พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 2 ของลูกน้อย เป็นช่วงที่ลูกน้อยเริ่มจำเสียงของคุณแม่ได้แล้ว คุณแม่จึงควรพูดคุยกับลูกน้อยให้มากขึ้น เพื่อทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและสบายใจ และรู้สึกได้รับความรักจากคุณแม่ด้วย อีกทั้งช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ลูกยังต้องการกินนมแม่ จึงควรให้ลูกได้กินนมแม่อย่างสม่ำเสมอตามเวลาที่เหมาะสม เพื่อช่วงส่งเสริมสุขภาพ การเจริญเติบโต และพัฒนาการ
[embed-health-tool-vaccination-tool]
การเจริญเติบโต พฤติกรรม และ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 2 ของลูกน้อย
ลูกน้อยจะเติบโตอย่างไร
แม้จะเพิ่งมีอายุได้เพียง 2 สัปดาห์ แต่ลูกก็รับรู้ได้แล้วว่า คุณแม่เป็นที่พึ่งพาได้ ลูกน้อยจะเริ่มจำเสียงคุณแม่ได้แล้ว การได้ยินเสียงจะทำให้ลูกรู้สึกสบายใจ ปรับตัวเข้ากับโลกใบใหม่หลังคลอดได้ง่ายขึ้น และทำให้รู้ว่าไม่ได้อยู่เพียงลำพัง
ดั้งนั้น ยิ่งคุณแม่พูดกับลูกมากเท่าไร ก็จะยิ่งดีต่อลูกมากเท่านั้น แม้ลูกอาจจะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่พูด แต่ความรักและความอบอุ่นที่ได้รับเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคุณแม่ ก็เป็นสิ่งที่ลูกต้องการมากที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 นี้ ลูกมีแนวโน้มที่จะโงหัวขึ้นได้บ้างแล้ว สิ่งที่คุณแม่ต้องให้ความสำคัญก็คือ ลูกสามารถหายใจได้อย่างสะดวกเสมอเวลานอนคว่ำ ทั้งนี้ ดวงตาของลูกน้อย 2 สัปดาห์จะยังบวม ๆ อยู่ และลูกจะสามารถมองเห็นได้ในระยะ 20-40 เซนติเมตรเท่านั้น
ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร
ลูกสามารถรับรู้ถึงสิ่งรอบตัวได้แล้ว คุณแม่จึงควรช่วยให้ลูกสามารถสำรวจหน้าตาของคุณแม่ให้ง่ายขึ้น โดยการมองลูกในระยะใกล้ ๆ ในขณะให้นม หรือในเวลาที่ดูแลลูกทุก ๆ วัน คุณแม่อาจลองขยับศีรษะซ้าย-ขวา แล้วสังเกตดูว่าลูกกำลังมองตามอยู่หรือเปล่า วิธีนี้จะช่วยฝึกกล้ามเนื้อดวงตาของเด็กให้แข็งแรงขึ้นได้ หากลูกแค่ชำเลืองมอง แต่ยังไม่หันศีรษะตาม ก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเด็กทารกอายุ 2 สัปดาห์เดียวมักจะแค่มองตามเท่านั้น
คุณแม่ควรหมั่นคุยกับลูก เพราะการสื่อสารจะค่อย ๆ ทำให้ลูกชินกับเสียงและการมีตัวตนของคุณแม่ และถึงแม้ลูกจะยังไม่เข้าใจว่าคุณแม่พูดอะไร แต่ก็สามารถรับรู้ได้ถึงความรักอันเปี่ยมล้นจากทุก ๆ คำพูดและการกระทำจากคุณแม่ น้ำเสียง การกอด การสัมผัส จะช่วยให้คุณแม่และลูกยิ่งใกล้ชิดกัน ส่งผลให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และสงบลงได้
สุขภาพและความปลอดภัย
ควรปรึกษาคุณหมออย่างไร
แม้คุณแม่อาจรู้สึกว่าลูกแข็งแรงดี และคงไม่ต้องไปพบคุณหมอ แต่ก็ควรพาลูกอายุ 2 สัปดาห์ ไปพบคุณหมอตามนัดหมาย เพราะลูกอาจต้องเข้ารับการทดสอบต่อไปนี้
- ทำความสะอาดในระบบทางเดินหายใจ โดยการใช้เครื่องดูดทางจมูกของทารก วิธีนี้จะช่วยลดอาการอาเจียนหรือสำลักได้
- ใช้ยาปฏิชีวนะประเภทขี้ผึ้งทาในบริเวณดวงตาของทารก เพื่อป้องกันโรคหนองใน หรือการติดเชื้อปรสิต
- วัดความสูง ขนาดรอบวงของศีรษะ เพื่อตรวจสอบพัฒนาการของเด็ก
สิ่งที่ควรรู้
โรคดีซ่านในเด็กเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และเด็กที่กินนมแม่ โรคดีซ่านในเด็ก คือ อาการที่ผิวและดวงตาของเด็กเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มักเกิดจากตับของทารกยังมีพัฒนาไม่เต็มที่ จึงทำให้ไม่สามารถกำจัดสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ที่อยู่ในกระแสเลือดออกไปได้
สัญญาณโรคดีซ่านในเด็ก มักเริ่มจากผิวหน้าเปลี่ยนเป็นสีเหลือง จากนั้นจะลามไปที่หน้าอก ท้อง และที่ขา และลูกอาจมีอาการตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองด้วย แต่หากเด็กมีผิวสีเข้ม อาจสามารถสังเกตได้จากตาขาวและเหงือกของเด็กเป็นสีเหลือง หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกเป็นโรคดีซ่านหรือไม่ อาจลองกดเบา ๆ บริเวณจมูกหรือหน้าผากของลูกเบา ๆ หากลูกเป็นดีซ่าน ผิวของลูกจะออกเหลืองเมื่อคุณแม่ยกนิ้วออก ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคทั้งจากลักษณะทางกายภาพของลูก และการตรวจวัดระดับสารบิลิรูบินในเลือดบริเวณข้อเท้า
โรคดีซ่านในเด็กส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ บางกรณี การให้นมแม่บ่อยขึ้นหรือการให้กินอาหารเสริมบางชนิด อาจช่วยให้เด็กสามารถระบายสารบิลิรูบินออกมาทางอุจจาระได้
สำหรับโรคดีซ่านในเด็กที่รุนแรง อาจใช้การรักษาด้วยการส่องด้วยแสงไฟพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายของเด็กสามารถกำจัดสารบิลิรูบินออกไปได้
สิ่งที่ต้องเป็นกังวล
ควรกังวลในเรื่องใด
ในช่วง 2 สัปดาห์แรก คุณแม่ส่วนใหญ่จะเป็นกังวลในเรื่องน้ำหนักตัวของลูก กลัวว่าลูกจะขาดสารอาหาร แต่หากลูกได้กินนมแม่จนคุณแม่รู้สึกว่าเต้านมว่างเปล่าและเบาโหวงหลังให้นมลูก คุณแม่ใช้นิ้วกดที่ผิวของลูกแล้วรู้สึกว่าผิวของลูกเปล่งปลั่งสดใส แน่นกระชับ และมีความยืดหยุ่น มักเป็นสัญญาณว่าลูกได้รับสารอาหารเพียงพอ
วิธีตรวจสอบอีกอย่างหนึ่ง คือ การสังเกตเสียงกลืนนมของลูกในขณะให้นม อาจให้ทราบว่า ลูกดูดนมถูกวิธี หรือได้รับน้ำนมสม่ำเสมอหรือไม่ หรือหากลูกอุจจาระออกมาเป็นสีเหลืองหรือสีเทา ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีเช่นกัน
หากลูกขับถ่ายได้ดีจนคุณแม่ต้องหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกอายุ 2 สัปดาห์วันละ 5-8 ครั้ง ก็ถือเป็นอีกสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ลูกน้อยได้รับพลังงานและสารอาหารที่จำเป็นอย่างพอเพียงแล้ว
การได้รับสารอาหารและพลังงานเพียงพอจะช่วยให้ลูกรู้สึกสนุกสนาน กระปรี้กระเปร่า และเติบโตอย่างมีสุขภาพดี ทั้งนี้ หากคุณแม่กังวลเกี่ยวกับน้ำหนักของลูก ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับลูก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้งสมอง ร่างกาย และจิตใจของลูกได้เป็นอย่างดี