backup og meta

ครีมอาบน้ำเด็ก ควรเลือกซื้ออย่างไร และวิธีอาบน้ำเด็กอย่างปลอดภัย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    ครีมอาบน้ำเด็ก ควรเลือกซื้ออย่างไร และวิธีอาบน้ำเด็กอย่างปลอดภัย

    ครีมอาบน้ำเด็ก เป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ควรเลือกซื้อโดยคำนึงถึงคุณสมบัติในการทำความสะอาดผิว และความปลอดภัยต่อผิวของเด็กเป็นสำคัญ อาจเลือกที่มีส่วนผสมที่อ่อนโยน และควรหลีกเลี่ยงสารเคมีบางชนิดที่อาจระคายผิวเด็ก เช่น พาราเบน น้ำหอม สารกลุ่มพาทาเลต หากพบว่าเด็กมีผื่นคัน ผิวลอกแดง เป็นต้น อาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้ครีมอาบน้ำ ควรให้เด็กเลิกใช้ครีมอาบน้ำนั้นทันที และปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีบรรเทาอาการที่เหมาะสม นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาวิธีการอาบน้ำเด็กอย่างปลอดภัย เช่น การติดตั้งอุปกรณ์กันลื่นไว้ในห้องน้ำ การเช็ดเท้าเด็กให้แห้งสนิทหลังอาบน้ำ ซึ่งอาจมีส่วนช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในห้องน้ำได้

    วิธีเลือก ครีมอาบน้ำเด็ก

    วิธีเลือกครีมอาบน้ำเด็กที่เหมาะสม อาจมีดังต่อไปนี้

    • อ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด เลือกครีมอาบน้ำที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีหรือน้ำหอมที่อาจระคายผิวหนังและการหายใจของเด็ก บางยี่ห้ออาจระบุว่าเป็นแบบ ไฮโปอัลโลจีนิก (Hypo-Allergenic) ซึ่งหมายถึงผ่านการทดสอบทางการแพทย์แล้วว่าอ่อนโยน อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้และการระคายเคือง หรือเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นออร์แกนิก
    • เลือกครีมอาบน้ำเด็กมีส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น ว่านหางจระเข้ เชียบัตเตอร์ (Shea Butter) น้ำมันมะกอก ซึ่งมีคุณสมบัติที่อ่อนโยนต่อผิว และอาจปลอดภัยกับเด็กมากกว่า
    • หลีกเลี่ยงสารสกัดบางชนิด ไม่เลือกใช้ครีมอาบน้ำเด็กที่มีส่วนผสมจากสารกลุ่มพาทาเลต (Phthalates) ซึ่งใช้เป็นวัตถุกันเสียที่มักใช้ในครีมอาบน้ำและแชมพู และพาราเบน (Parabens) ที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กและการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย
    • ทดลองกับผิวก่อนใช้จริง เมื่อซื้อครีมอาบน้ำเด็กมาใช้เป็นครั้งแรก ควรนำไปทดสอบบนผิวเด็กก่อนเล็กน้อย อาจหยดลงบริเวณแขน เพื่อดูว่าก่อให้เกิดอาการแพ้ คัน ระคายเคืองหรือไม่ ก่อนนำไปใช้ชโลมลงผิวเด็กในตอนอาบน้ำ แต่ในบางครั้งหากมีผื่นขึ้นหลังจากอาบน้ำอาจพิจารณางดใช้ในครั้งต่อไป
    • ไม่ต้องมีส่วนผสมหลากหลาย ครีมอาบน้ำที่มีส่วนผสมหลายชนิดอาจไม่ได้ช่วยทำความสะอาดผิวได้ดีกว่า ทั้งยังอาจทำให้ผิวเด็กระคายเคืองได้จากการสัมผัสกับสารเคมีมากเกินไป การเลือกครีมอาบน้ำที่อ่อนโยน ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวก็อาจเพียงพอในการทำความสะอาดผิวของเด็กแล้ว และควรอาบน้ำให้เด็กเพียง 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ผิวของเด็กแห้งเกินไป ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพอากาศ ถ้าร้อนเกินไปอาจอาบวันละ 2 ครั้งก็ได้

    วิธีการอาบน้ำเด็กอย่างปลอดภัย

    วิธีการอาบน้ำให้เด็กอย่างปลอดภัย อาจมีดังนี้

    ไม่ทิ้งเด็กไว้ลำพังเป็นอันขาด ระหว่างการอาบน้ำให้เด็ก ไม่ควรละสายตาจากเด็ก และไม่ควรทิ้งให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีอยู่คนเดียวเป็นอันขาด เนื่องจากอาจเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด เช่น การจมน้ำ การสำลักน้ำ การลื่นล้มเพราะพื้นเปียกน้ำหรือสบู่ คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมของทุกอย่างที่ต้องใช้ เช่น ผ้าเช็ดตัวเด็ก สบู่สระผมเด็ก ครีมอาบน้ำเด็ก ให้พร้อม อยู่ในระยะที่เอื้อมถึง และหยิบใช้ได้ทันที ไม่เปิดน้ำใส่อ่างเยอะจนเกินไป

    ติดตั้งอุปกรณ์กันลื่นไว้ในห้องน้ำ ควรเพิ่มความปลอดภัยให้กับบริเวณที่ใช้อาบน้ำเด็กด้วยการซื้ออุปกรณ์กันลื่นมาใช้งาน เช่น ใช้แผ่นยางกันลื่นบริเวณพื้นห้องน้ำป้องกันการลื่นล้ม เลือกอ่างน้ำที่มีฐานกันลื่นป้องกันไม่ให้อ่างขยับ ติดตั้งขอบกันลื่นรอบอ่างช่วยให้เด็กจับได้ถนัด วิธีเหล่านี้อาจลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุขณะอาบน้ำเด็ก และมักจะทำให้ผิวแห้งได้

    ตรวจสอบอุณหภูมิน้ำก่อน คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ข้อศอกหรือหลังมือแตะน้ำเพื่อทดสอบอุณหภูมิก่อนนำเด็กลงน้ำ อุณหภูมิน้ำที่พอเหมาะสำหรับอาบน้ำเด็ก คือ ไม่เกิน 48 องศาเซลเซียส อย่าให้เด็กอาบน้ำร้อนเกินไป เพราะอาจลวกผิวเด็กได้

    หลีกเลี่ยงฟองสบู่และฟองน้ำ การใช้ครีมอาบน้ำเด็กที่ทำให้เกิดฟองเยอะ ๆ อาจระคายผิวที่บอบบางของเด็กได้ ควรเลือกใช้ครีมอาบน้ำที่ไม่มีกลิ่น ไม่ทำให้เกิดฟองน้ำ และอ่อนโยนเหมาะสมกับผิวเด็ก หลีกเลี่ยงการใช้ฟองน้ำ เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมแบคทีเรีย เชื้อราได้ หากไม่ทำความสะอาดไม่ดี หรือไม่ผึ่งให้แห้งหลังใช้งาน

    ควรให้ผู้ใหญ่เป็นคนอาบน้ำให้เด็ก ไม่ควรให้เด็กที่โตกว่าเป็นคนอาบน้ำให้เด็กที่ยังเล็ก ควรมีผู้ใหญ่อยู่ด้วย เพื่อช่วยเหลือในกรณีที่ไม่คาดคิด เช่น เด็กลื่นล้มในอ่าง เด็กสำลักน้ำ จมน้ำ

    ตรวจสอบความปลอดภัยในห้องน้ำ ในช่วงที่กำลังอาบน้ำให้เด็ก ควรเก็บของใช้ภายในห้องน้ำที่ใช้บ่อย เช่น ยาสระผม ครีมอาบน้ำ สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ไว้บนชั้นสูงที่เด็กเอื้อมไม่ถึง และเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ไดร์เป่าผม เครื่องหนีบผม เครื่องโกนหนวด ไว้ในตู้ให้พ้นมือเด็ก เพื่อป้องกันไฟดูดของมีคมต่าง ๆ น้ำยาอันตราย เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ ป้องกันไม่ให้เด็กนำมาเล่น หลังอาบน้ำให้เด็ก ควรเทน้ำในอ่างทิ้งให้หมด ปิดสวิตช์เครื่องทำน้ำอุ่นให้เรียบร้อย และควรเช็ดเท้าของตัวเองและเด็กให้แห้งสนิท ป้องกันการลื่นล้มในห้องน้ำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา