วัยทารก เป็นวัยที่สำคัญของพัฒนาการทางร่างกาย สมอง สติปัญญา สังคม และอารมณ์ ผ่านการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวและการฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ตามช่วงอายุอย่างเหมาะสม โดยพ่อแม่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของทารก การดูแลทางร่างกายและโภชนาการอาหาร การป้องกันปัญหาสุขภาพทารกและการดูแลรักษาความปลอดภัยทั้งร่างกายและชีวิต
[embed-health-tool-vaccination-tool]
วัยทารก พัฒนาการที่สำคัญ
วัยทารก คือ วัยตั้งแต่แรกคลอดจนถึง 1 ปี ในช่วงวัยนี้นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการทางสมองและร่างกาย เป็นวัยแห่งการเรียนรู้และฝึกฝนจากสิ่งรอบตัวโดยเฉพาะจากพ่อแม่ เนื่องจาก วัยทารก ต้องการความรักและความอบอุ่นจากพ่อแม่ในการช่วยส่งเสริมพัฒนาการของทารกให้ดียิ่งขึ้น
พัฒนาการที่สำคัญของวัยทารก คือ การฝึกฝนทักษะด้านต่าง ๆ เช่น การยิ้มครั้งแรก การโบกมือ การเดินก้าวแรก โดยเรียนรู้ผ่านการพูด พฤติกรรมพ่อแม่ หรือคนรอบตัว ซึ่งทารกอาจแสดงพฤติกรรมเลียนแบบ โต้ตอบด้วยการพูด เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การชี้มือเพื่อสื่อสาร คลาน เดิน กระโดด ล้วนแล้วแต่เป็นทักษะที่เกิดขึ้นตามลำดับของพัฒนาการทารก โดยทารกแต่ละคนอาจมีพัฒนาการเร็วช้าแตกต่างกันไป
ในขวบปีแรก ทารกจะมีพัฒนาการทางสมองและสติปัญญาอย่างรวดเร็ว เป็นกระบวนการเรียนรู้ด้านภาษา ความคิด การใช้เหตุผลและความจำ ทารกอาจเริ่มพูดเพื่อสื่อสารถึงอารมณ์หรือความต้องการในขณะนั้น โดยอาจพูดโต้ตอบไม่เป็นคำหรืออาจพูดเป็นคำสั้น ๆ เช่น กิน หิว แม่หรือพ่อ รู้จักการฟังและทำความเข้าใจ จดจำชื่อคนหรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้มากขึ้น นอกจากนี้ พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ในวัยทารกนับเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ทารกจะเรียนรู้ถึงสายสัมพันธ์ ความไว้วางใจระหว่างพ่อแม่และคนรอบข้าง ผ่านการแสดงความรักด้วยการกอด การเล่นกับลูก การพูดคุยโต้ตอบกันระหว่างพ่อแม่กับทารก
วัยทารก และวิธีเสริมสร้างพัฒนาการที่เหมาะสม
วัยทารกเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้ คุณพ่อคุณแม่ควรมอบความรักและเสริมสร้างทักษะและพัฒนาการด้วยวิธีดังนี้
- พูดคุยกับทารกเป็นประจำ ตอบกลับเป็นคำเมื่อทารกส่งเสียงเพื่อสร้างพัฒนาการทางภาษา และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับทารก
- อ่านหนังสือให้ทารกฟัง เพื่อช่วยให้ทารกเข้าใจภาษาและการออกเสียง
- ร้องเพลงหรือเปิดเพลงให้ทารกฟัง เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง
- ให้ความรักความอบอุ่นกับทารกเสมอด้วยการกอดหรืออุ้ม เพื่อให้ทารกรู้สึกได้รับการดูแลและรู้สึกปลอดภัย
- ชื่นชมยินดีเมื่อทารกพัฒนาทักษะใหม่ เช่น กินอาหารด้วยตัวเอง หยิบสิ่งของส่งให้
- เล่นกับทารกเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและความสัมพันธ์
- เฝ้าระวังเมื่อทารกเคลื่อนไหวหรือหยิบจับสิ่งของเข้าปาก
วัยทารก และความปลอดภัยที่ควรใส่ใจ
นอกเหนือจากการเสริมสร้างพัฒนาการต่าง ๆ แล้ว ความปลอดภัยของทารกก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ควรดูแลทารกดังนี้
- จับทารกให้นอนหงายเสมอเพื่อป้องกันทารกเสียชีวิต เพราะทารกอาจยังไม่สามารถยกหัวขึ้นได้ เมื่อทารกพลิกตัวนอนคว่ำอาจทำให้ทารกหายใจไม่ออก
- การอุ้มทารก พ่อแม่ควรอุ้มทารกในท่าทางที่สบาย โดยพาดส่วนหัวของทารกไว้ที่หัวไหล่และควรประคองคอของทารกเสมอ ไม่ควรเขย่าทารก เพราะทารกมีกล้ามเนื้อคอที่อ่อนแอและยังไม่สามารถรองรับน้ำหนักของศีรษะได้ หากเขย่าทารกอาจทำให้สมองกระทบกระเทือนและอาจเสียชีวิตได้
- ไม่ควรให้ทารกเล่นกับสิ่งของที่เป็นอันตรายหรืออาจปิดหน้าทารก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและทารกหายใจไม่ออก
