backup og meta

พัฒนาการเด็ก 2 ขวบ และการเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    พัฒนาการเด็ก 2 ขวบ และการเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม

    เด็กอายุ 2 ขวบ เป็นวัยที่มีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ อย่างก้าวกระโดด มักจะกระตือรือร้นเมื่ออยู่กับเพื่อนวัยเดียวกัน เป็นตัวของตัวเองสูง สามารถสื่อสารกับผู้อื่นด้วยท่าทางได้ชัดเจนขึ้น เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายได้มากขึ้น รู้จักหัดวิ่งและเตะลูกบอล ทั้งยังพัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้นด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงควรเอาใจใส่ในการเลี้ยงดูและคอยส่งเสริม พัฒนาการเด็ก 2 ขวบ อย่างถูกวิธี เพื่อช่วยให้เด็กสามารถเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรงและมีทักษะที่พัฒนาไปอย่างเหมาะสมตามวัย

    พัฒนาการเด็ก 2 ขวบ

    พัฒนาการของเด็กอายุ 2 ขวบโดยทั่วไป อาจมีดังนี้

    พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์

    • เลียนแบบพฤติกรรมของคนอื่น โดยเฉพาะเด็กโตและผู้ใหญ่
    • กระตือรือร้นเมื่ออยู่กับเด็กคนอื่น ๆ
    • มีความเป็นตัวของตัวเอง เริ่มมีอาการดื้อรั้น
    • สังเกตเห็นถึงอารมณ์ของคนรอบข้าง เช่น หยุดมองหรือร้องไห้ตามเมื่อมีคนร้องไห้
    • มีภาวะวิตกกังวลต่อการแยกจาก (Separation anxiety) เมื่อต้องห่างจากคนคุ้นเคย

    พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร

    • สามารถชี้สิ่งของตามที่บอกได้
    • พูดประโยคสั้น ๆ ประมาณ 2-4 คำได้
    • รู้จักชื่อพ่อ แม่ พี่ น้อง อวัยวะและสิ่งของหลายอย่าง
    • ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้
    • พูดทวนสิ่งที่ได้ยินคนคุยกัน
    • แสดงท่าทางเพื่อสื่อสารได้มากกว่าการโบกมือและการชี้นิ้ว เช่น พยักหน้า ส่งจูบ

    พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

    • ยืนและเขย่งเท้าได้
    • ปีนป่ายขึ้นลงเฟอร์นิเจอร์อย่างโต๊ะ โซฟา เก้าอี้ได้โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องช่วยประคอง
    • เริ่มหัดวิ่ง เตะลูกบอล และโยนลูกบอลข้ามศีรษะได้แล้ว
    • เดินถือของเล่นหลาย ๆ ชิ้นหรือของเล่นชิ้นใหญ่ไว้ในมือได้แล้ว

    พัฒนาการด้านการแก้ไขปัญหา

    • เล่นของเล่นพร้อมกันเกิน 1 ชิ้นได้ เช่น วางอาหารของเล่นบนจานของเล่น
    • ใช้สองมือทำกิจกรรมต่างกันได้ เช่น มือหนึ่งถือขวดโหลส่วนอีกมือปิดฝาขวดโหล
    • พยายามใช้มือจิ้ม บิด หรือหมุนของเล่นเพื่อให้ของเล่นตอบสนอง เช่น กดปุ่มเครื่องดนตรีของเล่น

    พัฒนาการกล้ามเนื้อมือและนิ้วมือ

    • ขีดเขียนและวาดรูปเล่นได้
    • พลิกภาชนะและเทสิ่งของออกจากภาชนะเองได้
    • ต่อตัวต่อหรือบล็อกด้วยตัวเองได้อย่างน้อย 4 อันขึ้นไป

    สัญญาณพัฒนาการล่าช้าในเด็ก 2 ขวบ

    หากพบว่าเด็กอายุ 2 ขวบ มีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้าหรือไม่ปกติ ควรพาเด็กไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการและสาเหตุ จะได้วางแผนการรักษาอย่างตรงจุด และช่วยให้เด็กมีพัฒนาการอย่างเหมาะสม

    • เด็กมีปัญหาในการมองเห็นหรือการได้ยิน
    • ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ไม่ได้
    • ไม่เลียนแบบท่าทางของคนรอบตัว
    • ไม่เล่นคนเดียวหรือไม่เล่นแสดงบทบาทสมมติ เช่น การเล่นแต่งตัวตุ๊กตา การเล่นจัดงานเลี้ยงน้ำชา
    • ไม่แสดงอารมณ์หรือความรู้สึก
    • ไม่เข้าหาคุณพ่อคุณแม่เพื่อให้กอดหรืออุ้มเหมือนเด็กทั่วไป
    • เดินขึ้นหรือลงบันไดไม่ได้ แม้จะจับราวบันไดเอาไว้ก็ตาม
    • วิ่งไม่ได้
    • หยิบจับของชิ้นเล็ก ๆ เช่น ดินสอสี ยางลบ เอาไว้ได้ไม่นาน
    • ไม่ขีดเขียนหรือไม่พยายามวาดรูปเล่น

    วิธีส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 2 ขวบ

    คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 2 ขวบได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

    • กระตุ้นให้เด็กพัฒนาทักษะในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้ช้อนตักอาหารเข้าปาก สวมรองเท้าเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่แล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้เด็กคิดเกี่ยวกับกิจกรรมที่ตัวเองกำลังทำด้วย
    • ช่วยสอนให้เด็กเรียนรู้คำศัพท์มากขึ้น แม้เด็กจะพูดเต็มประโยคไม่ได้หรือออกเสียงได้ยังไม่ชัดเจน เช่น หากลูกพูดว่า “ต่าย” ให้พูดต่อให้จบว่า “กระต่าย” เพื่อให้เด็กจดจำและเรียนรู้คำที่ถูกต้อง
    • ฝึกให้เด็กเตรียมพร้อมสำหรับเวลาอาหาร ด้วยการให้เด็กช่วยเตรียมของที่ต้องใช้ เช่น ผ้าเช็ดปาก ถ้วย ช้อนส้อม จากนั้นกล่าวขอบคุณเด็กที่ช่วยเหลือ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ
    • เฝ้าดูเด็กขณะเล่นของเล่นหรืออยู่กับเพื่อนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กในวัยนี้อาจยังไม่รู้จักแบ่งปันของเล่นหรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงให้เด็กเห็นถึงวิธีการแก้ปัญหาอย่างใจเย็น และบอกให้แบ่งของเล่นกับเพื่อนหรือให้ผลัดกันเล่นด้วย เพื่อให้ทุกคนได้เล่นอย่างเท่าเทียมกัน แต่หากเด็กยังไม่สามารถแบ่งปันได้ก็ไม่ควรบังคับ เนื่องจากเด็กในวัยนี้ยังให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นหลัก
    • อ่านหนังสือนิทานและร้องเพลงกล่อมเด็กเป็นประจำ และควรชักชวนให้เด็กแสดงความเห็นเกี่ยวเนื้อเรื่องหรือออกเสียงตามที่ได้ยิน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพูดและจินตนาการของเด็กในวัยนี้ได้อย่างเต็มที่
    • ให้ความสำคัญกับคำพูดของเด็ก ควรคอยฟังและตอบโต้กับเด็ก อาจช่วยให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าและเป็นที่รัก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา