backup og meta

ท่าอุ้มเรอ สำหรับเด็กทารก มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    ท่าอุ้มเรอ สำหรับเด็กทารก มีอะไรบ้าง

    สาเหตุที่ทำให้ทารกเรอ เกิดจากการกลืนอากาศมากเกินไปในขณะดูดนมจากขวดหรือจากเต้าของคุณแม่ หรืออาจเกิดจากแพ้โปรตีนในนม ทำให้มีแก๊สสะสมในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้มีอาการท้องอืด ปวดท้อง และอาจอาเจียน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาท่าอุ้มเรอ เพื่อช่วยไล่แก๊สออกหลังจากลูกกินนมเสร็จ เพื่อให้ลูกไม่อึดอัด และมีความสบายตัวมากขึ้น

    ทารกเรอ ดีต่อสุขภาพอย่างไร

    การทำให้ทารกเรออาจช่วยลดแก๊สที่สะสมอยู่ในช่องท้อง ซึ่งอาจเกิดจากอากาศที่กลืนเข้าไประหว่างดูดนม หรืออาจเกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองต่อโปรตีนในนมวัว และสารก่อภูมิแพ้เช่น ไข่ ถั่ว น้ำอัดลม ผักบางชนิด ที่ปะปนในน้ำนมคุณแม่ ทำให้ร่างกายของทารกสร้างแก๊สในกระเพาะอาหาร และอาจส่งผลให้ทารกมีอาการปวดท้อง ท้องอืด หรืออาเจียน ดังนั้น จึงควรทำให้ทารกเรอหลังจากกินนมเสร็จด้วยการอุ้มและลูบหลังลูกน้อยเบา ๆ เพื่อช่วยขับแก๊สออกจากช่องท้อง และป้องกันการแหวะนม และปวดท้อง

    งานวิจัยหนึ่งของสถาบันการศึกษาและการวิจัยทางการแพทย์ ประเทศอินเดีย ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Child: care, health and development พ.ศ. 2557 ได้ทำการประเมินประสิทธิภาพของการเรอในการลดอาการแหวะนมของทารก โดยทดลองแบบสุ่มในแม่ลูก 71 คู่ เป็นเวลา 3 เดือน พบว่าการเรออาจช่วยลดอาการแหวะนมได้

    ท่าอุ้มเรอ ที่เหมาะสมสำหรับทารก

    ท่าอุ้มเรอ ที่แนะนำมีดังนี้

    • ท่าอุ้มนั่งบนตัก

    หลังจากทารกกินนมเสร็จ ให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกนั่งบนตัก และใช้มือข้างหนึ่งประคองตัวทารกโดยจับไว้ที่บริเวณหน้าอก จากนั้นเอนตัวทารกไปข้างหน้าเล็กน้อย และใช้มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังทารกเป็นวงกลม หากทารกยังไม่เรอ ให้ลองตบเบา ๆ

    • ท่าอุ้มแบบนอนคว่ำหน้าบนแขน

    อุ้มทารกโดยนำแขนข้างหนึ่งช้อนใต้แผ่นหลัง และค่อย ๆ คว่ำลำตัวทารกลงบนแขน โดยให้มือสอดอยู่ระหว่างขาทารกเพื่อประคองลำตัวทารกไว้ ศีรษะของทารกควรอยู่บริเวณข้อพับแขน และหันไปด้านข้างเพื่อให้ทารกหายใจได้สะดวก จากนั้นนำมืออีกข้างลูบหลังทารกเป็นวงกลม หรือตบหลังทารกเบา ๆ

    • ท่าอุ้มพาดไหล่

    คุณพ่อคุณแม่ควรอุ้มทารกพาดไหล่ให้แนบชิดกับหน้าอก โดยให้หลังทารกตั้งตรง ใช้แขนข้างหนึ่งประคองก้น และจับศีรษะทารกพิงกับไหล่เอาไว้ จากนั้นใช้มืออีกข้างตบหลังทารกเบา ๆ หากการตบเบา ๆ ไม่ได้ผล อาจใช้วิธีการลูบหลังส่วนบนเป็นวงกลม

    • ท่าอุ้มแบบนอนคว่ำหน้าบนหน้าท้อง

    อุ้มทารกให้นอนคว่ำหน้าบนหน้าท้องของคุณพ่อคุณแม่ โดยหันศีรษะทารกออกด้านข้าง จากนั้นค่อย ๆ ตบหลังทารกหรือลูบหลังทารกเป็นวงกลมเบา ๆ

    • ท่าอุ้มทารกแบบนอนคว่ำหน้าบนหน้าตัก

    ให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มทารกนั่งบนหน้าตัก โดยใช้มือข้างหนึ่งประคองบริเวณใต้คาง ลำคอ และศีรษะ ระวังอย่าใช้แรงกดหรือบีบมากเกินไป เพราะอาจทำให้ทารกหายใจไม่ออก จากนั้นตั้งขาข้างหนึ่งขึ้นเล็กน้อย และค่อย ๆ โน้มตัวทารกลงบนหน้าตักเพื่อให้ทารกเกาะ ใช้มืออีกข้างตบหลังทารก หรือลูบหลังทารกเบา ๆ

    วิธีป้องกันการเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร

    วิธีป้องกันไม่ให้ทารกกลืนอากาศมากเกินไปจนกลายเป็นแก๊สในกระเพาะอาหาร อาจทำได้ดังนี้

    • เช็กดูว่าริมฝีปากทารกแนบสนิทกับเต้านมขณะกินนมหรือไม่ หากแนบไม่สนิท ควรใช้มือปิดริมฝีปากทารกให้แนบสนิทกับเต้านม
    • สังเกตน้ำนมของคุณแม่ว่าไหลเร็วเกินไปหรือไม่ เพราะหากน้ำนมไหลเร็วและไหลออกมาในปริมาณมาก อาจทำให้ทารกต้องดูดนมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กลืนอากาศเข้าไปมาก หากคุณแม่มีน้ำนมไหลออกมาเร็ว ควรปั๊มนมออกก่อน หรือใช้ผ้าสะอาดซับจนกว่าน้ำนมจะไหลช้าลง แล้วจึงค่อยให้ทารกกินนม
    • สำหรับทารกที่กินนมจากขวด ควรระวังไม่ให้จุกนมใหญ่จนเกินไปเพราะอาจทำให้ทารกกลืนอากาศเข้าไปได้มาก
    • จับขวดนมลูกเอียงเล็กน้อยขณะป้อนนม เพื่อไม่ให้ลูกกลืนอากาศเข้าไปมาก

    หากทารกไม่เรอ ควรทำอย่างไร

    หากทารกไม่เรอภายใน 2-5 นาที ให้ปรับเปลี่ยนเป็นท่าอุ้มเรออื่น ๆ หรือจับทารกนอนหงาย แล้วนวดท้องทารกเบา ๆ หรืออาจจับขาทั้ง 2 ข้างยกขึ้นลงสลับซ้ายขวา คล้ายท่าปั่นจักรยาน เพื่อช่วยขับลมออกจากกระเพาะอาหารของทารกอย่างไรก็ตาม การที่ทารกไม่เรออาจเป็นไปได้ว่าทารกไม่ได้มีแก๊สในช่องท้อง หากทารกมีอาการร้องไห้ ขดตัว กำมือแน่น ควรพาไปหาคุณหมอทันที เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกปัญหาสุขภาพได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา