่ายธรรมดากับ ทารกท้องเสีย แตกต่างกันอย่างไร

การจะแยกความแตกต่างระหว่างอุจจาระธรรมดาของทารก กับอาการทารกท้องเสีย อาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากอุจจาระของทารกมักจะมีลักษณะเหลว มีสีแตกต่างกัน รงมถึงทารกอาจถ่ายบ่อยเป็นปกติอยู่แล้ว แต่การสังเกตความแตกต่างของอุจจาระแต่ละประเภทอาจทำได้ ดังนี้

  • อุจจาระของทารกที่กินนมแม่

ลักษณะอุจจาระของทารกที่กินนมแม่ อาจจะมีลักษณะเป็นสีเหลือง นิ่ม เหลว และอาจจะมีก้อนเล็กๆ ปะปนอยู่บ้าง เนื่องจากสิ่งที่ทารกรับประทานเข้าไปมีเพียงนมแม่เท่านั้น อุจจาระประเภทนี้อาจจะแยกออกจากอาการท้องเสียได้ค่อนข้างยาก

  • อุจจาระของทารกที่กินนมผง

ทารกที่กินนมผงอาจมีอุจจาระเป็นสีเหลืองเข้ม หรือสีออกน้ำตาล และมักจะมีความข้นหนืดมากกว่าอุจจาระของทารกที่กินนมแม่ โดยปกติแล้ว อาจสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของทารกที่กินนมผงได้อย่างง่ายดาย รวมถึงอาจสังเกตเห็นอาการท้องเสียในทารกได้อย่างรวดเร็ว

  • อุจจาระของทารกที่กินทั้งนมแม่และนมผง

อุจจาระของทารกที่กินทั้งนมแม่และนมผงจะมีลักษณะต่าง ๆ มากมาย โดยคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตอาการท้องเสียได้ หากอุจจาระของทารกมีลักษณะที่แตกต่างไปจากปกติ เช่น อุจาระเหลวมากกว่าปกติ ถ่ายบ่อยมากกว่าปกติ

  • อุจจาระของทารกท้องเสีย

อาจมีลักษณะเป็นอุจจาระเหลว ไหลเป็นน้ำ อุจจาระมีสีเขียว หรือมีสีคล้ำกว่าปกติ มีกลิ่นเหม็นมาก และอาจมีมูกเลือดปน

ทารกท้องเสีย เกิดจากอะไร

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ทารกท้องเสีย อาจมีดังนี้

การติดเชื้อไวรัส

โรตาไวรัส (Rotavirus) เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุหลักของอาการท้องเสียในทารกที่อายุต่ำกว่า 2 ปี แม้ว่าในปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตัวนี้จะลดลงอย่างมากตั้งแต่มีวัคซีนป้องกันโรตาไวรัสเมื่อปี พ.ศ. 2549 แต่ทารกที่ได้รับวัคซีนแล้วก็ยังอาจติดเชื้อไวรัสนี้ได้อีก เพียงแต่อาการท้องเสียเบาลง และอาการอาจดีขึ้นไวกว่าทารกที่ไม่ได้รับวัคซีน

ยาปฏิชีวนะ

ทารกที่ได้รับยาปฏิชีวนะมีโอกาสที่จะเกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ และปวดท้องได้ เนื่องจากยาปฏิชีวนะอาจจะไปทำลายเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ จึงทำให้เกิดอาการท้องเสียและท้องไส้ปั่นป่วน อย่างไรก็ตาม ทารกที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะไม่ควรหยุดใช้ยาก่อนโดยไม่ปรึกษาคุณหมอ เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ครบอาจส่งผลให้เกิดอาการดื้อยาได้

พยาธิหรือเชื้อโรค

ทารกในศูนย์รับเลี้ยงเด็กอาจมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคไกอาเดีย (Giardia) ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่ลำไส้เนื่องจากพยาธิ ทารกอาจจะติดเชื้อนี้ได้จากการนำของเล่นหรือวัตถุอื่น ๆ ที่ปนเปื้อนเข้าปาก

ท้องเสียจากการแพ้นมวัว

ทารกประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์มักจะมีอาการแพ้โปรตีนที่พบได้ในนมวัว ทารกที่กินนมแม่ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้นมได้ หากคุณแม่กินผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว อาจส่งผลให้ทารกที่แพ้นมวัวมีอาการอาเจียน ลมพิษ และท้องเสียได้

ท้องเสียจากการเริ่มกินอาหารแข็ง

หากทารกเริ่มเปลี่ยนจากการกินนมอย่างเดียว มาเริ่มกินอาหารอื่น ๆ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียได้