- เมื่อถึงวัยรับประทานอาหารได้ ควรป้องกันและระวังอย่าให้ทารกสำลัก โดยหั่นหรือบดอาหารให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ และไม่ควรวางสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ ที่ทารกสามารถหยิบเข้าปากเพราะอาจติดคอได้
- ไม่ควรถือน้ำหรืออาหารร้อนใกล้ทารกหรือขณะที่อุ้มทารก เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุน้ำร้อนลวกได้
- ไม่ควรสูบบุหรี่ในบ้าน เพราะควันบุหรี่มือสองเป็นอันตรายต่อสุขภาพทารกที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำอยู่มาก
- หากต้องให้ทารกเดินทางด้วยรถยนต์ ควรให้ทารกนั่งบนคาร์ซีทที่หันหน้าไปทางข้างหลังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และควรมีผู้ใหญ่นั่งดูแลทารกอย่างใกล้ชิด
- ควรให้ทารกรับวัคซีนป้องกันโรคให้ครบตามกำหนด เนื่องจากภูมิคุ้มกันของทารกยังอ่อนแอ การฉีดวัคซีนจึงอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคจากภายนอกได้ เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม วัคซีนป้องกันปอดติดเชื้อไอพีดี
วัยทารก กับโภชนาการส่งเสริมสุขภาพ
วัยทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ปีควรได้รับพลังงานและสารอาหารจากน้ำนมแม่เป็นอาหารหลัก เพราะน้ำนมแม่มีประโยชน์ต่อทารก ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหาร และลดอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด เมื่อทารกอายุประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี ความต้องการพลังงานและสารอาหารอาจเพิ่มขึ้น คุณแม่สามารถให้ทารกรับประทานอาหารชนิดอื่นเพิ่มได้ โดยรับประทานทานให้ครบ 5 หมู่ เช่น ผักและผลไม้บด ธัญพืชบดปรุงสุก ไข่ ไก่ ปลา ข้าว ขนมปัง น้ำมันรำข้าว ควรให้ทารกลองรับประทานอาหารทีละชนิดเป็นเวลา 3-5 วัน เพื่อสังเกตอาการแพ้ หากไม่มีอาการจึงให้รับประทานอาหารชนิดใหม่
สำหรับทารกอายุ 6-8 เดือน ควรให้รับประทานอาหารตามวัย 1-2 มื้อ/วัน และสำหรับทารกอายุ 9-12 เดือน ควรให้รับประทานอาหารตามวัย 2-3 มื้อต่อวัน พร้อมของว่างเพิ่มเติม 1-2 มื้อตามต้องการ
วัยทารก กับปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง
ปัญสุขภาพวัยทารกที่พบบ่อยและควรระวัง ดังนี้
- มีไข้ ในทารกแรกเกิด อาการมีไข้อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อร้ายแรง ทารกอาจมีอาการร้องไห้มากขึ้น ง่วงนอน หรือกระสับกระส่าย หากทารกมีอายุน้อยกว่า 1 เดือนมีไข้ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุโดยด่วน
- เป็นหวัด ทารกอาจเป็นหวัดบ่อย โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศชื้นหรือหนาวเย็น อาจมีอาการไอ จาม เจ็บคอ หรือความอยากอาหารลดลง การดื่มนม การพักผ่อน และให้ความอบอุ่นร่างกาย อาจช่วยให้ทารกสบายตัวขึ้น
- อาการแพ้ ระบบภูมิคุ้มกันในทารกอาจยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ทารกอาจเกิดอาการแพ้ได้ง่าย เช่น แพ้อาหาร ทำให้ทารกมีอาการท้องอืด ท้องเสีย และปวดท้อง รวมทั้งแพ้แมลงกัดต่อย ไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง ละอองเกสร จนเกิดผื่นแดง อาการคันตามผิวหนัง หากเกิดอาการแพ้ในทารก ควรรีบพาไปพบคุณหมอ
- ปัญหาผิวหนัง ทารกอาจมีผิวแห้ง รอยแตก หรือผิวเปลี่ยนสี ปัญหาเหล่านี้อาจหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์ ควรให้ความชุ่มชื้นกับผิวทารกอยู่เสมอด้วยการทาครีมบำรุงสำหรับผิวทารกโดยเฉพาะ
- ดีซ่าน เป็นปัญหาที่พบบ่อย ทารกอาจมีผิวเหลือง ตาเหลือง เนื่องจาก ตับของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่จึงมีระดับบิลิรูบิน (Bilirubin) อยู่มาก โดยเป็นสารที่เกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 1 สัปดาห์ หากยังมีอาการตัวเหลือง อุจจาระสีซีด ปัสสาวะสีเข้ม แนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์