backup og meta

การเก็บน้ำนมให้อยู่ได้นาน สำหรับคุณแม่มือใหม่

การเก็บน้ำนมให้อยู่ได้นาน สำหรับคุณแม่มือใหม่

ทารกจำเป็นต้องกินนมทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 6 เดือนเป็นอย่างต่ำ การเก็บน้ำนม ด้วยการปั๊มนมหรือบีบนมจากเต้าเก็บไว้ใช้งานภายหลังจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคุณแม่ไม่สะดวกให้นมจากเต้า โดยทั่วไป สามารถเก็บน้ำนมแม่ในช่องแช่แข็งได้นาน 12 เดือน เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดาได้ไม่เกิน 4 วัน และไม่เกิน 4 ชั่วโมงเมื่อปั๊มนมแล้วนำมาวางในอุณหภูมิปกติหรืออุณหภูมิห้อง ทั้งนี้ เมื่อเปิดถุงเก็บน้ำนมแล้วเทน้ำนมแม่ใส่ขวดนมให้ทารกกินแล้ว ควรให้ทารกกินนมในขวดหรือนมจากถุงนั้นให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารจากน้ำนมแม่มากที่สุด

[embed-health-tool-vaccination-tool]

น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน

ระยะเวลาในการเก็บน้ำนมแม่จะแตกต่างไปตามสถานที่และอุณหภูมิที่เก็บน้ำนม โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้ดังนี้

  • เก็บน้ำนมในอุณหภูมิห้อง ที่อุณหภูมิไม่เกิน 26 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้นาน 4 ชั่วโมง แต่ควรนำมาใช้ให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะในวันที่อากาศร้อนเพราะอาจเร่งให้น้ำนมเสียได้เร็วขึ้น
  • เก็บน้ำนมในถังน้ำแข็ง สามารถเก็บได้นาน 24 ชั่วโมง นิยมใช้เมื่อต้องเดินทางและไม่สามารถเก็บน้ำนมไว้ในภาชนะที่อุณหภูมิคงที่ได้ ทั้งนี้ ควรรีบใช้ให้เร็วที่สุด ก่อนที่คุณภาพของน้ำนมจะลดลง
  • เก็บน้ำนมในตู้เย็น ที่อุณหภูมิ 0-3.9 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้นาน 4 วัน เหมาะสำหรับการเก็บน้ำนมที่ใกล้จะนำไปใช้ ควรวางภาชนะใส่น้ำนมไว้ชิดด้านในสุดของตู้เย็น ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความเย็นสูงสุด หลีกเลี่ยงการแช่น้ำนมไว้ที่ฝาตู้เย็น เพราะการเปิดปิดตู้เย็นในแต่ละวันอาจทำให้อุณหภูมิในตู้เย็นบริเวณฝาตู้ไม่คงที่ ส่งผลให้น้ำนมเสื่อมสภาพเร็วกว่าเดิม
  • เก็บน้ำนมในช่องแช่แข็ง ที่อุณหภูมิไม่เกิน -18 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้นานสุด 12 เดือน แต่ทางที่ดี ควรนำมาใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน และควรแช่น้ำนมไว้ด้านในสุดของช่องแช่แข็ง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความเย็นสูงสุด เพื่อให้น้ำนมมีอุณหภูมิคงที่ ควรปั๊มนมแล้วเก็บในช่องแช่แข็งทันที เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนมให้อยู่ได้นานที่สุด

การเก็บน้ำนม อย่างถูกวิธี

วิธีเก็บน้ำนมอย่างถูกต้องและปลอดภัย อาจมีดังนี้

  • ก่อนบีบน้ำนมด้วยมือหรือใช้เครื่องปั๊มน้ำนม ควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ และล้างภาชนะที่จะใช้บรรจุน้ำนมให้สะอาด หรือใช้ถุงเก็บน้ำนมใบใหม่ทุกครั้ง
  • หากต้องการเก็บน้ำนมในช่องแช่แข็ง ไม่ควรบรรจุน้ำนมจนปริ่มปากขวดหรือปากถุง เนื่องจากเมื่อน้ำนมแข็งตัวแล้วจะขยายตัวจนล้นออกจากภาชนะ อาจทำให้ขวดหรือถุงปริและแตกได้
  • บรรจุน้ำนมลงภาชนะ เช่น ถุงเก็บน้ำนม ในปริมาณที่ทารกสามารถกินได้อย่างเพียงพอในแต่ละมื้อ เพื่อให้สามารถใช้น้ำนมในภาชนะนั้น ๆ หมดได้ในครั้งเดียว น้ำนมจะได้ไม่เสียเปล่า หากมีน้ำนมค้างขวดควรป้อนนมให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง หากเกินจากนั้นให้ทิ้งทันทีไม่ควรนำมาใช้ซ้ำ
  • สำหรับน้ำนมที่แช่แข็งในช่องแช่แข็ง ควรละลายและอุ่นอย่างถูกวิธีก่อนนำมาให้ทารกกิน น้ำนมแช่แข็งที่ละลายแล้วสามารถนำไปแช่ไว้ในตู้เย็นช่องปกติได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่ไม่ควรนำไปแช่แข็งซ้ำ
  • ควรติดฉลากบอกวันที่ปั๊มน้ำนมและวันหมดอายุไว้บนถุงบรรจุน้ำนม และควรใช้น้ำนมถุงที่เก่าที่สุดก่อน

วิธีละลายและอุ่นน้ำนม

การละลายนมแช่แข็งและอุ่นน้ำนมอย่างถูกวิธี อาจทำได้ดังนี้

  • วางภาชนะบรรจุน้ำนมในภาชนะบรรจุน้ำอุ่น แล้วหมุนภาชนะในน้ำไปเรื่อย ๆ จนน้ำนมละลาย หลีกเลี่ยงการใช้น้ำที่มีอุณหภูมิสูงเกินไปเพราะอาจนำให้น้ำนมร้อนจนลวกปากทารกได้
  • ย้ายภาชนะบรรจุน้ำนมจากช่องแช่แข็งไปไว้ช่องแช่เย็นในจุดที่ชิดด้านในตู้เย็นมากที่สุด ประมาณ 1 วันก่อนนำออกมาให้ทารกกิน
  • หลีกเลี่ยงการละลายน้ำนมแช่แข็งด้วยการนำไปอุ่นในไมโครเวฟ เนื่องจากความร้อนอาจทำลายโปรตีนในนมแม่ได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tips for Freezing & Refrigerating Breast Milk. https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/baby/breastfeeding/Pages/Storing-and-Preparing-Expressed-Breast-Milk.aspx. Accessed October 6, 2022

Pumping and storing breastmilk. https://www.womenshealth.gov/breastfeeding/pumping-and-storing-breastmilk. Accessed October 6, 2022

Breastfeeding: How to Pump and Store Your Breast Milk. https://familydoctor.org/breastfeeding-how-to-pump-and-store-your-breast-milk/. Accessed October 6, 2022

Breast Milk: Storing. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/12255-breast-milk-storing. Accessed October 6, 2022

How to Store Your Breast Milk. https://www.webmd.com/baby/how-to-store-your-breast-milk. Accessed October 6, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/12/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เก็บ น้ำนม อย่างไรให้คุณภาพดี ไม่บูดง่าย

ปั๊มนม ให้ถูกวิธีควรทำอย่างไร และวิธีเก็บน้ำนมแม่ที่เหมาะสม


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา