backup og meta

เด็กดื้อ มีสาเหตุมาจากอะไร พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 25/09/2022

    เด็กดื้อ มีสาเหตุมาจากอะไร พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร

    เด็กดื้อ เป็นอาการที่เด็กแสดงออกมาเมื่อต้องการเรียกร้องความสนใจ รู้สึกโกรธ ผิดหวัง เหนื่อยล้า ต้องการบางสิ่งบางอย่าง หรือต้องการปฏิเสธพ่อแม่ ด้วยการร้องไห้ งอแง โวยวาย กรีดร้อง ขว้างปาข้าวของ หรือแสดงพฤติกรรมไม่พอใจ เช่น สะบัดแขนขา ลงไปนอนกลิ้งกับพื้น กระทืบเท้า ดังนั้น พ่อแม่ควรเรียนรู้ถึงวิธีการรับมือกับเด็กดื้อ เพื่อแก้ไขปัญหาและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงอาจช่วยให้เด็กได้ฝึกทักษะในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง

    สาเหตุของเด็กดื้อ

    เด็กดื้อ อาจมีสาเหตุมาจากการที่เด็กต้องการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ รู้สึกเหนื่อย โกรธ ผิดหวัง หิว ต้องการบางสิ่งบางอย่าง หรือต้องการปฏิเสธบางสิ่งบางอย่าง เช่น การเก็บของเล่น การทำการบ้าน โดยเด็กจะแสดงพฤติกรรมต่อต้าน เช่น ร้องไห้ โวยวาย กรีดร้อง ขว้างปาข้าวของ ลงไปนอนกลิ้งกับพื้น กระทืบเท้า สะบัดแขนขา เพื่อแสดงถึงความต้องการเป็นอิสระ แต่ก็ยังต้องการความสนใจจากพ่อแม่อยู่

    อาการเด็กดื้อพบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุระหว่าง 1-4 ปี เนื่องจากเด็กในช่วงวัยนี้อาจยังไม่ได้พัฒนาทักษะในการรับมือกับอารมณ์รุนแรงหรือความผิดหวังได้มากเท่าที่ควร และยังไม่สามารถสื่อสารความต้องการออกมาได้ชัดเจน ส่งผลให้เด็กขาดทักษะในการสื่อสารด้วยเหตุผลเพื่ออธิบายความรู้สึกหรือความต้องการ จึงแสดงออกทางอารมณ์ออกมาด้วยพฤติกรรมที่รุนแรง

    ปัจจัยที่อาจส่งผลทำให้เด็กดื้อ

    ปัจจัยที่สามารถเป็นตัวกระตุ้นทำให้เด็กดื้อและเอาแต่ใจ อาจมีดังนี้

    • อายุ ความดื้อและการสื่อสารด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผลเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของเด็กเล็ก เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นและได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างถูกต้องเหมาะสม ความดื้อของเด็กก็จะลดลง
    • การเลี้ยงดู พ่อแม่ที่ตามใจเด็กมากเกินไป อาจทำให้เด็กไม่เคยฝึกทักษะความอดทน และการควบคุมอารมณ์ของตนเอง จึงส่งผลให้เด็กดื้อมากเมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ
    • พัฒนาการ เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการที่ช้าทั้งทางร่างกายและการเข้าสังคม เช่น การเดิน การพูด การแก้ปัญหา การปรับตัวให้เข้ากับสังคมรอบตัว จึงอาจทำให้เด็กดื้อหรือมีพฤติกรรมต่อต้าน เมื่อต้องพบเจอกับสถานการณ์ใหม่ ๆ หรือผู้คนใหม่ ๆ
    • โรคทางจิตเวช เช่น โรคดื้อต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder หรือ ODD) โรคออทิสติก โรคสมาธิสั้น ซึ่งเป็นโรคที่สามารถเป็นได้ตั้งแต่กำเนิด และอาจส่งผลกระทบต่อการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม จึงอาจทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าเด็กดื้อมาก

    วิธีรับมือเมื่อเด็กดื้อ

    การรับมือกับพฤติกรรมเด็กดื้อด้วยเหตุผล ความรัก และความเข้าใจ อาจเป็นวิธีที่จะช่วยให้เด็กได้ฝึกทักษะการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมได้ โดยวิธีการรับมือกับเด็กดื้อ อาจทำได้ดังนี้

    • สงบสติอารมณ์ พ่อแม่ไม่ควรแสดงอารมณ์โกรธ โวยวาย หรือขู่ด้วยน้ำเสียงรุนแรง เพราะอาจจะยิ่งทำให้เด็กมีอารมณ์รุนแรงมากขึ้น แต่ควรปลอบโยนให้เด็กอารมณ์เย็นลงก่อน จากนั้น จึงค่อย ๆ เริ่มพูดคุยกับเด็กด้วยเหตุผล
    • พูดคุยกับเด็ก เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมดื้อมาก พ่อแม่ควรพูดคุยกับเด็กด้วยเหตุผล โดยการอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าการทำสิ่งนั้นไม่ดีอย่างไร และสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีใด หากเด็กอยู่ในช่วงอายุที่สามารถโต้ตอบได้ พ่อแม่สามารถกระตุ้นให้เด็กอธิบายถึงเหตุผลของความโกรธ หรือการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น วิธีนี้จะอาจช่วยให้เด็กลดความโกรธลง และเริ่มเรียนรู้ถึงทักษะการใช้เหตุผลและการควบคุมอารมณ์มากขึ้น
    • ไม่ควรลงโทษด้วยการตี เนื่องจากการตีเป็นเพียงการลงโทษให้เด็กหยุดดื้อในขณะนั้น แต่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเด็กในระยะยาวได้ และอาจทำให้เด็กเกิดความก้าวร้าวขึ้นภายในจิตใจ ดังนั้น การพูดคุยด้วยเหตุผลและการเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็ก ไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาใด ๆ จึงเป็นวิธีที่จะช่วยลดความดื้อของเด็กในระยะยาวได้
    • ให้รางวัลเมื่อเด็กทำดี การให้รางวัลเมื่อเด็กปฏิบัติตัวดีอาจช่วยสนับสนุนความคิดของเด็กให้รู้ว่าหากทำดีจะได้สิ่งตอบแทนที่ดี และสามารถช่วยให้เด็กรู้สึกมีกำลังใจในการทำดีต่อไปด้วย โดยการให้รางวัลอาจจะเป็นการให้สติ๊กเกอร์ ดาว คำชื่นชม การกอด หรือสิ่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
    • อดทนและเป็นตัวอย่างที่ดี การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กและการสอนทักษะต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา พ่อแม่จึงต้องมีความใจเย็น อดทน เชื่อมั่น และทำอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างที่ดี การพูดคุยเมื่อเด็กทำผิด หรือการให้รางวัล เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองในทุก ๆ วัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 25/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา