backup og meta

รถหัดเดิน ช่วยฝึกให้ลูกหัดเดินได้จริงหรือ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 16/11/2022

    รถหัดเดิน ช่วยฝึกให้ลูกหัดเดินได้จริงหรือ

    รถหัดเดิน เป็นอุปกรณ์ที่คุณพ่อคุณแม่เลือกใช้เพื่อต้องการฝึกให้ลูกน้อยสามารถเดินได้เร็วขึ้น ช่วยทุ่นแรงในการฝึกฝน ทั้งยังช่วยให้ลูกรู้สึกสนุกขณะที่ใช้รถหัดเดินอีกด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การให้เด็กใช้รถหัดเดินอาจเป็นการขัดขวางพัฒนาการด้านการเดินของเด็ก เพราะกระบวนการเริ่มหัดเดินของเด็ก ควรจะเริ่มจากการคลานไปมา แล้วค่อย ๆ ดันตัวเองขึ้น การที่เด็กเริ่มรู้จักการพยุงตัวเองขึ้นยืนนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกทรงตัว

    รถหัดเดิน คืออะไร

    รถสำหรับหัดเดิน หรือรถหัดเดิน (Baby Walkers) คือ อุปกรณ์สำหรับช่วยให้เด็กได้ ฝึกเดิน มีลักษณะเป็นโครงร่างวงกลมหรือสี่เหลี่ยมหรือแล้วแต่การออกแบบ มีช่องว่างสำหรับให้ขาของเด็กสามารถเหยียบแตะถึงพื้น และมีส่วนที่เป็นเบาะตรงหว่างขาไว้สำหรับรองรับตัวเด็ก และมีเบาะหลังสำหรับให้เด็กให้พิงหลัง

    โดยรถหัดเดินแต่ละรุ่นจะมีการเสริมคุณสมบัติพิเศษอย่างเสียงเพลง เกม ของเล่น หรืออุปกรณ์เสริมทักษะอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มักใช้อุปกรณ์นี้เพื่อหวังประโยชน์ในการช่วยฝึกการเดินของเด็กในวัยที่เริ่มเดิน

    รถหัดเดิน-วัยหัดเดิน-เด็กเล็ก

    รถหัดเดิน ช่วยฝึกให้ลูกน้อยหัดเดินได้จริงหรือ

    คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเชื่อว่า การให้ลูกได้ใช้รถหัดเดินอาจช่วยให้เด็กได้ฝึกเดิน หรือช่วยให้เด็กเดินได้เร็วขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การให้เด็กใช้รถหัดเดินอาจเป็นการขัดขวางพัฒนาการด้านการเดินของเด็ก เพราะกระบวนการเริ่มหัดเดินของเด็ก ควรจะเริ่มจากการคลานไปมา แล้วค่อย ๆ ดันตัวเองขึ้น การที่เด็กเริ่มรู้จักการพยุงตัวเองขึ้นยืนนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกทรงตัว ซึ่งการทรงตัวถือเป็นจุดสำคัญในการฝึกเดิน แต่ถ้าเด็กใช้รถหัดเดิน เด็กอาจไม่ได้รับการฝึกให้รู้จักทรงตัวเลย เพราะโครงสร้างของรถหัดเดินจะคอยพยุงไม่ให้ล้ม ทำให้เวลาที่อยู่ในรถหัดเดิน เด็กจะไม่ได้เรียนรู้กระบวนการเดินอย่างที่ควรจะเป็น 

    อันตรายจากการใช้ รถหัดเดิน

    นอกจากการใช้รถหัดเดินจะไม่ได้ช่วยให้เด็กฝึกเดินได้เร็วขึ้นแล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก ดังนี้

    • หากบ้านมีบันได เด็กอาจไถรถหัดเดินไปใกล้กับบันได ซึ่งเสี่ยงต่อการตกบันได
    • เนื่องจากรถหัดเดินสามารถที่จะเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ อาจเสี่ยงที่จะไปกระแทกเข้ากับของแข็งหรือของมีคม เด็กอาจเคลื่อนรถหัดเดินไปชนเข้ากับโต๊ะที่มีของร้อนอยู่ อาจทำให้ของร้อนหก หรือลวกได้
    • เด็กยังไม่สามารถที่จะเรียนรู้การควบคุมรถหัดเดินได้ หากเด็กไถรถเร็วเกินไปอาจยากต่อการควบคุม ซึ่งเสี่ยงต่อการล้มหรือพลิกคว่ำ
    • ขณะฝึกเดินด้วยรถหัดเดิน เด็กอาจเคลื่อนรถหัดเดินไปสะดุดเข้ากับสายไฟ ทำให้เสี่ยงต่อการพลิกคว่ำ หรือถ้าหากสายไฟชำรุดอาจเสี่ยงต่อการถูกไฟดูดหรือไฟช็อต
    • การอยู่ในรถหัดเดินจะทำให้เด็กสามารถเคลื่อนที่ได้เร็ว แต่หากดูแลไม่ทั่วถึง เด็กอาจเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ที่เสี่ยงอันตราย เช่น เตาในครัว เตาผิง สระว่ายน้ำ 
    • หากเป็นพื้นที่ลาดชัน อาจเสี่ยงที่รถหัดเดินจะไหลอย่างรวดเร็วจนเสียการควบคุม ซึ่งอาจทำให้รถพลิกคว่ำ และเด็กได้รับบาดเจ็บ

    ดูแลลูกน้อยให้ใช้รถหัดเดินอย่างปลอดภัย

    หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกน้อยได้ฝึกเดิน และได้ตัดสินใจเลือกซื้อรถหัดเดินมาเป็นอุปกรณ์ช่วยเสริม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น อาจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลอย่างเคร่งครัดและใกล้ชิด ดังนี้

    • เพื่อความปลอดภัยในการฝึกเดิน ควรเลือกรถหัดเดินที่ได้มาตรฐานการผลิต มีความแข็งแรง ทนทาน
    • เลือกรถหัดเดินที่มีตัวล็อคไม่ให้เคลื่อนที่ สำหรับล็อคในยามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหยุดทำธุระเพื่อป้อนข้าว ขนม หรือเก็บของ ป้องกันการเคลื่อนที่แบบคลาดสายตา
    • เมื่อไหร่ก็ตามที่ให้เด็กอยู่ในรถหัดเดิน คุณพ่อคุณแม่ พี่เลี้ยง หรือผู้ปกครอง ควรอยู่ใกล้ชิดกับเด็กตลอดเวลา ห้ามปล่อยให้คลาดสายตาแม้แต่เพียงวินาทีเดียว เนื่องจากเด็กอาจจะเคลื่อนที่ไปยังจุดที่อันตราย
    • หากเป็นไปได้ควรปิดประตู หรือปิดกั้นเส้นทางที่เด็กอาจจะเคลื่อนที่ไปยังบันได ทางลาดชัน หรือจุดที่จะเป็นอันตราย
    • จำกัดพื้นที่เรียบเพื่อใช้รถหัดเดิน เพราะพื้นผิวขรุขระจะเสี่ยงทำให้รถสะดุดหรือพลิกคว่ำ
    • จำกัดสถานที่สำหรับใช้รถหัดเดิน เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจะไม่เคลื่อนที่ไปยังจุดที่มีความเสี่ยงหรืออันตรายต่อการล้มหรือพลิกคว่ำ
    • ไม่ควรใช้รถหัดเดินในเด็กที่ยังไม่ฝึกนั่งหรือ ฝึกเดิน
    • ไม่ควรให้ลูกอยู่ในรถหัดเดินเกิน 15 นาที

    ฝึกลูกน้อยหัดเดินโดยไม่ใช้รถทำได้อย่างไร

    สิ่งสำคัญในการฝึกเดินในขั้นต้น คุณพ่อคุณแม่อาจต้องปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะคลาน กลิ้ง หกล้ม พยุงตัวเองขึ้น เรียนรู้ที่จะทรงตัวด้วยตนเอง ให้เด็กได้ใช้เวลาอยู่กับพื้นให้มากที่สุด คุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นโค้ชเพื่อช่วยดูแลให้เด็กได้เรียนรู้และสร้างพัฒนาการด้วยตนเอง ช่วยประคองลูกหากจะล้ม รวมถึงให้กำลังใจด้วยการส่งเสียงเชียร์เมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้ที่จะทรงตัว

    มากไปกว่านั้น สภาพแวดล้อมสำหรับการฝึกเดิน ควรเป็นพื้นที่มีความนุ่มเพื่อป้องกันการหกล้มหรือบาดเจ็บ เมื่อลูกน้อยเริ่มเคลื่อนไหวด้วยการยืน หรือก้าวได้เล็กน้อย อาจเสริมด้วยของเล่นที่ช่วยฝึกการทรงตัว เช่น รถเข็นของเล่น

    อย่างไรก็ตาม หากเป็นกังวลหรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับพัฒนาการในการเดินของเด็ก คุณพ่อคุณแม่อาจไปขอรับคำปรึกษากับกุมารแพทย์ หรือคุณหมอผู้เชี่ยวชาญถึงเคล็ดลับ และวิธีช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเจริญเติบโตของเด็ก ๆ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 16/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา