backup og meta

ว่านหางจระเข้ สมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 24/02/2022

    ว่านหางจระเข้ สมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

    ว่านหางจระเข้ เป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายกระบองเพชร สามารถเจริญเติบโตในสภาพอากาศร้อน หรือภูมิอากาศแห้งแล้ง ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ ได้แก่ วุ้น ยาง วุ้นของว่านหางจระเข้ได้จากเซลล์ส่วนกลางของใบ ในขณะที่ยางได้จากเซลล์ใต้ผิวของใบ ว่านหางจระเข้นั้นมีประโยชน์มากมาย เช่น นำมารับประทานเพื่อเป็นยาระบาย บ้วนปากเพื่อลดคราบพลัค ใช้ทาผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและลดริ้วรอย แม้ว่านหางจระเข้จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน ดังนั้น ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ว่านหางจระเข้

    ประโยชน์ของว่านหางจระเข้

    มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประโยชน์ของว่านหางจระเข้ในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    อาจช่วยลดคราบพลัค

    โรคเหงือกและฟันผุเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่มักพบได้บ่อย ซึ่งวิธีการป้องกันอาการเหล่านี้ คือ ลดการสะสมของคราบพลัค ซึ่งเป็นคราบจุลินทรีย์ที่เกิดจากแบคทีเรียและน้ำตาล ซึ่งอาจเกาะอยู่บริเวณเคลือบผิวฟัน โดยว่านหางจระเข้อาจมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียสเตร็พโตคอคคัส มิวแทนส์ (Streptococcus Mutans) และเชื้อราที่แคดิดา แอลบิแคนส์ (Candida Albicans) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตคราบจุลินทรีย์ในปาก จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Oral Health and Dental Management พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับผลของน้ำยาบ้วนปากว่านหางจระเข้ต่อคราบพลัคและโรคเหงือกอักเสบ พบว่า น้ำยาบ้วนปากว่านหางจระเข้ มีประสิทธิภาพในการลดโรคเหงือกอักเสบ ทั้งยังช่วยให้เลือดออกที่เหงือกและคราบพลัคลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

    อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

    ว่านหางจระเข้มีสารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน และอาจช่วยปรับปรุงการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น การบริโภคน้ำว่านหางจระเข้อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ลดลง จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Phytomedicine พ.ศ. 2539 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านเบาหวานของน้ำว่านหางจระเข้ในผู้ป่วยเบาหวาน พบว่า ว่านหางจระเข้อาจมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยผู้ป่วยเบาหวานที่ดื่มน้ำว่านหางจระเข้ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาจมีระดับน้ำตาลในเลือดและไตรกรีเซอร์ไรด์ลดลง 

    นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของอาหารเสริมว่านหางจระเข้ในผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเบาหวานที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในระยะแรก พบว่า ผู้เข้าร่วม 415 คนที่ได้รับอาหารเสริมว่านหางจระเข้มีความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ฮีโมโกลบินเอวันซี (HBA1c) ไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลรวม และไขมันชนิดไม่ดีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังมีระดับไขมันชนิดดีเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบของการบริโภคว่านหางจระเข้ที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว 

    สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่กำลังรับประทานยาลดน้ำตาลในเลือด ควรระมัดระวังในการบริโภคว่านหางจระเข้ เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจนอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายได้

    อาจช่วยลดอาการท้องผูก

    ว่านหางจระเข้มีสารอะโลอิน (Aloin) ที่มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ จึงอาจช่วยรักษาอาการท้องผูกได้ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Natural Pharmaceuticals พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพยาระบายของสารสกัดเอทานอล (Ethanol) ในใบของว่านหางจระเข้ พบว่า หนูท้องผูกที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดเอทานอลปริมาณ 50 มิลลิกรัม/วัน 100 มิลลิกรัม/วัน และ 200 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 7 วัน มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ดีขึ้นและมีปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สารสกัดปริมาณ 200 มิลลิกรัม ยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายได้ดี อย่าไรก็ตาม การวิจัยนี้เป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันว่าว่านหางจระเข้มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการท้องผูกในมนุษย์ได้จริง

    สำหรับผู้ที่เป็นโรคโครห์น (Crohn’s Disease) โรคลำไส้อักเสบ หรือโรคริดสีดวงทวาร ไม่ควรรับประทานว่านหางจระเข้ เพราะอาจทำให้ปวดท้องและท้องร่วงอย่างรุนแรง ส่วนผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคหัวใจ ไม่ควรรับประทานว่างหานจระเข้ เพราะอาจทำให้ร่างกายดูดซึมยาได้น้อยลง

    อาจช่วยชะลอการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านม

    ว่านหางจระเข้มีสารอะโลอีโมนดิน (Aloe-Emodin) ซึ่งเป็นสารต้านมะเร็งที่อาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร  Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับสารอีโมดิน (Emodin) และอะโลอีโมดิน (Aloe-Emodin) ที่ช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งเต้านม พบว่า สารอีโมดินและอะโลอีโมดินสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็งเต้านม จึงอาจเป็นทางเลือกที่ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านมได้ 

    อาจช่วยบำรุงผิวและป้องกันริ้วรอย

    ว่านหางจระเข้มีสารประกอบพิเศษที่เรียกว่า คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นมอยเจอร์ไรเซอร์บำรุงผิวหน้าได้ นอกจากนี้ ว่านหางจระเข้ยังช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นให้ผิว ซึ่งอาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวแห้ง จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Annals of Dermatology พ.ศ. 2552 ศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมว่านหางจระเข้ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและปรับปรุงริ้วรอยบนใบหน้าในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ซึ่งได้รับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมว่านหางจระเข้ 1,200 มิลลิกรัม/วัน และ 3,600 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 90 วัน พบว่า หลังจากรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมว่านหางจระเข้ ริ้วรอยบนใบหน้าดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในผิวหนังด้วยการผลิตคอลลาเจนที่เพิ่มขึ้น 

    ผลข้างเคียงของว่านหางจระเข้

    แม้ว่านหางจระเข้จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงดังนี้

    • อาจทำให้ทางเดินอาหารระคายเคือง ท้องร่วง และเป็นตะคริว
    • อาจทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย หากรับประทานนานกว่า 2-3 วัน
    • อาจทำให้ลำไส้ใหญ่มีคราบน้ำยางจากว่านห่างจระเข้ ซึ่งส่งผลต่อการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคว่านหางจระเข้เป็นเวลา 1 เดือนก่อนเข้ารับการตรวจลำไส้
    • ไม่ควรใช้ว่านหางจระเข้ทาแผลลึก หรือแผลไหม้รุนแรง เพราะสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone) ในว่านหางจระเข้ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บ แสบ หรือเกิดอาการแพ้ ทั้งยังอาจทำให้ผิวระคายเคืองหรือเกิดผื่นได้
    • ผู้ที่มีปัญหาหรือใช้ยาเกี่ยวกับโรคหัวใจ ปัญหาเกี่ยวกับไต โรคเบาหวาน ไม่ควรรับประทานว่านหางจระเข้โดยที่คุณหมอไม่อนุญาต เพราะว่านหางจระเข้อาจลดความสามารถในการดูดซึมยาของร่างกาย 
    • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ โรคริดสีดวงทวาร ไม่ควรใช้อาหารเสริมจากว่านหางจระเข้ เพราะอาจทำให้ท้องเสีย อ่อนเพลีย
    • เด็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้หญิงที่ให้นมบุตร ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากว่านหางจระเข้ เพราะอาจทำให้แท้งลูก และทำให้ลูกที่กินนมแม่ท้องเสียได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 24/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา