backup og meta

อาหารเด็กทารก ที่เหมาะสมสำหรับลูกน้อย มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/10/2022

    อาหารเด็กทารก ที่เหมาะสมสำหรับลูกน้อย มีอะไรบ้าง

    อาหารเด็กทารก เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เนื่องจากทารกเป็นช่วงวัยที่ต้องการพลังงานจากอาหาร เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการทางสมอง ดังนั้น เด็กทารกควรได้รับสารอาหารจากอาหารที่หลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะและเหมาะสมกับช่วงอายุ เพื่อพัฒนาการที่ดีของเด็กทารก

    อาหารเด็กทารก ที่เหมาะสมตามช่วงอายุ

    เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกายและสมองของเด็กทารก คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้อาหารเด็กทารก ดังนี้

    อาหารเด็กทารกแรกเกิดถึง 4 เดือน

    เด็กทารกแรกเกิดถึง 4 เดือน มีความต้องการอาหารเป็นอย่างมาก แต่สามารถดื่มได้แค่นมแม่หรือนมผงเท่านั้น เนื่องจากระบบย่อยอาหารของเด็กทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงไม่สามารถย่อยอาหารแข็งได้ ส่งผลให้ใน 1 วันเด็กทารกต้องดื่มนมบ่อย ๆ ดังนั้น จึงควรให้นมแม่กับเด็กทารก 1-2 ออนซ์ ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ประมาณ 8-12 ครั้ง/วัน เพื่อให้เด็กทารกได้รับสารอาหารและพลังงานที่เพียงพอ

    สำหรับเด็กทารกที่ต้องกินนมผง คุณแม่สามารถให้นมเด็กแรกเกิดในช่วง 2-3 วันแรก ประมาณ 1-2 ออนซ์ ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ประมาณ 8-12 ครั้ง/วัน และหลังจากนั้นสามารถให้นมผงเพิ่มเป็น 2-3 ออนซ์ ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ประมาณ 7-8 ครั้ง/วัน

    นอกจากนี้ หากทารกแสดงอาการหิวนม เช่น ร้องไห้งอแง เลียริมฝีปาก อ้าปากค้าง หันหัวไปมาเพื่อหาอาหาร ดูดมือหรือสิ่งของ มีอาการตื่นตัวมาก คุณแม่อาจให้เด็กทารกดื่มนมเพิ่มได้ตามความเหมาะสม

    อาหารเด็กทารกอายุ 4-6 เดือน

    เด็กทารกในช่วงอายุนี้อาจพร้อมที่จะกินอาหารแข็งได้แล้ว โดยอาจสังเกตความพร้อมของเด็กได้ ดังนี้

    • เด็กทารกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน้อย 5 กิโลกรัม
    • เด็กทารกสามารถยกศีรษะขึ้นได้เอง และสามารถนั่งตัวตรงบนเก้าอี้ได้
    • เด็กทารกสามารถอ้าปากและกัดสิ่งของได้ดีขึ้น
    • เด็กทารกสามารถใช้มือหยิบจับและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้มากขึ้น

    คุณแม่อาจให้อาหารเด็กทารกอายุ 4-6 เดือน ควบคู่ไปกับการให้นมแม่หรือนมผง 4-6 ออนซ์ เป็นอาหารหลัก ประมาณ 5-6 ครั้ง/วัน หากเด็กทารกสามารถเริ่มกินอาหารแข็งได้ สามารถเสริมอาหารแข็งที่มีเพียงส่วนผสมเดียวในช่วงแรกประมาณ 1-2 ช้อนชา และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 1-2 ช้อนโต๊ะ เมื่อเด็กเริ่มเคยชินกับอาหาร เช่น

    • ผักและผลไม้บดละเอียด เช่น ถั่ว แครอท กล้วย แอปเปิ้ล ลูกพีช
    • เนื้อสัตว์บดละเอียด เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู
    • ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับเด็ก

    อาหารเด็กทารกอายุ 6-8 เดือน

    เด็กทารกในช่วงอายุนี้สามารถให้อาหารแข็งเพื่อเสริมสารอาหารให้กับร่างกายทารกได้แล้ว แต่ก็ยังควรให้นมแม่หรือนมผง 6-8 ออนซ์ เป็นอาหารหลัก ประมาณ 4-5 ครั้ง/วัน และอาจเสริมเป็นอาหารแข็งอื่น ๆ เช่น

    • ผักและผลไม้บด 2-3 ช้อนโต๊ะ และอาจค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 4-8 ช้อนโต๊ะ เมื่อเด็กทารกเริ่มเคยชินกับอาหาร เช่น กล้วย ลูกแพร์ แอปเปิ้ล ลูกพีช อะโวคาโด แครอท มันเทศที่ปรุงสุก
    • เนื้อสัตว์บด 1-2 ช้อนโต๊ะ และอาจค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 2-4 ช้อนโต๊ะ เมื่อเด็กทารกเริ่มเคยชินกับอาหาร เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา
    • ไข่ไก่ต้มสุกโดยเริ่มจากไข่แดงก่อน หากไม่แสดงอาการแพ้ เช่น เกิดผื่นลมพิษ ในระยะเวลา 3-4 วัน สามารถเริ่มไข่ขาวต้มสุกได้เป็นลำดับถัดไป และสังเกตอาการแพ้ต่อ
    • ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ธัญพืช เต้าหู้บด และพืชตระกูลถั่วปรุงสุกบด 1-2 ช้อนโต๊ะ และอาจค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 2-4 ช้อนโต๊ะ เมื่อเด็กทารกเริ่มเคยชินกับอาหาร เช่น ซีเรียล ข้าวโอ๊ต ขนมปัง ขนมปังกรอบบดผสมนมแม่หรือนมผง

    เมื่อเด็กทารกเริ่มเคยชินกับการกินอาหารแข็งมากขึ้นภายในอายุ 8 เดือน อาจเพิ่มความถี่ในการกินอาหารแข็งได้เป็น 1-2 มื้อ/วัน

    อาหารเด็กทารกอายุ 8-12 เดือน

    เด็กในช่วงอายุนี้จะเริ่มมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน มือ และนิ้วมือมากขึ้น จึงอาจมีความพร้อมในการกินอาหารแข็งและอาจเริ่มฝึกใช้ช้อนเพื่อกินอาหารได้เอง โดยสามารถสังเกตพฤติกรรมความพร้อมได้ดังนี้

  • เด็กทารกสามารถหยิบจับสิ่งของด้วยนิ้วมือได้มากขึ้น
  • เด็กทารกสามารถส่งสิ่งของจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้
  • เด็กทารกสามารถขยับกรามในท่าบดเคี้ยวอาหารได้ดีมากขึ้น และสามารถกลืนอาหารได้ง่ายขึ้น
  • เด็กทารกไม่ใช้ลิ้นดันหรือคายอาหารออกจากปาก
  • เด็กทารกพยายามฝึกใช้ช้อนด้วยตัวเอง
  • อาจให้อาหารเด็กทารกในวัย 8-12 เดือน ด้วยนมแม่หรือนมผง 6-8 ออนซ์ ประมาณ 3-4 ครั้ง/วัน และสามารถเสริมด้วยอาหารแข็ง 3 มื้อ/วัน รวมทั้งอาจให้อาหารว่างระหว่างมื้อเพิ่มเติมได้ ดังนี้

    • ผักลวกขนาดพอดีคำประมาณ 1/2-3/4 ถ้วย เช่น แครอท มันฝรั่ง มันเทศ
    • ผลไม้บดหรือหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ พอดีคำประมาณ 1/2-3/4 ถ้วย เช่น กล้วย ลูกพีช ลูกแพร์ อะโวคาโด องุ่น
    • เสริมโปรตีนปรุงสุกบดหรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำประมาณ 1/4-1/2 ถ้วย เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู เต้าหู้ ถั่วต่าง ๆ
    • อาหารเสริมและธัญพืชปรุงสุกบดประมาณ 1/4-1/2 ถ้วย เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ธัญพืช
    • อาหารว่าง เช่น ไข่คน มันฝรั่งปรุงสุก ขนมปังกรอบบดผสมนม

    อาหารเด็กทารกอายุ 12 เดือนขึ้นไป

    เด็กในช่วงอายุนี้กำลังเข้าสู่วัยหัดเดิน จึงควรรับประทานอาหาร 3 มื้อ/วัน และอาหารว่าง 2-3 มื้อ/วัน ที่ประกอบด้วยสารอาหารที่หลากหลายทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินและเกลือแร่ ดังนี้

    • อาหารประเภทโปรตีนอย่างน้อย 1 มื้อ/วัน หรือประมาณ 1.2 กรัม/น้ำหนักตัว/วัน เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา ไข่ ถั่วต่าง ๆ
    • อาหารประเภทแป้งอย่างน้อย 4 ถ้วย/วัน หรือควรได้รับพลังงาน 100 กิโลแคลอรี่/น้ำหนักตัว/วัน เช่น ข้าว ขนมปัง
    • ผักและผลไม้อย่างน้อย 4 ถ้วย/วัน เช่น กล้วย ลูกพีช แอปเปิ้ล องุ่น บร็อคโคลี่ แครอท แตงกวา
    • เมื่อเด็กทารกอายุครบ 1 ปีขึ้นไป สามารถให้ดื่มนมวัวได้ โดยควรให้ดื่มนมอย่างน้อย 350 มิลลิลิตร หรือผลิตภัณฑ์จากนมอื่น ๆ เช่น โยเกิร์ต เนย ชีส นมถั่วเหลือง แต่หากเด็กแพ้นมวัวควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมวัวหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมวัว สามารถให้เด็กดื่มนมวัวที่ระบุว่าปราศจากแลคโตส หรือนมถั่วเหลืองที่ได้รับการเติมสารอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กสูตรเฉพาะสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป
    • ควรให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอประมาณ 1-1.5 ลิตร/วัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา