backup og meta

ชักโครก เด็ก ควรเริ่มใช้งานเมื่อไหร่ และวิธีฝึกให้เด็กนั่งส้วม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

    ชักโครก เด็ก ควรเริ่มใช้งานเมื่อไหร่ และวิธีฝึกให้เด็กนั่งส้วม

    เด็กอายุประมาณ 1 ขวบครึ่งไปจนถึง 2 ขวบ เป็นวัยที่เหมาะสมในการฝึกให้เด็กหัดใช้กระโถนเพื่อขับถ่ายแทนการใส่ผ้าอ้อม และเมื่อเด็กใช้กระโถนและนั่งทรงตัวได้เองอย่างมั่นคงแล้ว จึงค่อยเริ่มฝึกให้เด็กขับถ่ายด้วยการใช้ ชักโครก เด็ก วิธีนี้นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการตามวัยแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ดีในการสอนเด็กเกี่ยวกับสุขอนามัยและการทำความสะอาดร่างกายหลังขับถ่ายอีกด้วย ทั้งนี้ ควรหาที่วางเท้าสำหรับขับถ่ายหรือเก้าอี้ตัวเล็กมาให้เด็กวางเท้าได้อย่างมั่นคง และเพื่อป้องกันเด็กพลัดตกจากชักโครก รวมถึงไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังเป็นอันขาด

    ชักโครก เด็ก ควรเริ่มใช้เมื่อไหร่

    เวลาที่เหมาะสมในการเริ่มใช้ชักโครก เด็ก คือ เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าเด็กใช้กระโถนได้คล่องแล้ว โดยทั่วไปจะอยู่ที่อายุประมาณ 1 ขวบครึ่งไปจนถึง 2 ขวบ ตามปกติแล้วเด็กส่วนใหญ่จะควบคุมการขับถ่ายของตัวเองได้อย่างเต็มที่ในช่วงอายุ 3-4 ขวบ แต่เด็กบางคนก็อาจยังมีปัญหาปัสสาวะรดที่นอนอยู่ ซึ่งอาจค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

    สัญญาณที่แสดงว่าเด็กพร้อมใช้ชักโครก เด็ก

    หลังจากเด็กเปลี่ยนจากการสวมผ้าอ้อมอย่างเดียว ไปเป็นการขับถ่ายใส่ผ้าอ้อมควบคู่กับการใช้กระโถน หรือใช้กระโถนอย่างเดียวมาระยะหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเห็นพฤติกรรมที่เป็นสัญญาณว่าเด็กพร้อมสำหรับการฝึกเข้าห้องน้ำแล้ว ดังนี้

    • เด็กสามารถขับถ่ายในกระโถนในท่านั่งยอง ๆ ได้อย่างมั่นคง
    • เด็กลุกไปใช้กระโถนในตอนกลางคืนแทนการขับถ่ายใส่ที่นอนหรือใส่ผ้าอ้อมที่สวมอยู่
    • เด็กแสดงความสนใจที่จะเข้าไปขับถ่ายในห้องน้ำ

    เทคนิคการฝึกให้เด็กใช้ ชักโครก เด็ก

    วิธีเหล่านี้ช่วยให้เด็กฝึกใช้ชักโครก เด็ก อย่างได้ผล

    • เป็นแบบอย่างให้เด็กเห็น เด็ก ๆ มักมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่อาจเปิดประตูทิ้งไว้เพื่อแสดงให้เด็กเห็นวิธีเข้าห้องน้ำของผู้ใหญ่ เช่น เดินเข้าห้องน้ำไปนั่งบนโถส้วมและกดชักโครก จากนั้นก็ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพื่อให้เด็กรู้สึกสนใจและทำตามในภายหลัง
    • ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง หากเด็กจะใช้กระโถนในบริเวณห้องนอนมากกว่าในห้องน้ำ ให้ยกกระโถนมาวางไว้ในห้องน้ำแทน เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับการขับถ่ายในห้องน้ำ และให้เด็กมานั่งบนชักโครกเป็นครั้งคราว หรือคุณพ่อคุณแม่อาจให้เด็กขับถ่ายใส่ผ้าอ้อมขณะนั่งบนชักโครก เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับการใช้ชักโครกขณะขับถ่ายให้กับเด็ก
    • ให้เด็กเป็นคนตัดสินใจเอง สำหรับการให้เด็กเปลี่ยนจากการใช้กระโถนไปเป็นชักโครกอย่างถาวร คุณพ่อคุณแม่อาจโน้มน้าวให้เด็กลองใช้ชักโครกเป็นครั้งคราว เมื่อเด็กแสดงท่าทางสนใจที่จะใช้ห้องน้ำ อาจทำให้เด็กเลือกใช้ชักโครกเองด้วยความเต็มใจ อีกทั้งเด็กยังได้หัดตัดสินใจด้วยตัวเอง
    • สอนให้เด็กรู้วิธีใช้ห้องน้ำในการขับถ่าย สอนให้เด็กรู้ขั้นตอนการเข้าห้องน้ำง่าย ๆ เช่น การใช้สายชำระหรือขันน้ำหลังขับถ่ายเสร็จ การใช้กระดาษชำระเช็ดก้นให้สะอาดโดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง การยืนปัสสาวะใส่โถหรือชักโครกของเด็กผู้ชาย ควรกดชักโครกตรงไหนหลังเข้าห้องน้ำเสร็จ โดยควรเตือนให้กดน้ำหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง และควรสอนวิธีล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาทีแล้วเช็ดมือให้แห้งเสมอ
    • จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เมื่อเด็กจะเข้าห้องน้ำ ควรจัดสถานที่ให้เหมาะสมกับการเข้าห้องน้ำของเด็ก เช่น วางแผ่นรองกันลื่นไว้บริเวณหน้าชักโครกและอ่างล้างมือ ติดตั้งฝาชักโครกขนาดเล็กสำหรับเด็กไว้ที่ชักโครกที่ใช้ร่วมกับคนในบ้าน นำที่วางเท้าหรือเก้าอี้ขนาดเล็กมาให้เด็กวางเท้าเพื่อป้องกันการพลัดตกจากชักโครก โดยคุณพ่อคุณแม่ควรอยู่เฝ้าดูแลตลอดเวลาที่เด็กอยู่ในห้องน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

    ทั้งนี้ การฝึกให้เด็กหัดใช้ชักโครกจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็อาจขึ้นกับความพร้อมของเด็กด้วย บางครั้งเด็กอาจไม่คุ้นเคยกับการนั่งชักโครก หรืออาจยังไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ดีพอ หากเริ่มฝึกให้เด็กใช้ชักโครกแล้วเด็กแสดงท่าทางต่อต้านอย่างรุนแรงก็อาจแสดงว่าเด็กยังไม่พร้อม แนะนำให้รออีกสักระยะหนึ่งเพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวและเข้าห้องน้ำด้วยตัวเองอย่างเต็มใจในภายหลัง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา