backup og meta

ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 2 ขวบ เลือกอย่างไรให้ปลอดภัยต่อเด็ก

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 2 ขวบ เลือกอย่างไรให้ปลอดภัยต่อเด็ก

    เด็กวัย 2 ขวบ เป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ การเลือก ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 2 ขวบ ที่เหมาะสมและตรงตามช่วงวัยจะช่วยเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้และพัฒนาการทั้งทางร่างกาย ภาษา ความคิด อารมณ์และสังคม ของเล่นที่เหมาะกับเด็กในวัยนี้ ควรเป็นของเล่นที่กระตุ้นและพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว การใช้ความคิด และการเข้าสังคมของเด็ก การหมั่นศึกษาเรื่องพัฒนาการและเลือกของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 2 ขวบ อาจช่วยส่งเสริมพัฒนาการและกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามวัยของเด็ก

    พัฒนาการเด็ก 2 ขวบ

    พัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก 2 ขวบ อาจมีดังนี้

    พัฒนาการด้านร่างกาย เด็กวัย 2 ขวบ มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่ง การเล่น การปีนป่าย ค่อนข้างรวดเร็ว เด็กวัยนี้เริ่มใช้เวลาในการเล่นของเล่นอย่างเพลิดเพลิน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรเลือกของเล่นและกิจกรรมที่ช่วยเสริมทักษะการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเตะบอล หรือหาของเล่นที่ช่วยพัฒนาทักษะการควบคุมกล้ามเนื้อ ข้อมือ มือ และนิ้วมือ เช่น การวาดรูปเล่นด้วยดินสอ สีเทียน การวาดรูปแบบฟิงเกอร์เพนต์ (Finger Paint) หรือการวาดรูปด้วยนิ้วมือ ที่ให้เด็กได้ใช้มือและนิ้วมือป้ายสีต่าง ๆ ลงบนกระดาษแทนพู่กัน ซึ่งอาจช่วยเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี

    พัฒนาการด้านร่างกายของเด็ก 2 ขวบที่สังเกตได้ง่าย อาจมีดังนี้

    • เริ่มหัดเดินขึ้นบันไดได้เองโดยไม่ต้องให้ช่วย
    • ใช้ช้อนตักข้าวกินเองได้
    • เปิดฝาขวดและเทน้ำได้
    • ขยับร่างกายได้คล่องแคล่วขึ้น เช่น เตะบอล วิ่งเล่น

    พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม เด็กวัย 2 ขวบมีความเป็นตัวของตัวเอง และอาจยึดตัวเองเป็นหลัก เมื่ออยู่กับเด็กคนอื่นจะต่างคนต่างเล่น ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน และค่อนข้างหวงของ ไม่อยากให้ใครแย่งของเล่น และไม่ต้องการแบ่งปันสิ่งของกับคนอื่น การสอนเด็กวัยนี้เรื่องการแบ่งของเล่นหรือของใช้อาจไม่เป็นผล อาจทำได้เพียงดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วงที่เด็กอยู่ด้วยกัน ของเล่นที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านนี้ได้อาจเป็นบล็อกตัวต่อ ที่เล่นด้วยกันหลายคนได้ และช่วยให้สามารถพูดคุย สร้างปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกครอบครัวในขณะเล่นได้

    พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของเด็ก 2 ขวบที่สังเกตได้ง่าย อาจมีดังนี้

    • มีท่าทีตื่นเต้นเมื่ออยู่กับเด็กคนอื่น
    • สังเกตอารมณ์และความรู้สึกของคนรอบข้างได้ เช่น การหยุดมองหรือแสดงท่าทางเศร้าเมื่อเห็นคนร้องไห้
    • มองหน้าคนที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วยเพื่อดูการตอบสนอง
    • เลียนแบบพฤติกรรมของคนรอบตัว โดยเฉพาะผู้ใหญ่ หรือเด็กที่โตกว่า
    • เริ่มเป็นตัวของตัวเอง ต้องการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

    พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร ในวัย 2 ขวบ เด็กอาจเริ่มสื่อสารเป็นประโยคยาว ๆ ได้แล้ว และอาจใช้สรรพนามเรียกแทนตัวเอง แม้ว่าอาจยังสื่อสารได้ไม่มากนัก แต่สามารถเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้ ในวัยนี้เด็กผู้ชายมีแนวโน้มที่จะพูดได้ช้ากว่าเด็กผู้หญิง โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเด็กให้เข้าใจการใช้ภาษาในการสื่อสารมากขึ้นได้ ด้วยการอ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นประจำ ให้ดูหนังสือภาพที่มีเสียง เพื่อดึงให้เด็กสนใจเสียงพูดและจดจำคำศัพท์ใหม่ๆ หรือพูดคุยกับเด็กบ่อย ๆ กระตุ้นให้เด็กเรียกชื่อสิ่งของต่าง ๆ ที่กำลังสัมผัสหรือตั้งอยู่รอบตัว สอนให้พูดทวนคำเพื่อให้เกิดการจดจำ

    พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารของเด็ก 2 ขวบที่สังเกตได้ง่าย อาจมีดังนี้

    • รู้จักชื่อคุณพ่อคุณแม่ ญาติพี่น้อง หรือคนรอบข้าง
    • ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ เช่น เก็บของเล่นตามที่บอก นั่งนิ่ง ๆ ให้หวีผม
    • พูดทวนประโยคที่ได้ยินคนอื่นพูดคุยกัน
    • แสดงท่าทางได้หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่อาจทำได้แค่ทำท่าชี้หรือโบกมือ เด็กอาจเริ่มส่งจูบ พยักหน้าเห็นด้วย หรือส่ายหน้าปฏิเสธ

    พัฒนาการด้านความคิด เด็ก 2 ขวบเริ่มมีกระบวนการคิดแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง สามารถเข้าใจแนวความคิดเรื่องเวลา เรียงลำดับกิจกรรมก่อนหลังได้ เช่น สามารถคิดได้ว่าจะได้กินขนมหลังกินข้าวเสร็จ เด็ก 2 ขวบเริ่มเข้าใจแนวคิดของตัวเลข และสามารถเรียนรู้การนับเลขง่าย ๆ ได้แล้ว เวลาเล่นของเล่น ก็จะเริ่มสร้างฉากที่ซับซ้อนให้กับของเล่นชิ้นเดียวและใช้เวลาอยู่กับของเล่นชิ้นนั้นนาน ๆ แทนที่จะเปลี่ยนของเล่นไปเรื่อย ๆ

    พัฒนาการด้านความคิดของเด็ก 2 ขวบที่สังเกตได้ง่าย อาจมีดังนี้

    • เริ่มแยกรูปร่างและสีสันได้
    • เล่นเกมสมมติง่าย ๆ ได้ เช่น แสดงบทบาทสมมติ แกล้งป้อนอาหารตุ๊กตา เล่นขายของ
    • พูดประโยคในหนังสือนิทานที่ได้ยินบ่อย ๆ ได้

    สัญญาณเตือนพัฒนาการผิดปกติในเด็ก 2 ขวบ

    ภาวะหรือพฤติกรรมเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเด็กมีความผิดปกติด้านพัฒนาการ

  • พูดเป็นประโยคสั้น ๆ ประมาณ 1-2 คำไม่ได้
  • เลียนแบบท่าทาง หรือคำพูดของคนรอบตัวไม่ได้
  • ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ไม่ได้
  • จำทักษะที่ตัวเองเคยทำไม่ได้
  • เดินได้ไม่มั่นคง แม้จะหัดเดินมาหลายเดือนแล้ว
  • หากพบว่าเด็กมีภาวะดังกล่าว ควรพาเด็กเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด หากพบภาวะโรคใด ๆ คุณหมอจะได้รักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ นอกจากนี้ เด็กควรเข้ารับการตรวจโรคทางพัฒนาการ เช่น ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ภาวะบกพร่องทางการเคลื่อนไหว การสูญเสียการได้ยิน ภาวะสมองพิการ โรคออทิสติก ในช่วงอายุประมาณ 18-24 เดือน หากวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางพัฒนาการ คุณหมอจะได้รักษาอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยกระตุ้นและฝึกพัฒนาการของเด็กให้ใกล้เคียงปกติที่สุด

    ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 2 ขวบ

    ของเล่นที่เสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กวัย 2 ขวบ อาจมีดังนี้

    กล่องหยอดบล็อกรูปทรง หรือบล็อกหยอด  มีลักษณะเป็นกล่องรูปทรงลูกเต๋า อาจทำจากไม้หรือพลาสติก สีสันสดใส ข้างในกลวง แต่ละด้านเจาะช่องเป็นรูปทรงเดียวกับบล็อก เช่น วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วิธีการเล่นคือ เด็กจะหยิบและหยอดบล็อกให้ตรงตามช่องบนกล่อง การเล่นกล่องหยอดบล็อกรูปทรงอาจช่วยพัฒนาทักษะการแยกแยะสีและรูปร่างของสิ่งของ ช่วยให้เด็กจดจำชื่อเรียกของรูปทรงแต่ละชนิดได้ ทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เด็กได้บริหารกล้ามเนื้อนิ้วมือและมือ ได้ใช้ความคิดในการหย่อนรูปทรงต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามรูปทรง และอาจช่วยสอนให้เด็กรู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเองด้วย

    ลูกบอล อาจช่วยพัฒนาทักษะการประสานงานของสายตาและกล้ามเนื้อมือ โดยใช้สมองเป็นตัวกลาง การเริ่มเล่นลูกบอลถือเป็นกิจกรรมเสริมทักษะที่ดีมากสำหรับเด็ก เพราะช่วยฝึกความคล่องแคล่วของเด็ก ช่วยพัฒนาด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เด็กจะเรียนรู้ว่าหากเตะ โยน หรือขว้างลูกบอลแล้ว ลูกบอลจะกลิ้งหรือเด้งไปเรื่อย ๆ ไม่อยู่นิ่ง หลังเล่นลูกบอลเสร็จ เด็กอาจไปลองโยนข้าวของอื่น ๆ เพื่อทดสอบว่าจะกลิ้งเหมือนกับลูกบอลหรือไม่ ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวังให้ดี อย่าให้เด็กโยนสิ่งของมูลค่าสูง หรือของที่อาจเป็นอันตรายกับเด็กได้

    ของเล่นบทบาทสมมติ อาจช่วยพัฒนาทักษะด้านอารมณ์และสังคม และช่วยให้เด็กได้ฝึกทำกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านการเลียนแบบสถานการณ์ของผู้ใหญ่ในรูปแบบการเล่นบทบาทสมมติ ของเล่นบทบาทสมมติที่เหมาะเป็นของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 2 ขวบ เช่น ชุดครัวของเล่น ชุดตรวจคุณหมอ ชุดเครื่องมือปฐมพยาบาล ชุดเครื่องประดับบนโต๊ะเครื่องแป้ง นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจสอนให้เด็กรู้จักการแสดงอารมณ์และเรียนรู้การดูแลสิ่งที่ตัวเองรัก ด้วยการจัดชุดปาร์ตี้น้ำชาตอนบ่ายกับตุ๊กตาตัวโปรด

    บล็อกตัวต่อ อาจช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการเคลื่อนไหว  กระตุ้นการใช้งานกล้ามเนื้อนิ้วมือและมือของเด็ก ช่วยฝึกทักษะการทำงานประสานกันของตาและมือ ทั้งยังช่วยฝึกให้เด็กมีสมาธิ จดจ่อกับกิจกรรมที่ทำ ได้ฝึกใช้สมองแก้ไขปัญหา และได้เสริมสร้างจินตนาการ ทั้งนี้ ควรใช้ตัวต่อที่มีขนาดใหญ่กว่าปากของเด็ก เนื่องจากเด็กอาจหยิบของเข้าปาก คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลอย่างใกล้ชิด

    หนังสือภาพสีสันสดใส อาจช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกหนังสือภาพที่มีเสียงประกอบเพื่อเสริมการเรียนรู้ของเด็ก และอาจเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงและท่าประกอบที่ตื่นตาตื่นใจ กระตุ้นให้เด็กอยากมีส่วนร่วมและสนุกไปกับกิจกรรมที่ทำร่วมกัน การใช้เวลาที่มีค่ากับครอบครัวด้วยการอ่านหนังสือภาพ ยังอาจช่วยเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ให้เด็กได้ด้วย

    การเลือกของเล่นที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับเด็ก 2 ขวบ

    เทคนิคการเลือก ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 2 ขวบ ที่เหมาะสม อาจมีดังนี้

    • เลือกของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 2 ขวบที่ช่วยบริหารกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก และช่วยพัฒนาการทำงานประสานกันของสายตาและมือของเด็ก เช่น บล็อกตัวต่อ ลูกบอล
    • เลือกของเล่นที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของเด็ก ให้เด็กใช้ความคิดในการเล่นไปด้วย เช่น กล่องหยอดบล็อกรูปทรง หรือบล็อกหยอด
    • เลือกของเล่นที่เสริมสร้างความตั้งใจและสมาธิให้กับเด็ก เช่น จิ๊กซอว์ เลโก้
    • เลือกของเล่นที่มีคุณภาพ ทำจากวัสดุปลอดสารพิษ ไม่เป็นอันตรายกับเด็ก ได้มาตรฐานมอก. และทนต่อการหยิบ จับ เขวี้ยง ขว้าง กระแทก หรือกัดแทะ ของเด็ก
    • หลีกเลี่ยงการให้เด็กเล่นของเล่นที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ เช่น ของเล่นที่มีชิ้นเล็กเกินไป ของเล่นที่มีมุมหรือขอบแหลมคม ของเล่นที่ก่อให้เกิดเสียงดัง หรือเสียงแหลมเกินไป
    • ให้ความสำคัญกับขนาดของเล่น ควรเลือกของเล่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 3 เซนติเมตร และควรยาวอย่างน้อย 6 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนำเข้าปากหรือกลืน นอกจากนี้ ชิ้นส่วนขนาดเล็กในของเล่น เช่น แม่เหล็ก แบตเตอรี่ ลูกแก้ว ควรมีขนาดเกิน 4.4 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้หลุดเข้าไปในหลอดลมหรือทำให้เด็กสำลัก และไม่ควรมีสายยาวเกิน 18 เซนติเมตร เนื่องจากอาจพันมือพันเท้าหรือรัดคอเด็กได้
    • ควรตรวจสอบฉลากและศึกษาคำแนะนำ วิธีการใช้ ช่วงวัยที่เหมาะสม ข้อควรระวังของสินค้าอย่างละเอียดก่อนซื้อมาให้เด็กเล่น
    • หากต้องการซื้อของเล่นที่มีวงจรแบตเตอรี่ ควรเลือกของเล่นที่ส่วนบรรจุแบตเตอรี่ปิดสนิทและมีน็อตยึดป้องกันเด็กเปิดมาเล่น เพราะเด็กอาจหยิบแบตเตอรี่เข้าปากจนสำลัก หรือเกิดอันตรายร้ายแรงจากแบตเตอรี่และของเหลวภายใน เช่น อาจทำให้สำลักหรือเกิดแผลไหม้จากสารเคมี หรือกลืนน็อตปิดช่องใส่แบตเตอรี่ลงคอได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา