backup og meta

การดูแลทารกแรกเกิด ขั้นพื้นฐาน สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่

การดูแลทารกแรกเกิด ขั้นพื้นฐาน สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่

การดูแลทารกแรกเกิด เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรศึกษาวิธีการดูแลทารกแรกเกิดขั้นพื้นฐานเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการห่อตัวทารกแรกเกิด การเลือกผ้าอ้อม การอาบน้ำให้กับทารก แต่สิ่งสำคัญในการดูแลทารกแรกเกิด ก็คือ ความระมัดระวัง เนื่องจากร่างกายของทารกแรกเกินยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร

[embed-health-tool-vaccination-tool]

การดูแลทารกแรกเกิด ขั้นพื้นฐาน มีอะไรบ้าง

การดูแลทารกแรกเกิด เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนสำหรับคุณพ่อคุณแม่ทุกคน เนื่องจาก ทารกแรกเกิดมีร่างกายที่ยังไม่แข็งแรงพอ เช่น กระดูก ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบควบคุมอุณหภูมิ ทำให้คุณพ่อแม่จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การดูแลทารกแรกเกิดขั้นพื้นฐานเอาไว้  ดังนี้

  • วิธีห่อตัวทารกแรกเกิด

การห่อตัวของทารก เป็นการทำให้เด็กทารกรู้สึกได้ถึงความอบอุ่น สบายใจ และปลอดภัย แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรจะรัดแน่นจนเกิดไป เพราะอาจทำให้ทารกอึดอัด หรืออาจมีไข้ได้ โดยวิธีการห่อตัวทารกที่ดีนั้นมีวิธี 5 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่

  1. กางผ้าสะอาด รูปสี่เหลี่ยมที่ต้องการห่อตัวทารกออก พับมุมบนลงมาเล็กน้อย พร้อมกับวางทารกลงบนผ้าในท่านอนหงายให้ศีรษะอยู่เหนือมุมพับขึ้นไปเล็กน้อย
  2. จับผ้ามุมซ้ายห่อเริ่มตัวทารกอย่างนุ่มนวล พาดจากซ้ายมาขวา และสอดเข้าไปด้านหลังทารกให้อยู่ใต้แขนขวา
  3. จับมุมผ้าด้านล่างช่วงขาทารกห่อขึ้นมา แต่ไม่ให้แน่นจนเกินไป ให้ดึงขึ้นพอมีที่ว่างให้ทารกยืดขา งอขาได้สะดวก
  4. จับผ้ามุมขวาห่อเข้ามาเหมือนขั้นตอนที่ 2 พาดจากขวามาซ้าย และสอดเข้าไปด้านหลังทารกใต้แขนซ้าย ซึ่งจะเห็นได้ว่าทารกจะเหลือแต่เพียงศีรษะ เพื่อให้พวกเขาได้หายใจสะดวก

ข้อควรระวัง : ไม่ควรห่อทารกด้วยวิธีนี้ในช่วงอายุ 2 เดือนขึ้นไป เพราะอาจมีการพลิกตัวขณะห่อตัว สามารถทำให้เกิดการเสียชีวิตได้กะทันหัน

  • การเลือกใช้ผ้าอ้อมให้ทารก

ไม่ว่าจะใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป หรือผ้าอ้อมแบบห่อด้วยตัวเอง ควรมีการเปลี่ยนให้ทารกประมาณ 8-10 ครั้ง/วัน  (พิจารณาตามรอบการกินนม) หรือหลังจากที่ทารกมีการขับถ่าย อีกทั้งควรทำความสะอาดบริเวณก้นและอวัยวะเพศร่วมด้วย เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค สิ่งสกปรก

กรณีที่ทารกมีผื่นแดงขึ้นอาจเปลี่ยนเนื้อผ้า ชนิดผ้าอ้อมที่ใช้ให้ถูกกับพื้นผิวของลูกน้อย หรือควรปรึกษาคุณหมอในการสอบถามชนิดครีมทาที่เหมาะสม แก้ผื่นแดง แก้อาการคันระคายเคือง

  • การดูแลสายสะดือทารก

หลังจากที่หมอตัดสายสะดือ หรือสายสะดือทารกหลุดออก คุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นหรือแอลกอฮอล์ พร้อมทาปิโตรเลียมเจลไม่ให้บริเวณสะดือเสียดสีกับผ้าอ้อม จนเกิดการระคายเคือง แต่หากสังเกตว่าบริเวณดังกล่าวของทารกมีกลิ่น หนอง บวม แดง อาจเป็นไปได้ว่าเริ่มมีการติดเชื้อขึ้น ซึ่งควรรีบพาไปเข้ารับการรักษาโดยคุณหมอทันที

  • อาบน้ำให้เด็กทารก

คุณพ่อคุณแม่ควรอาบน้ำให้ทารกแรกเกิด วันละ 1-2 ครั้ง ด้วยฟองน้ำจนกว่าสายสะดือจะหลุดออก ประมาณ 1-4 สัปดาห์ แล้วจึงเริ่มอาบน้ำด้วยมือปกติได้ การอาบน้ำให้ทารกแรกเกิดนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังในการประคองทารกอย่างมาก เนื่องจากอาจมีความลื่นลงก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ทารก ที่สำคัญการอาบน้ำทารกต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมไว้รอบตัว เช่น ผ้าขนหนู สบู่เด็กอ่อนไร้หลิ่นหอมรุนแรง แปรงขนนุ่มไว้นวดหนังศีรษะ ผ้าอ้อมแห้งเพื่อห่อตัวและเช็ดตัว เสื้อผ้าที่จะเปลี่ยน

การอาบน้ำให้ทารกแรกเกิดทุกครั้งควรใช้น้ำเป็นน้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่นเล็กน้อยในการอาบ (อุณหภูมิไม่เกิน 38 องศา) และระวังอย่าให้น้ำเข้าตา จมูก ปาก หูมากนัก โดยอาจใช้ผ้าเนื้อนิ่มหรือฟองน้ำนุ่มๆชุบน้ำหมาด ๆ ในการเช็ดแทน และรีบนำผ้าอ้อม หรือผ้าขนหนูแห้งเช็ดตัวทารกให้แห้งสนิททันที

  • การให้อาหาร และวิธีทำให้ทารกเรอ

ทารกแรกเกิดจำเป็นต้องได้รับนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง (ควรเป็นนมแม่จะดีที่สุด หากไม่มีนมแม่จึงจะให้นมผงทดแทน) คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการหิวของทารกได้จากการอมนิ้ว อมมือ และร้องไห้ หรือทำปากดูดเมื่อหิว หลังจากที่ทารกดูดนมจนอิ่ม ควรจัดท่าให้ทารกเรอออกมาเสียก่อนจะโน้มตัวลงนอนอีกครั้ง ด้วยวิธีการอุ้มทารกอย่างนุ่มนวลให้เอนตัวโน้มมาข้างหน้าเล็กน้อย พร้อมกับประคองอกและพยุงศีรษะทารกเอาไว้ ลูบหลังเด็กเป็นวงกลมหรือตบหลังเบา ๆ บริเวณหลังจนกว่าลูกน้อยจะเรอออกมา 

อีกท่าหนึ่งคือ อุ้มลูกตั้งขึ้นในท่านั่งพิงอกคุณแม่ ประคองศีรษะเด็กไว้ จากนั้นลูบหลังเบาๆเป็นการกระตุ้นให้เรอ เพื่อป้องกันกรดไหลย้อน และแก๊สในหลอดอาหาร

  • วางแผนจัดเวลาพักผ่อนให้ลูก

ไม่ต้องแปลกใจหากทารกจะพักผ่อนทุกนาทีเพราะ ทารกแรกเกิดควรได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 12-16 ชั่วโมง แต่อาจมีการตื่นมาทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง เพื่อกินนม เนื่องจากระบบย่อยอาหารของทารกมีขนาดเล็ก จำเป็นต้องได้รับอาหารทุก 2-3 ชั่วโมง ซึ่งคุณพ่อคุแม่อาจไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าทารกจะตื่นมาช่วงเวลาเวลาใดได้บ้าง ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมปั๊มนมแม่ไว้ หรือชงนมเตรียมไว้ข้างกายตลอดเวลา

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้าขอรับจากคุณหมอด้านกุมารเวชศาสตร์เพิ่มเติมได้อีกครั้ง เพื่อรับคำนะนำ และข้อควรปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมแก่สุขภาพของทารก

วิธีผ่อนคลายความเครียดระหว่างการดูแลทารกแรกเกิด

การดูแลทารกไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป แต่ถึงอย่างไรระหว่างที่คุณแม่ดูแลเอาใจใส่ทารกนั้น ต้องไม่ลืมดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจของตนเองด้วย โดยการรับประทานอาหารเสริมพลังงานที่ให้ประโยชน์ พร้อมกับดื่มน้ำให้มาก ๆ (มารดาให้นมบุตร ควรดื่มน้ำวันละ 3-4 ลิตร) หาช่วงเวลาที่ลูกนอนหลับพักผ่อนไปทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบเสริมความผ่อนคลาย อีกทั้งหากคุณพ่อคุณแม่คนใดรู้สึกเบื่อการอยู่บ้าน ควรเตรียมของใช้ต่าง ๆ สำหรับทารกแรกเกิดให้พร้อม เพื่อเดินทางออกไปท่องเที่ยวด้านนอก รับบรรยากาศใหม่ ๆ หรืออาจหาผู้ดูแลเด็ก หรือสถานรับเลี้ยงที่น่าเชื่อถือไว้ใจได้ในการฝากทารกไว้สักครู่หนึ่ง ช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Maternal blue) ในมารดาได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Bringing Baby Home: How to Prepare for the Arrival of Your Newborn. https://www.healthychildren.org/english/ages-stages/prenatal/delivery-beyond/pages/bringing-baby-home.aspx. Accessed July 20, 2021

Infant Care and Infant Health. https://www.nichd.nih.gov/health/topics/infantcare. Accessed July 20, 2021

Newborn care: 10 tips for stressed-out parents. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/infant-and-toddler-health/in-depth/newborn/art-20045498. Accessed July 20, 2021

Caring for a newborn baby. https://www.nhs.uk/conditions/baby/caring-for-a-newborn/. Accessed July 20, 2021

A Guide for First-Time Parents. https://kidshealth.org/en/parents/guide-parents.html. Accessed July 20, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/02/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทารกกินน้ำผึ้ง เป็นอันตรายอย่างไร

ดูแลทารกแรกเกิด ให้แข็งแรงปลอดภัย ทำอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 18/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา