backup og meta

จุกหลอก ข้อดีและข้อเสียในการใช้งานที่ควรรู้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/10/2022

    จุกหลอก ข้อดีและข้อเสียในการใช้งานที่ควรรู้

    เด็กทารกมักดูดหรืออมสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัวและใกล้มือ เนื่องจากการดูด หรือปฏิกิริยาการดูด (Sucking Reflex) เป็นปฏิกิริยาตอบสนองอย่างหนึ่งของทารกที่เกิดจากสัญชาตญาณในการหาอาหารตามธรรมชาติ อีกทั้งยังถือเป็นพัฒนาการตามวัยของเด็กด้วย พฤติกรรมนี้ทำให้บางครั้งเด็กทารกคว้าสิ่งของใกล้ตัวที่อาจเป็นอันตรายเข้าปากและส่งผลเสียต่อร่างกายได้ การใช้ จุกหลอก จึงอาจเป็นประโยชน์ในการช่วยให้ทารกสงบและผ่อนคลาย ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายและนานขึ้น และป้องกันการดูดนิ้วมือหรือสิ่งของอื่น ๆ ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ไม่ควรให้เด็กทารกใช้จุกหลอกเกินอายุ 6 เดือน และไม่ควรให้เด็กอายุเกิน 4 ปีใช้จุกหลอก เพราะอาจทำให้ติดจุกหลอกและทำให้ฟันน้ำนมงอกผิดรูปได้

    จุกหลอก คืออะไร

    จุกหลอก หรือจุกนมปลอม (Pacifier หรือ Dummy) คือ อุปกรณ์สำหรับให้ทารกอมหรือดูดแทนการดูดนมแม่หรือดูดนิ้วมือ จุกหลอกทำจากวัสดุหลากชนิด เช่น ซิลิโคน ยาง พลาสติก เป็นประโยชน์สำหรับทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการด้านการสัมผัสและมีนิสัยชอบดูด อมนิ้วมือ และนำสิ่งของเข้าปาก จุกหลอกอาจช่วยให้ทารกผ่อนคลาย ไม่ร้องไห้งอแงในขณะที่ไม่ได้กินนม อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้เด็กใช้จุกหลอกในระยะยาว เด็กควรใช้จุกหลอกไม่เกินอายุ 6 เดือน หรือมากสุดไม่เกิน 1 ปี เพราะหากใช้นานกว่านั้นอาจเกิดปัญหาเด็กติดจุกหลอก และไม่ให้เด็กที่อายุมากกว่า 4 ปีใช้จุกหลอก เพราะอาจทำให้มีปัญหาสุขภาพปากและฟัน เช่น ฟันขึ้นผิดรูป อาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับการพูดและการพัฒนาภาษา และส่งผลเสียต่อพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพได้

    ข้อดีของการใช้ จุกหลอก

    ข้อดีของการให้ทารกใช้จุกหลอก อาจมีดังนี้

    • อาจช่วยให้เด็กทารกรู้สึกสงบ การได้ดูดจุกหลอกอาจช่วยให้เด็กทารกรู้สึกสงบและร้องไห้งอแงน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อต้องเจอสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ หรือบรรยากาศที่ไม่คุ้นเคย เช่น เวลาขึ้นเครื่องบิน อีกทั้งการให้ทารกดูดจุกหลอกตอนอยู่บนเครื่องบินยังอาจช่วยไม่ให้ทารกเจ็บหูเมื่อความดันอากาศเปลี่ยนแปลง เมื่อเด็กรู้สึกสบายขึ้นก็อาจร้องไห้น้อยลงและไม่รบกวนคนรอบข้าง
    • อาจใช้เป็นอุปกรณ์เบี่ยงเบนความสนใจ จุกหลอกอาจช่วยให้เด็กทารกผ่อนคลายและช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กตอนที่ต้องไปฉีดวัคซีน เจาะเลือด หรือไปพบคุณหมอตามนัดหมาย
    • อาจช่วยป้องกันเด็กดูดนิ้วมือและหยิบของเข้าปาก เด็กทารกมักใช้มือและนิ้วมือสัมผัสสิ่งของรอบตัวเป็นประจำ มือและนิ้วมือจึงปนเปื้อนเชื้อโรคและสิ่งสกปรก และเมื่อเด็กดูดนิ้วมือก็ทำให้เชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่เข้าสู่ร่างกายจนทำให้ป่วยได้ นอกจากนี้ ทารกยังชอบหยิบจับสิ่งของรอบตัวเข้าปาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากคุณพ่อคุณแม่ให้เด็กทารกใช้จุกหลอกอาจช่วยป้องกันทารกดูดนิ้วมือและหยิบสิ่งของต่าง ๆ เข้าปากได้
    • อาจส่งผลดีต่อการนอนหลับ การดูดจุกหลอกอาจช่วยให้ทารกหลับได้ง่ายขึ้นและหลับได้นานขึ้นได้
    • อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคไหลตาย โรคไหลตายในเด็ก (Sudden Infant Death Syndrome หรือ SIDS) เป็นโรคที่เกิดจากมีสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจของเด็กทารก จนทำให้เด็กหายใจไม่ออกและเสียชีวิตในที่สุด แต่เมื่อเด็กทารกดูดจุกหลอกขณะหลับ ตำแหน่งลิ้นของเด็กจะยื่นออกมาข้างหน้า จึงไม่เสี่ยงเกิดเหตุการณ์ลิ้นปิดกั้นทางเดินหายใจ ทั้งยังช่วยป้องกันสิ่งของต่าง ๆ ลงคอเด็กจนทำให้เด็กหายใจไม่ออก ทั้งนี้ ควรเลือกขนาดของจุกหลอกให้พอดี ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป เพื่อให้ใช้งานได้ดีและไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

    ข้อเสียของการใช้ จุกหลอก

    ข้อเสียของการใช้จุกหลอก อาจมีดังนี้

    • ทารกอาจงอแงเมื่อไม่ได้ดูดจุกหลอก หากจุกหลอกหลุดจากปาก อาจทำให้ทารกร้องไห้งอแงได้ โดยเฉพาะขณะนอนหลับในตอนกลางคืน
    • อาจเสื่ยงหูติดเชื้อ การดูดจุกหลอกอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) หรือท่อปรับแรงดันหูเปิดปิดผิดปกติ จนสารคัดหลั่งจากคอซึมเข้าหูชั้นกลางและทำให้ติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการใช้จุกหลอกที่พบได้ไม่บ่อยนัก
    • อาจรบกวนการให้นมจากเต้า เด็กทารกอาจติดจุกหลอกจนไม่ยอมกินนมจากเต้าตามปกติ จึงควรรอให้เด็กมีอายุอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ก่อนจึงค่อยเริ่มใช้จุกหลอก หรือหากทารกดื่มนมจากขวดนมอยู่แล้วก็สามารถใช้จุกหลอกร่วมกันได้เลย
    • อาจสกปรกได้ง่าย เด็กอาจพ่นจุกหลอกทิ้งจนจุกหลอกหล่นพื้นและสกปรก หากหยิบไปดูดโดยไม่ทำความสะอาดก่อน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
    • อาจทำให้ฟันมีปัญหา หากเด็กดูดจุกหลอกนานเกินไป โดยเฉพาะการดูดจุกหลอกไปจนถึงวัยฟันขึ้น อาจส่งผลต่อการเรียงตัวของฟัน ทำให้ฟันขึ้นผิดรูป ฟันเหยิน ฟันหน้าไม่สบกัน เป็นต้น

    การใช้จุกหลอกอย่างถูกวิธี

    การใช้จุกหลอกอย่างถูกวิธี อาจทำได้ดังนี้

    • หากเด็กทารกร้องไห้งอแง ควรลองปลอบด้วยการอุ้มหรือเปลี่ยนท่าทางเพื่อปลอบให้ทารกรู้สึกผ่อนคลายและปลอดภัย หากไม่ได้ผลจึงค่อยลองให้เด็กดูดจุกหลอก วิธีนี้อาจช่วยไม่ให้เด็กใช้จุกหลอกบ่อยจนติด
    • ควรเลือกซื้อจุกหลอกที่เป็นแบบชิ้นเดียว เช่น จุกหลอกซิลิโคนทั้งชิ้น เนื่องจากจุกหลอกบางยี่ห้อที่เป็นแบบสองชิ้นติดกันอาจเสี่ยงหลุดเข้าคอหรือทำให้สำลักได้
    • ควรเลือกจุกหลอกที่มีขนาดใหญ่กว่าปากของเด็กทารกเล็กน้อย ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป เพราะอาจทำให้สำลักได้
    • ควรทำความสะอาดจุกหลอกบ่อย ๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมสะสมจนเป็นอันตรายต่อเด็กได้ จุกหลอกสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ให้ทำความสะอาดโดยการต้มในน้ำร้อนอย่างน้อย 5 นาทีหรือล้างด้วยเครื่องล้างจาน ส่วนจุกหลอกสำหรับเด็กอายุมากกว่า 6 เดือน ให้ล้างด้วยสบู่ จากนั้นล้างน้ำเปล่าให้สะอาด
    • ไม่ควรอมหรือดูดจุกหลอกก่อนให้ทารกนำไปดูดต่อ เพราะอาจแพร่เชื้อโรคไปยังทารกได้
    • ควรเลือกจุกหลอกที่ทำจากวัสดุที่ปลอดภัย ยืดหยุ่นได้ดี ไม่ฉีกขาดง่าย ทนทานต่อการกัดทึ้ง ทำความสะอาดได้ง่าย และทนความร้อน
    • ควรเลือกจุกหลอกที่เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด และควรสังเกตว่าทารกมีอาการแพ้วัสดุใดหรือไม่ หากแพ้ควรเปลี่ยนไปใช้จุกหลอกที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ
    • หากเด็กทารกไม่อยากดูดหรืออมจุกหลอกก็ไม่ควรบังคับหรือยัดจุกหลอกเข้าปากเด็ก
    • ควรเปลี่ยนจุกหลอกทุก ๆ 1-2 เดือน โดยเฉพาะเมื่อจุกหลอกเสื่อมสภาพ และควรเลือกขนาดของจุกหลอกตามวัยของเด็กด้วย
    • หลีกเลี่ยงการติดจุกหลอกกับเชือกหรือสายรัดเพื่อคล้องคอเด็ก เพราะเชือกอาจรัดคอทารกขณะหลับหรือตอนที่ผู้ใหญ่ไม่เห็นได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา