ลิ้นเป็นร้อนใน คือ ภาวะที่มีแผลเปื่อยขนาดเล็กเกิดขึ้นบริเวณลิ้น ลิ้นบวมแดง หรือเป็นสีขาว รวมทั้งบนเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณอื่นภายในช่องปากได้ด้วย ทั้งริมฝีปากด้านใน กระพุ้งแก้ม เพดานปาก เหงือก หรือลิ้น เมื่อลิ้นเป็นร้อนในมักทำให้รู้สึกเจ็บหรือแสบ ภาวะนี้พบได้ทั่วไปในคนทุกเพศทุกวัย แต่อาจพบบ่อยในเด็ก เมื่อลูกเป็นร้อนใน คุณพ่อคุณแม่ควรบรรเทาอาการด้วยการให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เป็นต้น โดยทั่วไป ภาวะร้อนในไม่เป็นอันตราย ไม่ติดต่อไปยังบุคคลอื่น และสามารถหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น หรืออาการไม่หายไปภายใน 3 สัปดาห์ ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการรักษาและวินิจฉัยอาการเพิ่มเติม
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ลิ้นเป็นร้อนใน เกิดจากอะไร
สาเหตุที่ทำให้ลิ้นเป็นร้อนในยังไม่แน่ชัดนัก แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
- เกิดจากการทำทันตกรรม การแปรงฟันรุนแรงเกินไป การเผลอกัดลิ้น เป็นต้น
- ติดเชื้อโรคเอชไพโลไร (Helicobacter pylori หรือ H. pylori) ที่เป็นเชื้อเดียวกับแบคทีเรียที่อยู่ในกระเพาะอาหาร ทำให้ลิ้นอักเสบ
- ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเซลล์ปกติภายในช่องปากแทนการโจมตีเชื้อโรคแปลกปลอมอย่างไวรัสและแบคทีเรีย
- ใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารโซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดฟอง แต่มีฤทธิ์ค่อนข้างแรง อาจทำให้เนื้อเยื่อในปากระคายเคืองและทำให้เป็นแผลที่ลิ้นได้
- ขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก สังกะสี โฟเลตหรือกรดโฟลิก
- ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในช่วงมีประจำเดือน
- แพ้อาหารบางชนิด เช่น อาหารรสจัด อาหารที่มีสภาพเป็นกรด (Acidic-forming food) อย่าง ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น
- เป็นโรคเซลิแอค (Celiac Disease) คือ ภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเยื่อบุภายในร่างกายเมื่อรับประทานกลูเตน ซึ่งอาจส่งผลให้ ลิ้นเป็นร้อนในได้
- เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) เป็นโรคเกี่ยวกับระบบภูมิต้านทานต่อทางเดินอาหารและลำไส้ อาจทำให้เกิดร้อนในตั้งแต่บริเวณปากไปจนถึงบริเวณทวารหนัก
อาการของ ลิ้นเป็นร้อนใน
อาการที่แสดงว่าลูกเป็นร้อนในบริเวณช่องปาก อาจมีดังนี้
- มีแผลขนาดเล็กรูปวงรีที่เป็นขอบสีแดง ตรงกลางเป็นสีขาว
- ก่อนร้อนในที่ลิ้นจะแสดงอาการ อาจรู้สึกคันหรือแสบร้อน ก่อนจะมีตุ่มผุดขึ้นบนลิ้น เด็กอาจมีอาการงอแงไม่ทราบสาเหตุ
- อาจพบแผลร้อนในขึ้นเป็นตุ่มเดี่ยว หรือเป็นกลุ่มก้อน ตามตำแหน่งต่าง ๆ ของลิ้น เช่น ปลายลิ้น ใต้ลิ้น กลางลิ้น
- ลูกอาจรับประทานอาหารได้ช้าลง
- ลูกอาจร้องไห้งอแงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ลูกอาจแลบลิ้นบ่อย หรือหายใจทางปากมากกว่าทางจมูก บางรายเจ็บลิ้นมากอาจมีปัญหาการกลืนน้ำลาย อาจมีน้ำลายย้อยมากกว่าปกติ
- ลูกมีปัญหาในการพูด หรือพูดได้ไม่ปกติ เนื่องจากเจ็บปาก
การดูแลช่องปากเมื่อ ลิ้นเป็นร้อนใน
ลิ้นเป็นร้อนในสามารถหายได้เองในเวลาไม่กี่วัน หรือภายใน 1-2 สัปดาห์ หากดูแลและบรรเทาอาการด้วยวิธีต่อไปนี้
- ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายชุ่มชื้นและไม่ขาดน้ำ ปริมาณน้ำที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย ได้แก่
- เด็กอายุ 1-3 ปี ควรดื่มน้ำ (นับรวมปริมาณนมด้วย) วันละไม่ต่ำกว่า 1.3 ลิตร หรือ 5 แก้ว/วัน
- เด็กอายุ 3-8 ปีควรดื่มน้ำ (นับรวมปริมาณนมด้วย) วันละไม่ต่ำกว่า 1.7 ลิตร หรือ 6 แก้ว/วัน
- เด็กอายุ 9-13 ปี ควรดื่มน้ำไม่ต่ำกว่า 2.1 ลิตร (ผู้หญิง) และ 2.4 ลิตร (ผู้ชาย) หรือ 8-9 แก้ว/วัน
- เด็กอายุ 14-18 ปี ผู้หญิงควรดื่มน้ำไม่ต่ำกว่า 2.3 ลิตร และผู้ชายควรดื่มน้ำไม่ต่ำกว่า3 ลิตร หรือ 9-13 แก้ว/วัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน อาหารที่มีรสเผ็ด เปรี้ยว หรือเค็มจัด เพราะอาจระคายเคืองเหงือกและเนื้อเยื่อในช่องปากได้
- รับประทานอาหารเนื้ออ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย เช่น ไก่นึ่ง ไข่ตุ๋น และอาจเลือกเครื่องดื่มหรือของหวานที่เพิ่มความเย็นในร่างกาย และทำให้ชุ่มคอ เช่น ไอศครีม น้ำเก๊กฮวย
- แปรงฟันให้สะอาดอย่างระมัดระวังและไม่แปรงฟันแรงเกินไป เลือกแปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่ม ไม่แข็งจนบาดเนื้อเยื่อภายในช่องปากหรือระคายเคืองแผลที่ลิ้น และเลือกยาสีฟันที่ไม่มีส่วนผสมของสารโซเดียมลอริลซัลเฟตหรือแอลกอฮอล์ เพื่อไม่ให้รู้สึกแสบแผล
- พูดคุยให้น้อยลงในช่วงที่ลิ้นเป็นร้อนใน เพื่อลดอาการระคายเคืองหรือไม่ให้แผลเสียดสีกับพื้นที่ภายในช่องปาก
- สำหรับเด็กอายุ 7 ปี ขึ้นไป อาจใช้ยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) ชนิดป้ายแผลในปากเพื่อรักษาอาการลิ้นเป็นร้อนใน แนะนำให้ใช้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด เนื่องจากเด็กมีความไวต่อยาและอาจมีอาการที่ไม่พึงประสงค์ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
อาการแบบไหนควรไปพบคุณหมอ
เมื่อลิ้นเป็นร้อนใน และอักเสบรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตตามปกติ เช่น แผลร้อนในใหญ่ผิดปกติ ทำให้ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้ลำบาก ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตว่าลูกมีอาการร่วมอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงหรือไม่ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคโครห์น (Crohn’s Disease) ที่ทำให้เกิดแผลร้อนในภายในปาก อาการร่วมเหล่านั้น ได้แก่
- น้ำหนักลด
- มีอาการคอแข็งอย่างเห็นได้ชัด
- มีอาการไข้โดยอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- รู้สึกเหนื่อยล้า
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- มีเลือดหรือเมือกปนออกมากับอุจจาระ
- มีแผลที่ขอบทวารหนัก