backup og meta

เด็กติดเกม ทำอย่างไร ไม่ให้กระทบสุขภาพและการใช้ชีวิต

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 30/01/2023

    เด็กติดเกม ทำอย่างไร ไม่ให้กระทบสุขภาพและการใช้ชีวิต

    เด็กติดเกม เป็นปัญหาที่สร้างความหนักใจให้พ่อแม่และผู้ปกครองเป็นอย่างมาก เพราะเด็กติดเกมส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมก้าวร้าว และปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดคืออาจถึงขั้นเสียชีวิต เพราะเมื่อติดเกมทำให้ไม่ยอมลุกไปกินข้าวกินน้ำ เนื่องจากใช้ต้องการใช้เวลาเล่นเกมตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง จริงๆ แล้วเด็กติดเกมเป็นปัญหาที่อาจป้องกันและแก้ไขได้ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครอง ควรทุ่มเทเวลาและหมั่นสังเกตพฤติกรรมลูกรักอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญ หากมีแนวโน้มว่าลูกอาจกลายเป็นเด็กติดเกม อาจต้องรีบหาวิธีรับมือ เบี่ยงความสนใจ หรือชักชวนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ

    เกม ส่งผลอย่างไรต่อเด็กบ้าง

    การเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็นเกมมือถือ เกมคอมพิวเตอร์ หรือวิดีโอเกม นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมยามว่างที่เด็กส่วนใหญ่ชื่นชอบ เนื่องด้วยวิดีโอเกมมีสีสัน เนื้อหาเร้าใจ สร้างความตื่นเต้น อีกทั้งปัจจุบันนี้ วิดีโอเกมพัฒนารูปแบบให้สามารถเล่นออนไลน์กลายเป็นการสร้างสังคมใหม่ๆ ในโลกเสมือน ประโยชน์ของการเล่นวิดีโอเกม คือ สามารถช่วยเพิ่มทักษะการประสานงาน และการทำงานร่วมกันระหว่างมือกับตาได้ นอกจากนั้น ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการประมวลผลข้อมูลของสมองอีกด้วย แต่เมื่อเด็ก ๆ เล่นวิดีโอเกมมักเพลิดเพลินและทำให้หลงลืมเวลา ไม่สามารถแบ่งเวลาได้ ทำให้กลายเป็นติดเกมในที่สุด

    เมื่อเด็กติดเกม อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลการเรียนตกต่ำ หรือปวดหลัง สายตาสั้น น้ำหนักเกิน เนื่องจากเด็กจะนั่งอยู่หน้าจอ ไม่ออกกำลังกาย อีกทั้งหากติดเกมจนไม่ออกมาสร้างปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ หรือเด็กที่ชอบเล่นวิดีโอเกมที่มีความรุนแรง อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้นได้ด้วย

    สัญญาณเตือน เด็กติดเกม

    หากคุณพ่อคุณแม่อยากรู้ว่า ลูกรักกลายเป็นเด็กติดเกมหรือยัง อาจลองสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 12 เดือน มีดังนี้

    • ไม่สามารถควบคุมเวลาเล่นเกมของตัวเองได้
    • ให้ความสำคัญกับการเล่นเกมเป็นอันดับแรก โดยไม่สนใจกิจกรรมและการมีปฏิสัมพันธ์อื่น ๆ
    • เริ่มโกหกเวลาที่เล่นเกม หรือปิดบังว่ากำลังเล่นเกมอยู่ รวมทั้งบอกจำนวนเวลาที่ใช้ไปในการเล่นเกมต่ำกว่าความเป็นจริง
    • ใช้วิดีโอเกมเป็นที่ระบายออกเวลาโกรธหรือเวลาที่คนในครอบครัวทำให้ไม่พอใจอาจขังตัวเองอยู่กับวิดีโอเกมแทนการพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจ
    • ละเลยการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญในชีวิตประจำวันไป โดยไม่สนใจว่าการเล่นเกมอาจส่งผลเสียในเรื่องการเรียน ชีวิตครอบครัว สุขภาพ สุขอนามัย ความสัมพันธ์ด้านการเงิน และความสัมพันธ์ทางสังคมหรือไม่

    เมื่อเด็กติดเกม พ่อแม่ควรทำอย่างไร?

    หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตพฤติกรรมแล้วพบว่าลูกรักกลายเป็นเด็กติดเกม ย่อมเกิดความกังวลใจเป็นอย่างมาก ว่าควรทำอย่างไร ให้ลูกหันมาสนใจกิจกรรมอื่นบ้าง วิธีการที่จะทำให้เด็กเลิกติดเกม และหันมาสนใจกิจกรรมอย่างอื่น อาจใช้วิธีดังต่อไปนี้

    • ใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากขึ้น และสร้างข้อตกลงกับลูกโดยพยายามจำกัดเวลาในการเล่นเกมให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน
    • ตั้งกฎกติกาในการเล่นเกมขึ้นมา โดยยึดกฎนั้นเคร่งครัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กเข้าใจถึงความสำคัญของกฎกติกาที่ถูกกำหนดขึ้น
    • พยายามสร้างกรอบและติดตามผลที่ตามมาอย่างสม่ำเสมอ หากมีการทำผิดกฎหรือข้อตกลงที่กำหนดไว้ ต้องบังคับใช้บทลงโทษอย่างจริงจัง เพื่อสร้างวินัยในครอบครัว
    • ติดตามเวลาเล่นเกม และแจ้งเวลาให้เด็กเห็นอย่างชัดเจน เพราะส่วนใหญ่เวลาเล่นเกม เด็กมักจะไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปนานขนาดไหน และลืมว่าใช้เวลาไปนานมากเท่าไรแล้วในการเล่นเกม
    • ใช้สัญญาณเตือนก่อนใช้บทลงโทษในทันที เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ  และวิธีนี้จะช่วยให้เด็กตระหนักในคุณค่าของการใช้เวลาอย่างมีประโยชน์
    • ซื้อตัวจับเวลาที่สามารถตั้งเวลาปิดเกมได้แบบอัตโนมัติ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ให้ใช้เฉพาะตอนที่เด็ก ๆ ยังปฏิเสธที่จะหยุดเล่นเกมเท่านั้น
    • หาวิธีปรับระบบการเปิด-ปิดเกมให้ใช้งานได้เฉพาะช่วงเวลาที่เด็กได้รับอนุญาตให้เล่นเกม
    • จำกัดเวลาหน้าจอสำหรับทั้งครอบครัว เพื่อให้ทุกคนได้ใช้เวลาร่วมกัน รวมทั้งพ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 30/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา