backup og meta

หย่านม อย่างไรให้ถูกวิธี และควรให้เด็กหย่านมเมื่อไหร่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    หย่านม อย่างไรให้ถูกวิธี และควรให้เด็กหย่านมเมื่อไหร่

    การ หย่านม คือ การให้ลูกเลิกกินนมแม่หลังจากลูกกินนมแม่เป็นระยะเวลาหนึ่ง คุณแม่อาจหยุดให้นมจากเต้าและเปลี่ยนมาปั๊มนมใส่ขวดให้เด็กกินแทน การหย่านมอาจทำได้ด้วยการค่อย ๆ ลดความถี่ในการให้นมจากเต้าและสอนให้เด็กรู้จักการกินนมจากขวดแทน ทั้งนี้ควรให้เด็กกินนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่เพียงพอจากน้ำนมแม่

    ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการ หย่านม

    โดยปกติ เด็กทารกควรดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึงอายุประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นอาจให้เด็กรับประทานอาหารอ่อน ๆ อย่างอื่น เช่น กล้วยบด ผักสุกบด ปลาต้มบด ผลไม้ หรือนมผง ควบคู่กับการกินนมแม่ เพื่อเสริมโภชนาการให้กับเด็ก หากเป็นไปได้ อาจให้เด็กกินนมแม่อย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป ได้หากมารดายังมีน้ำนมเพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์จากนมแม่มากที่สุด แต่ต้องรับประทาน อาหารตามวัยควบคู่ไปด้วย

    ช่วงอายุในการหย่านมแม่ของเด็กแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณแม่และความต้องการของตัวเด็กเอง เช่น คุณแม่จำเป็นต้องกลับไปทำงาน คุณแม่ไม่สะดวกปั๊มนมและเลือกใช้นมผงแทน ปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถให้นมจากเต้าได้อีกต่อไป หรือเด็กมีท่าทีสนใจอาหารอื่นมากกว่านมแม่ เด็กบางคนอาจหย่านมแม่ ตั้งแต่อายุไม่ถึง 6 เดือน และเปลี่ยนมากินนมผงจากขวดนมแทน ในขณะที่บางคนอาจกินนมแม่จากเต้าถึงอายุ 6 เดือนจึงเปลี่ยนเป็นกินนมแม่จากขวดนมจนอายุครบปี ทั้งนี้ สามารถให้เด็กเริ่มใช้ขวดนมเมื่อเด็กอายุอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ และควรหย่านมทั้งจากเต้านมและขวดนมเมื่ออายุ 2 ปีขึ้นไป

    สัญญาณที่แสดงว่าเด็กพร้อม หย่านม

    สัญญาณที่แสดงว่าเด็กสามารถหย่านมจากเต้าและพร้อมกินอาหารชนิดอื่นแล้ว อาจมีดังนี้

  • เด็กเลิกทำท่าแลบลิ้น ซึ่งเป็นท่าที่ช่วยให้ดูดนมแม่ได้สะดวกขึ้น
  • เด็กสามารถยกศีรษะเองได้โดยไม่ต้องให้ช่วย
  • เด็กมองผู้ใหญ่กินอาหารด้วยท่าทางสนใจ
  • เด็กแสดงท่าทางหรือส่งเสียงที่แสดงให้เห็นว่าต้องการกินอาหาร
  • เด็กอ้าปากค้างและเลียนแบบท่าทางการกินอาหารของผู้ใหญ่
  • เคล็ดลับการหย่านมแม่อย่างถูกวิธี

    การหย่านมจากเต้าอย่างถูกวิธี อาจทำได้ดังนี้

    • ค่อย ๆ ลดความถี่การให้นมโดยอาจเริ่มเปลี่ยนจากให้กินนมทุกวันเป็น 2-3 วัน/สัปดาห์ เพื่อให้ทารกค่อย ๆ ปรับตัวและร่างกายของคุณแม่ผลิตน้ำนมน้อยลง หลีกเลี่ยงการหย่านมกะทันหัน เพราะอาจทำให้เด็กไม่คุ้นชินและทำให้คุณแม่มีอาการคัดตึงเต้านมหรือเต้านมอักเสบได้
    • หากต้องการให้เด็กหย่านมแม่จากเต้าและกินนมจากขวดนมแทน คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กค่อย ๆ ทำความคุ้นเคยกับขวดนมด้วยการนำขวดนมไปวางไว้ใกล้ปากหรือใช้จุกขวดนมเขี่ยริมฝีปากของเด็กเบา ๆ เด็กจะเริ่มดูดจุกนมตามสัญชาตญาณและคุ้นเคยกับการกินนมจากขวดนมแทนการดูดนมจากเต้า หากเด็กไม่ยอมดูดนมจากขวดนม ไม่ควรบังคับแต่ควรรอสักพักค่อยให้เด็กลองดูดนมจากขวดอีกครั้ง
    • ในขณะนั่งกินอาหาร ควรให้เด็กนั่งเก้าอี้สูงที่มีสายรัดเพื่อความปลอดภัย หรือให้เด็กนั่งตักโดยหันหน้าเข้าหาผู้ใหญ่
    • ให้เด็กเริ่มกินอาหารอ่อนได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยอาจให้กินทีละอย่างเป็นเวลา 2-3 วัน แล้วเปลี่ยนเป็นเมนูใหม่ไปเรื่อย ๆ หลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาลและเกลือลงในอาหาร

    วิธีบรรเทาอาการคัดตึงเต้านมหลังลูกหย่านม

    หลังลูกหย่านม เต้านมของคุณแม่อาจมีอาการคัดตึง ปวดหรือบวมเนื่องจากต่อมน้ำนมยังผลิตน้ำนมอยู่ จึงอาจมีน้ำนมคั่งค้างอยู่ในเต้านม ซึ่งบรรเทาอาการได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

    • ปั๊มนมออกจากเต้าด้วยมือหรือที่ปั๊มนมจนกว่าจะรู้สึกคัดตึงเต้านมน้อยลง แต่ไม่ควรปั๊มนมออกมามากเกินไป เพราะอาจยิ่งกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมผลิตน้ำนมออกมา และทำให้หย่านมได้ช้าลง
    • สวมชุดชั้นในที่สวมใส่สบาย พอดีกับสรีระ ไม่หลวมเกินไปหรือรัดแน่นจนรู้สึกอึดอัด
    • ใช้แผ่นเจลเย็นประคบบริเวณเต้านมที่ปวดบวมเพื่อบรรเทาอาการ
    • หมั่นสำรวจบริเวณเต้านมอยู่เสมอ หากพบว่ามีรอยแดงหรือมีก้อนที่สัมผัสแล้วเจ็บ อาจเป็นสัญญาณของภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis) ควรไปพบคุณหมอทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา