พัฒนาการทารก เริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิดและพัฒนาอย่างรวดเร็วตามลำดับจากศีรษะสู่ปลายเท้า (Cephalocaudal) ในช่วง 12 เดือนแรก ทารกมักเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ผ่านการโต้ตอบและการสื่อสารกับพ่อแม่หรือผู้ดูแล รวมทั้งการเล่นหรือของเล่นที่ช่วยฝึกกระบวนการคิด การเคลื่อนไหว การแสดงอารมณ์ และอื่น ๆ โดยพัฒนาการทารกจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละช่วงวัยหรือช่วงเวลาของการฝึกฝน ขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องการส่งเสริมพัฒนาการทารกในด้านใด เช่น การเดิน การพูด การเรียนรู้ภาษา การเข้าสังคม
[embed-health-tool-vaccination-tool]
พัฒนาการทารกที่สำคัญ
พัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่ทารกควรได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้และฝึกฝน มีดังนี้
- การเคลื่อนไหวร่างกายโดยรวม เป็นการฝึกฝนร่างกาย สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เริ่มจากภายใน 3 เดือนแรก ฝึกกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง ตั้งคอตรงได้ มีการประสานงาน และการควบคุมกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ รวมถึงการสร้างทักษะในด้านต่าง ๆ ให้ทารกได้เกิดกระบวนการเรียนรู้และฝึกฝน เช่น การฝึกนั่งในเดือนที่ 4-6 การฝึกพลิกตัวคว่ำหงาย การคืบ การคลาน ในช่วงเดือนที่ 6-8 การเริ่มเกาะยืนและการฝึกก้าวเดินในช่วงเดือนที่ 8-12
- การเคลื่อนไหวของร่างกายขนาดเล็ก ฝึกฝนการประสานงาน และการควบคุมกล้ามเนื้อขนาดเล็ก รวมถึงทักษะในด้านต่าง ๆ เช่น การหยิบหรือจับสิ่งของขนาดเล็กหรืออาหาร เพื่อฝึกควบคุมกล้ามเนื้อมือและนิ้วให้สมดุลมากขึ้น และเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วขึ้น การทำงานประสานกันระหว่าการใช้สายตา การเอื้อมหยิบจับของ การส่งต่อของระหว่างมือซ้าย-มือขวา
- การมองเห็น สร้างพัฒนาการด้านการมอง เรียนรู้จากระยะใกล้และค่อย ๆ ไกลขึ้น การมองจากกึ่งกลางจากนั้นขยายไปด้านซ้าย-ขวา กระทั่งมองได้รอบตัว เพื่อให้ทารกเข้าใจในสิ่งที่เห็น
- การได้ยิน สร้างพัฒนาการและความสามารถในการได้ยิน การฟัง และเข้าใจเสียง สามารถแยกแยะเสียงต่าง ๆ ได้มากขึ้น
- การพูดและภาษา สร้างพัฒนาการในการฟังเสียงที่ประกอบขึ้นเป็นคำพูดและเข้าใจในคำเหล่านั้น
- พฤติกรรมทางสังคมและความเข้าใจ สร้างพัฒนาการในการเรียนรู้สิ่งรอบตัว และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น สมาชิกในครอบครัว การเริ่มสังเกตคนแปลกหน้า รวมถึงทักษะในการเล่น และการสื่อสารกับผู้อื่น
ทารกบางรายมีพัฒนาการล่าช้าซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือถาวร อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การคลอดก่อนกำหนด เจ็บป่วย การบาดเจ็บ ที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาทางสมอง นอกจากนี้ พัฒนาการที่ล่าช้าของทารกอาจได้รับผลกระทบมาจากปัจจัยแวดล้อม เช่น ปัญหาความรุนแรง พ่อแม่ติดสุราและใช้ยาเสพติด การให้ลูกดูหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตเร็วเกินไป
พัฒนาการทารก 1-12 เดือน
พัฒนาการทารก 1 เดือน
พัฒนาการทารก 1 เดือน เป็นช่วงที่สำคัญโดยเฉพาะการกอด การนอน และการให้นมแม่ เนื่องจากช่วงเวลาที่ได้สัมผัสความอบอุ่นจากครอบครัวพร้อมทั้งสัมผัสกับโลกภายนอก จะช่วยพัฒนาสมองให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉลี่ยในแต่ละเดือนทารกจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 0.7-0.9 กิโลกรัม ความสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร และในแต่ละเดือนเส้นรอบวงศีรษะจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.25 เซนติเมตร
ทารกจะร้องไห้มากขึ้นซึ่งเป็นการสื่อสารเพียงอย่างเดียวว่ากำลังหิวหรือต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือในบางครั้งทารกอาจร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล ซึ่งอาจเกิดจากความตกใจหรือต้องการความอบอุ่นจากพ่อแม่
ทารก 1 เดือนจะเริ่มเรียนรู้ทางสายตา การฟังเสียง โดยทารกจะชอบจ้องมองคนมากกว่าสิ่งของและจะจดจำพ่อแม่ได้ ทารกจะฟังเสียงของพ่อแม่หรือคนรอบตัวพูดคุย และสะดุ้งหากได้ยินเสียงดัง อาจแสดงอาการเหวี่ยงแขนขา กะพริบตา หรือหายใจเร็ว เมื่อกล้ามเนื้อคอแข็งแรงขึ้นทารกจะสามารถยกคอได้เล็กน้อย สามารถนอนคว่ำและหันหน้าไปข้างได้ข้างหนึ่งได้ นอกจากนี้ ทารกบางคนสามารถเรียนรู้วิธีผ่อนคลายตัวเองด้วยการดูดนิ้วโป้ง หรือเล่นกับตุ๊กตา
พัฒนาการทารก 2 เดือน
ทารก 2 เดือนจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 900 กรัม กล้ามเนื้อพัฒนามากขึ้น ทำให้แขนขาสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และการเติบโตอย่างรวดเร็วอาจทำให้ทารกหิวง่าย อาจต้องการอาหารบ่อยครั้งและปริมาณมากกว่าเดิม
ทารกจะเริ่มเรียนรู้การหยิบจับสิ่งของแต่อาจยังไม่รู้วิธีปล่อยสิ่งของออกจากมือ เรียนรู้วิธีเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อแขนขาได้อย่างอิสระและสมดุลมากขึ้น ทารกบางคนอาจเริ่มพลิกตัวคว่ำตัวได้เอง แต่ยังพลิกหงายไม่ได้ พ่อแม่จึงควรดูแลอย่างใกล้ชิด ป้องกันหมอนหรือสิ่งของอุดกั้นทางเดินหายใจเมื่อพลิกตัวคว่ำ
การนอนหลับของทารก 2 เดือน จะนอนหลับได้นานขึ้น ประมาณ 3-4 ชม. การตื่นมาหิวกินนมช่วงกลางคืนยังพบได้เป็นปรกติ ทารกบางคนอาจนอนหลับยาวได้เกือบตลอดทั้งคืน และตื่นตัวมากในตอนเช้า ทารกจะเรียนรู้จากการจ้องมองมากขึ้น เมื่อพ่อแม่หรือคนรอบข้างพูดคุย ทารกจะจ้องมองกลับอย่างให้ความสนใจและอาจส่งยิ้มเพื่อโต้ตอบการสื่อสารนั้น
พัฒนาการทารก 3 เดือน
ทารก 3 เดือนจะเริ่มนอนหลับสนิทมากขึ้น อาจยาวนาน 5-6 ชั่วโมง ในตอนกลางคืน และจะเริ่มสัมผัสได้ถึงอารมณ์และการสื่อสารของพ่อแม่หรือคนรอบข้าง จะตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน เช่น หันไปหาเสียงเรียก ยิ้มหรือหัวเราะกับเสียงที่ได้ยิน อาจชี้นิ้วหรือยกแขนขาพร้อมกันไปด้วย
ทารกจะเริ่มยิ้มให้คนแปลกหน้าและจดจำผู้คนจากเสียง การมองเห็น และกลิ่น อาจพยายามโต้ตอบผู้คนด้วยเสียงของตัวเอง กล้ามเนื้อแขนขาพัฒนามากขึ้น รู้จักการหยิบสิ่งของรอบตัวเข้าปาก หรือเขย่า ควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะได้ดีขึ้น ยกหน้าอก หรือกลิ้งไปกลิ้งมาได้อย่างอิสระมากขึ้น
พัฒนาการทารก 4 เดือน
ทารก 4 เดือน น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 0.45-0.56 กิโลกรัม กระดูกจะโตเร็วและยาวขึ้น ทารกจะเริ่มเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน รู้สึก และลิ้มรส โดยอาจพยายามหยิบสิ่งของเข้าปากซึ่งเป็นการเริ่มต้นการเเรียนรู้ทักษะการรับประทานอาหารเนื้อแข็งในอนาคต
ทักษะทางร่างกายจะพัฒนาขึ้น ทารกอาจพลิกตัว ลุกขึ้นนั่ง (แต่ยังนั่งไม่มั่นคง ต้องประคอง) หรือบางคนอาจเริ่มคลาน และทารกจะแสดงความรู้สึกดีใจ ตื่นเต้นด้วยการหัวเราะ พยายามเลียนแบบเสียงที่ได้ยิน เช่น พูดคำสั้น ๆ ว่า แม่ หรือพ่อ (แต่ยังไม่เปล่งเสียงเป็นคำ) นอกจากนี้ ทารกอาจแสดงอารมณ์โกรธ ร้องไห้ เพื่อสื่อถึงความต้องการในเวลานั้น
พัฒนาการทารก 5 เดือน
ทารก 5 เดือน น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 550 กรัม และตัวยาวขึ้นประมาณ 2 เซนติเมตร ทารกอาจเริ่มนั่งได้เองสักครู่โดยที่ไม่ต้องจับ และยังคงหยิบของรอบตัวเข้าปากหรืออาจใช้มือประคองขวดนมเองได้ เริ่มเรียนรู้ทักษะทางภาษามากขึ้น อาจทำบางสิ่งซ้ำไปซ้ำมา จดจำเสียงและแยกความแตกต่างของเสียงได้มากขึ้น นอกจากนี้ ทารกสามารถสื่อสารหรือแสดงความต้องการผ่านเสียงและท่าทางได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น ยกแขนขึ้นเมื่อต้องการให้อุ้ม ร้องไห้เมื่อพ่อออกไปทำงาน กอดจูบพ่อแม่ และสนุกกับการเล่นมากขึ้น
พัฒนาการทารก 6 เดือน
ทารก 6 เดือน เป็นช่วงที่เริ่มรับประทานอาหารแข็งได้ เป็นการฝึกกรามให้แข็งแรง ละฝึกกล้ามเนื้อปากและกระพุ้งแก้ม ฝึกทักษะการเคี้ยวและการพูดคุย ควรให้อาหารบดในปริมาณเล็กน้อยเพียง 1 มื้อต่อวัน แต่ยังคงให้นมแม่หรือนมผงเป็นอาหารหลักอยู่
ทักษะการควบคุมกล้ามเนื้อมือดีขึ้น เริ่มหยิบสิ่งของและลากเข้าหาตัว ส่งสิ่งของให้ผู้อื่น และรู้วิธีปล่อยสิ่งของออกจากมือ อาจเริ่มคลาน โยกตัวไปมาเมื่ออยู่ในท่าคลาน และนั่งหรือเริ่มเกาะยืนได้ชั่วขณะหากได้รับการช่วยเหลือ
ทักษะการสื่อสารจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทารกจะเริ่มพูด ร้องเพลง ตะโกนเสียงแหลม เรียนรู้การเลียนแบบเสียง และรู้จักการสื่อสารอย่างอื่นนอกจากการร้องไห้ เช่น พูดส่งเสียง แสดงอารมณ์เพื่อสื่อความต้องการ เช่น หัวเราะดีใจเมื่อเล่นด้วย ทำเสียงขู่หรือตวาดเมื่อไม่พอใจ
พัฒนาการทารก 7 เดือน
ทารก 7 เดือน บางคนอาจมีฟันน้ำนมเล็ก ๆ งอกออกมา เริ่มหยิบสิ่งของด้วยมือเดียว ลากสิ่งของไปมาหรือเอาเข้าปาก และทารกบางคนอาจลุกขึ้นนั่งได้ด้วยตัวเอง เคลื่อนไหวร่างกาย คลาน กลิ้งตัวได้อย่างอิสระมากขึ้น รวมถึงการจดจำก็ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ทารกอาจเริ่มเข้าใจในพฤติกรรมบางอย่างเมื่อพ่อแม่ต้องอยู่ห่างจากทารก เช่น การแยกห้องนอนหรือการเดินหนีไปอีกห้อง ทารกอาจร้องไห้หรือแสดงอารมณ์เมื่อรู้ว่าต้องจากพ่อแม่
พัฒนาการทารก 8 เดือน
ทารก 8 เดือน จะเริ่มแสดงความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากพ่อแม่มากขึ้น อาจร้องไห้ โวยวาย หรือเกาะติดตัวเมื่อพ่อแม่พยายามจะแยกตัวออก ซึ่งทารกจะค่อย ๆ เรียนรู้มากขึ้น และต้องสร้างสายใยให้ทารกไว้ใจว่าถึงแม้จะไม่เห็นพ่อแม่อยู่ในสายตาแต่เชื่อว่าพ่อแม่ยังอยู่ใกล้ๆ
ทารกควรนั่งได้มั่นคงขึ้นโดยไม่ต้องได้รับการช่วยเหลือ คลานได้คล่องขึ้น เริ่มเกาะยืนได้ บางคนอาจเริ่มปีนสิ่งของ เคลื่อนไหวไปมาได้อย่างอิสระจึงควรดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุอันตราย
พัฒนาการทารก 9 เดือน
ทารก 9 เดือน ความจำจะพัฒนามากขึ้น สามารถจดจำคนรอบข้างและผูกพันกับคนใกล้ชิด เริ่มเข้าใจความหมายของคำ รู้ว่าสิ่งที่พ่อแม่ชี้คืออะไร เลียนแบบเสียงและเข้าใจเมื่อพ่อแม่พูดว่า ไม่ หรือได้
ทารกอาจปีนสิ่งของหรือปีนบันไดได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ไม่สามารถลงมาได้ด้วยตัวเอง จึงควรดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอันตรายจากการตกจากที่สูง นอกจากนี้ ทารกในช่วงวัยนี้มักสนใจในการเล่น การส่งสิ่งของ หรือกิจกรรมที่แปลกใหม่มากขึ้น เช่น โยนลูกบอล เล่นจ๊ะเอ๋
พัฒนาการทารก 10 เดือน
ทารก 10 เดือน สามารถทรงตัวในท่าคลานได้มั่นคง และนั่งเอนซ้ายขวาได้โดยไม่ล้ม ทารกจะเริ่มสนใจการสนทนามากขึ้นโดยใช้ภาษากายหรือการแสดงออกทางสีหน้า จะเริ่มเรียนรู้การเข้าสังคมมากขึ้น ลดความวิตกกังวลเมื่อต้องห่างจากพ่อแม่ และเริ่มยิ้ม หัวเราะหรือเล่นกับคนแปลกหน้าได้โดยไม่ต้องมีพ่อแม่อยู่ด้วย
พัฒนาการทารก 11 เดือน
ทารก 11 เดือน มักมีประสาทสัมผัสการรับรสและรับกลิ่นที่ดีขึ้น รับประทานอาหารโดยรู้จักแยกแยะรสอร่อยได้มากขึ้น และบางคนอาจใช้มือหยิบแก้วน้ำได้ด้วยตัวเอง
ทักษะการสื่อสารจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว อาจมีคำพูดเพื่อสื่อสารเพิ่มขึ้นหรือรู้จักสื่อสารด้วยภาษากาย เช่น โบกมือ พยักหน้า และจะเริ่มเข้าใจหากพ่อแม่ขอความร่วมมือเมื่อต้องแต่งตัว หรือบอกว่า ไม่ เมื่อกำลังทำสิ่งที่อันตราย
ทารกบางคนอาจเริ่มมีทักษะการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เริ่มจับสิ่งของรอบตัวเพื่อช่วยพยุงให้สามารถลุกขึ้นยืนหรือเคลื่อนไหวไปมาได้ด้วยตัวเอง
พัฒนาการทารก 12 เดือน
ทารก 12 เดือน อาจเริ่มซุกซนมากขึ้นและสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้เกิน 2-5 นาที อยากเดินสำรวจสิ่งแวดล้อมจึงทำให้ทารกอาจผลัก เตะ โยน เล่นของเล่นหลายชิ้นพร้อมกันหรืออาจเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทารกอาจปฏิเสธการงีบหลับในตอนกลางวันเพราะวิตกกังวลในการแยกจากพ่อแม่ และอยากเล่น นอกจากนี้ ทารกอาจเริ่มหย่านมหรือ ลดจำนวนมื้อนมลง และรับประทานอาหารแข็งเป็นหลักเพียงอย่างเดียว
ทารกจะเรียนรู้คำศัพท์และเริ่มเข้าใจคำสั่งต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ส่งขวดนมมาให้แม่หน่อย ทารกจะเริ่มทำท่าปฏิบัติตามคำสั่งนั้น เช่น สวัสดี โบกมือบาย ๆ ส่งจูบ ส่วนทางกายภาพ ทารกจะพัฒนาทักษะการหยิบสิ่งของ อาจใช้นิ้วและมือในการจับช้อนเพื่อรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำจากแก้วได้ดีขึ้น