ของที่แม่รับประทาน

หากลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารบางอย่างที่แม่รับประทาน เช่น นมวัว ช็อกโกแลต อาหารรสชาติเผ็ด คาเฟอีน รวมไปถึงยาบางชนิด อาจส่งผ่านน้ำนมแม่ไปสู่ทารก และทำให้ทารกเกิดอาการท้องเสียได้ ดังนั้น คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองควรระมัดระวังอาหารที่รับประทานและการใช้ยาต่าง ๆ

ทารกท้องเสีย อันตรายอย่างไร

เมื่อทารกเกิดอาการท้องเสีย อาจส่งผลให้ทารกสูญเสียน้ำและแร่ธาตุมากจนเกินไป จนกลายเป็นภาวะขาดน้ำ ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หากให้ทารกดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อน้ำที่สูญเสียไป อาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับอาการภาวะขาดน้ำในทารกอาจมี ดังนี้

  • ปัสสาวะบ่อยเกินไป อย่างน้อย 6 ครั้งภายใน 1 วัน
  • ปากแห้ง ปากแตก
  • ร้องไห้บ่อย แต่เวลาร้องไห้ไม่มีน้ำตา
  • ง่วงซึมผิดปกติ
  • ไม่ยอมกินนมหรือกินข้าว
  • บนศีรษะของทารกมีจุดที่บุ๋มยุบลงไป

หากสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ในทารก ควรรีบพาไปคุณหมอทันที

คุณพ่อคุณแม่จะรับมืออย่างไรเมื่อ ทารกท้องเสีย

การดูแลทารกที่มีอาการท้องเสีย คือ การให้ทารกได้รับน้ำอย่างเพียงพอ หากอาการท้องเสียไม่รุนแรง คุณพ่อคุณแม่อาจดูอาการและดูแลลูกอยู่ที่บ้าน ด้วยวิธีดังนี้

  • ไม่ควรหยุดป้อนอาหารทารก ทารกควรได้รับอาหารอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะน้ำ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำมากเกินไป เพราะทารกที่ท้องเสียอาจเกิดภาวะขาดน้ำได้
  • อย่าซื้อยาแก้ท้องเสียมาให้ทารกกินเอง
  • หากให้ลูทารกกินนมแม่ และทารกยังสามารถกินนมได้อยู่ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องให้กินเกลือแร่ เพราะภายในน้ำนมแม่มีสารอาหารมากเพียงพออยู่แล้ว นอกจากนี้ ในน้ำแม่ยังมีแอนติบอดี้ที่อาจช่วยให้ร่างกายของทารกต่อสู้กับการติดเชื้อได้
  • หากทารกกินนมผง อย่าเจือจางนมผงเพื่อให้ทารกได้รับน้ำมากเเป็นพิเศษ แต่ควรทดแทนน้ำที่สูญเสียไปด้วยเกลือแร่สำหรับเด็ก
  • หากอาการท้องเสียเกิดจากการติดเชื้อ คุณหมออาจจะสั่งให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือยาถ่ายพยาธิ เพื่อจัดการกับการติดเชื้อ
  • พยายามเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ และทำความสะอาดให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • คอยสังเกตอาการของภาวะขาดน้ำ หากพบอาการเหล่านั้น ควรรีบนำตัวลูกส่งโรงพยาบาลทันที เพราะอาจจำเป็นต้องให้น้ำเกลือเพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไปได้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diarrhea in Babies https://www.webmd.com/parenting/baby/baby-diarrhea-causes-treatment#1. Accessed 20 February 2020

Your Baby’s Diarrhea https://www.parents.com/baby/health/diarrhea/diarrhea-101/. Accessed 20 February 2020

Stool characteristics of infants receiving short-chain galacto-oligosaccharides and long-chain fructo-oligosaccharides: A review. https://www.wjgnet.com/1007-9327/full/v20/i37/13446.htm. Accessed July 9 2021.

Advances in Evaluation of Chronic Diarrhea in Infants. https://www.gastrojournal.org/article/S0016-5085(18)30440-2/fulltext?referrer=https%3A%2F%2Fwww.verywellfamily.com%2Fdiarrhea-in-the-breastfed-baby-431632. Accessed July 9 2021.

Infant formulas. https://medlineplus.gov/ency/article/002447.htm. Accessed July 9 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/10/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

นม กับประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็ก ๆ

โรคหัดเยอรมัน ทำร้ายทารกในครรภ์ ป้องกันอย่างไรได้บ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 15/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา