backup og meta

พัฒนาการทางด้านจิตใจ ของเด็กช่วงอายุ 9-12 ปี

พัฒนาการทางด้านจิตใจ ของเด็กช่วงอายุ 9-12 ปี

พัฒนาการทางด้านจิตใจของเด็กช่วงอายุ 9-12 ปี มักมีความเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางร่างกายที่เติบโตขึ้น บางคนอาจเริ่มให้ความสนใจด้านการเรียน เพศตรงข้าม หรือให้ความสำคัญกับเพื่อน จนทำให้อาจห่างเหินจากครอบครัว และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น วิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า ก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย การเรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านจิตใจของเด็กวัยนี้ รวมถึงสัญญาณเตือนถึงปัญหาทางด้านจิตใจ อาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือและดูแลลูกได้อย่างเหมาะสม

พัฒนาการทางด้านจิตใจของเด็กช่วงอายุ 9-12 ปี

พัฒนาการทางด้านจิตใจของเด็กช่วงอายุ 9-12 ปี อาจมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ สุขภาพ และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น สังคม เศรษฐกิจ การเรียน เพื่อน ครอบครัว

พัฒนาการทางด้านจิตใจของเด็กช่วงอายุ 9-12 ปี อาจมีดังนี้

  • อยากรู้อยากลองสิ่งใหม่ ๆ มีความอยากรู้อยากเห็น ความสนใจในสิ่งที่แปลกใหม่ และอาจตั้งคำถามบ่อยครั้ง
  • มีความคิดเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ชอบการค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อพัฒนาตัวเอง เช่น ทักษะการเล่นกีฬา การวาดรูป ทดลองวิทยาศาสตร์ แต่งบทประพันธ์
  • ต้องการอิสระในการตัดสินใจลงมือทำด้วยตัวเอง
  • มีความสนใจในเพศตรงข้าม และเริ่มเปลี่ยนบุคลิกภาพตัวเองให้เป็นที่น่าดึงดูด
  • อาจมีอารมณ์แปรปรวนง่าย อารมณ์ขึ้น ๆ ลงๆ จากมีความสุขหัวเราะ อาจเปลี่ยนเป็นเศร้าภายในไม่กี่นาที
  • เด็กอาจใช้เวลากับพ่อแม่น้อยลง และใช้เวลากับเพื่อนมากกว่า
  • อาจมีความสนใจและจินตนาการที่เกี่ยวกับความรัก และความสำเร็จ
  • หากเด็กได้เจอกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ความเครียด ก็อาจส่งผลให้หาทางออกในทางที่ผิด เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ลองใช้ยาเสพติด
  • อยากเป็นที่ยอมรับในสังคมและกลุ่มเพื่อน จึงพยายามทำตัวให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่ม ไม่ทำให้ตนเองรู้สึกแตกต่างหรือแปลกแยกจากคนในกลุ่ม ซึ่งหากเป็นกลุ่มสังคมที่ดี ก็อาจนำพาไปในทางที่ดี เช่น ติวหนังสือ วางแผนการเรียนในอนาคต เล่นกีฬา แต่หากเป็นกลุ่มสังคมที่ไม่ดี ก็อาจนำไปสู่การทำสิ่งที่ไม่ดีได้เช่น สูบบุหรี่ เสพยาเสพติด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ติดเกมมากเกินไป

ปัญหาด้านจิตใจของเด็กที่พบได้บ่อย

ปัญหาด้านจิตใจของเด็กที่พบบ่อย มีดังนี้

  • ความเครียดและความวิตกกังวล เด็กอาจรู้สึกกังวลเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ ๆ เช่น การเข้าโรงเรียนวันแรก การบ้านที่ยาก การเข้าสังคม หรือเหตุการณ์ที่สะเทือนจิตใจ เช่น ถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง พ่อแม่ทะเลาะกัน สูญเสียคนรัก อาจกระทบต่อจิตใจจนส่งผลให้เด็กมีความเครียด ควบคุมอารมณ์ยาก นอนไม่หลับ และฝันร้ายบ่อย รวมถึงอาจส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ออกนอกลู่นอกทางได้
  • ภาวะซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพรวมถึงเหตุการณ์รุนแรง เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกกลั่นแกล้ง ปัญหาในครอบครัว อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็ก ส่งผลให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีคนอยู่เคียงข้าง ไร้ค่า เหนื่อยล้า เซื่องซึม และอาจนำไปสู่การมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง
  • โรคจิตเภท เป็นโรคทางจิตในเด็กที่รุนแรง อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองและความเครียด หรืออาจเกิดจากทารกที่แม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยาเสพติด หรือสูบบุหรี่ ขณะตั้งครรภ์ ทำให้ทารกได้รับสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์

สัญญาณเตือนเมื่อเด็กมีปัญหาสุขภาพจิต

คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตปัญหาสุขภาพจิตในเด็กได้จากสัญญาณเตือน ดังต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะ
  • มีอาการซึมเศร้านานกว่า 2 สัปดาห์
  • พัฒนาการล่าช้า หรือถดถอย
  • หลีกเลี่ยงการพบเจอคนในครบครัวหรือเพื่อน
  • มีอารมณ์ก้าวร้าว หงุดหงิดรุนแรง
  • นอนไม่หลับ
  • ไม่มีสมาธิ
  • ขาดเรียนบ่อย การเรียนแย่ลง
  • รับประทานอาหารได้น้อยลง หรือบางคนอาจกินอาหารมากเกินไปผิดปกติ

หากเด็กมีอาการทำร้ายตัวเองหรือคนรอบข้าง ชอบพูดถึงความตาย ใช้สารเสพติด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรพาเข้าพบคุณหมอในทันที เพื่อรับการบำบัด

การดูแลจิตใจเด็กช่วงวัย 9-12 ปี

การดูแลจิตใจเด็กช่วงวัย 9-12 ปี อาจทำได้ดังนี้

  • เอาใจใส่เด็ก ใช้เวลากับเด็กให้มาก ๆ โดยอาจหากิจกรรมที่ชื่นชอบทำร่วมกัน เช่น เล่นกีฬา วาดรูป ดูหนัง ท่องเที่ยว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง เช่น การทำร้ายร่างกาย การต่อว่าด้วยคำหยาบคาย
  • ใช้เหตุผลพูดคุยและรับฟังเด็กให้มากขึ้น เพราะการพูดคุยอาจทำให้เด็กกล้าบอกถึงปัญหาที่กำลังเผชิญ เช่น ความเครียดจากการเรียน การถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง ความรัก
  • สอนให้เด็กรู้ว่าสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ
  • ชมเชยและให้กำลังใจเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี หรือทำบางสิ่งบางอย่างสำเร็จ รวมถึงตักเตือนเมื่อทำไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม
  • สังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดว่ามีสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Your Child at 9: Milestones. https://www.webmd.com/parenting/guide/child-9-milestones 

Middle Childhood (9-11 years of age). https://www.cdc.gov/ncbddd/childdevelopment/positiveparenting/middle2.html 

Young Teens (12-14 years of age). https://www.cdc.gov/ncbddd/childdevelopment/positiveparenting/adolescence.html 

Ages and Stages of Development https://www.cde.ca.gov/sp/cd/re/caqdevelopment.asp 

Mental illness in children: Know the signs. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/childrens-health/in-depth/mental-illness-in-children/art-20046577. Accessed February 17, 2022  

https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/06242014-1920. Accessed February 17, 2022   

สภาพจิตใจของวัยรุ่น. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generaldoctor/06062014-0847. Accessed February 17, 2022   

Childhood Schizophrenia. https://www.webmd.com/schizophrenia/childhood-schizophrenia. Accessed February 17, 2022   

Depression in children and young people. https://www.nhs.uk/mental-health/children-and-young-adults/advice-for-parents/children-depressed-signs/. Accessed February 17, 2022   

Anxiety disorders in children. https://www.nhs.uk/mental-health/children-and-young-adults/advice-for-parents/anxiety-disorders-in-children/. Accessed February 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2024

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

พัฒนาการด้าน การเข้าสังคมของเด็กวัยเรียน

การเล่นเสริมพัฒนาการเด็กวัยเรียน ได้อย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/10/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา