backup og meta

ฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ และพัฒนาการฟันเด็กที่ควรรู้

ฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ และพัฒนาการฟันเด็กที่ควรรู้

คนเรามีฟัน 2 ชุด ชุดแรก คือ ฟันน้ำนม ชุดที่ 2 คือ ฟันแท้หรือฟันถาวร คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่า ฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ โดยทั่วไปแล้ว ฟันแท้ของเด็กจะขึ้นในช่วงอายุประมาณ 6-7 ขวบ หลังจากที่ฟันน้ำนมหลุดออกไป และจะใช้เวลาหลายปีกว่าฟันแท้จะขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนมจนครบจำนวน 28-32 ซี่ ส่วนใหญ่ฟันแท้จะขึ้นครบตอนอายุประมาณ 21 ปี คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้เด็กใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้ดีอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้ฟันผุหรือแตกหักก่อนเวลา เพื่อให้ฟันแท้ที่งอกใหม่มีสภาพสมบูรณ์ ลดปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน

[embed-health-tool-bmi]

ประเภทของฟัน มีอะไรบ้าง

ฟันแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • ฟันหน้า (Incisors) เรียกอีกอย่างว่า ฟันตัด เป็นฟันที่อยู่ด้านหน้าขากรรไกร มีลักษณะคมและบาง ทำหน้าที่กัด ตัด และฉีกอาหารชิ้นใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง
  • ฟันเขี้ยว (Canines) ฟันซี่แหลมที่อยู่ติดกับฟันหน้า มีรากหนาและยาวที่สุด จึงยึดกับกรามได้เหนียวแน่นที่สุด ทำหน้าที่กัดและตัดอาหาร
  • ฟันกรามน้อย (Premolars) ฟันที่มีสันกว้าง แบน พื้นผิวเรียบ อยู่ถัดจากฟันเขี้ยว ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ
  • ฟันกราม (Molar) ฟันพื้นผิวเรียบที่มีสันกว้างและแบนกว่าฟันกรามน้อย อยู่ในตำแหน่งลึกที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในช่องปาก ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน และช่วยควบคุมทิศทางการเคลื่อนไหวของขากรรไกรร่วมกับฟันเขี้ยว

ความแตกต่างของฟันแท้และฟันน้ำนม

ฟันน้ำนม (Primary teeth หรือ Baby teeth) คือ ฟันที่ขึ้นเป็นชุดแรก โดยฟันน้ำนมซี่แรกจะเริ่มงอกตอนอายุประมาณ 6-12 เดือน ลำดับการขึ้นของฟันน้ำนมมักเป็นดังนี้

  1. ฟันหน้าหรือฟันตัดล่าง 2 ซี่กลาง
  2. ฟันหน้าหรือฟันตัดบน 2 ซี่กลาง
  3. ฟันหน้าหรือฟันตัดบน 2 ซี่ข้าง
  4. ฟันหน้าหรือฟันตัดล่าง 2 ซี่ข้าง
  5. ฟันเขี้ยวบน 2 ซี่
  6. ฟันเขี้ยวล่าง 2 ซี่
  7. ฟันกรามบน 2 ซี่แรก
  8. ฟันกรามล่าง 2 ซี่แรก
  9. ฟันกรามล่าง 2 ซี่ในสุด
  10. ฟันกรามบน 2 ซี่ในสุด

ฟันน้ำนมจะขึ้นครบทั้ง 20 ซี่ตอนอายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง จากนั้นเมื่ออายุได้ประมาณ 6-7 ขวบ ฟันน้ำนมจะค่อย ๆ หลุดไปเมื่อฟันแท้ทยอยดันตัวขึ้นมาเหนือเหงือกเพื่อแทนที่ฟันน้ำนม โดยฟันน้ำนมซี่แรกที่จะหลุดออกคือฟันหน้าตรงกลาง

ฟันแท้ (Permanent Teeth) คือ ฟันชุดที่สองซึ่งจะอยู่ไปตลอดชีวิต มีขนาดใหญ่กว่าฟันน้ำนม และจะมีสีขาวอมเหลือง ต่างจากฟันน้ำนมที่มีสีขาวคล้ายน้ำนม ฟันแท้จะพัฒนาตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยเด็กกระทั่งฟันขึ้นอยู่ใต้เหงือก จากนั้นจึงค่อย ๆ งอกออกมาและดันฟันน้ำนมที่อยู่ในแนวเหงือกข้างเคียงออกไป ฟันแท้มีจำนวนทั้งหมด 32 ซี่ แบ่งเป็นฟันบน 16 ซี่ และฟันล่าง 16 ซี่ โดยฟันแท้ 4 ซี่สุดท้ายซึ่งเป็นซี่ในสุด เรียกว่า ฟันคุด อาจเกิดเอียงจากแนวฟัน งอกพ้นเหงือก หรือคุดอยู่ในเหงือกก็ได้ หากฟันคุดก่อให้เกิดปัญหาอาจต้องถอนหรือผ่าออก จึงเป็นเรื่องปกติที่บางคนอาจมีฟันงอกพ้นเหงือกให้เห็นเพียง 28 ซี่

ฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ

ระยะเวลาที่ฟันแท้ของเด็กจะขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนมนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน ส่วนใหญ่ฟันแท้ที่อยู่ในแนวเหงือกข้างเคียงจะค่อย ๆ เบียดและโผล่ขึ้นมาทดแทนฟันน้ำนมที่ค่อย ๆ หลุดออกไปทีละซี่ ลำดับการขึ้นพ้นเหงือกของฟันแท้อาจมีดังนี้

  • ฟันกรามซี่แรก (First molars) ขึ้นตอนอายุประมาณ 6-7 ขวบ
  • ฟันหน้าหรือฟันตัดซี่กลาง (Central incisors) ขึ้นตอนอายุประมาณ 6-8 ปี
  • ฟันหน้าหรือฟันตัดตัดซี่ข้าง (Lateral incisors) ขึ้นตอนอายุประมาณ 6-8 ปี
  • ฟันเขี้ยว ขึ้นตอนอายุประมาณ 9-13 ปี
  • ฟันกรามน้อย ขึ้นตอนอายุประมาณ 9-13 ปี
  • ฟันกรามซี่ที่ 2 (Second molars) ขึ้นตอนอายุประมาณ 11-13 ปี
  • ฟันกรามซี่ที่ 3 (Third molars) หรือฟันคุด (Wisdom teeth) ขึ้นตอนอายุประมาณ 17-21 ปี แต่ฟันคุดของบางคนก็อาจไม่โผล่พ้นเหงือกขึ้นมา

ฟันแท้ขึ้นเร็ว เกิดจากอะไร

โดยทั่วไป ฟันน้ำนมจะค่อย ๆ หลุดไปเมื่อฟันแท้ที่ฝังตัวอยู่ในแนวเหงือกใกล้เคียงดันตัวขึ้นมาจากเหงือก ฟันแท้ที่เพิ่งงอกจะค่อย ๆ เบียดฟันน้ำนมให้หลุดออกไปอย่างถาวรในที่สุด แต่หากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ฟันหักหรือโยก หรือดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดี แปรงฟันไม่ทั่วถึงจนทำให้ฟันผุ หมอฟันอาจจำเป็นต้องถอนฟันน้ำนมซี่ที่เสียหายออกเพื่อให้เคี้ยวอาหารได้สะดวก และป้องกันไม่ให้อาการผุลุกลามไปยังฟันซี่อื่น ๆ ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ฟันแท้ขึ้นเร็วกว่าปกติได้ นอกจากนี้ การที่ฟันน้ำนมหลุดเร็วยังอาจส่งผลต่อรูปฟัน เช่น ฟันแท้ขึ้นผิดที่หรือผิดตำแหน่ง เนื่องจากไม่มีแผงกั้นของฟันน้ำนมมาช่วยประคองให้ฟันแท้ที่ขึ้นใหม่เรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ

หากฟันน้ำนมหลุดเร็วเกินไปและมีฟันแท้ขึ้นทดแทนจำนวนมาก อาจเป็นสัญญาณของภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กไปพบคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ เพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมน ซึ่งต้องรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนเสริม เป็นต้น เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัย

ฟันแท้ขึ้นช้า เกิดจากอะไร

ฟันแท้ซี่แรกมักงอกขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนมในช่วงอายุ 6-7 ขวบ หากเด็กอายุ 8-9 ปีแล้วฟันแท้ยังไม่ขึ้น หรือมีลำดับการขึ้นของฟันแท้แตกต่างจากที่พบทั่วไป เช่น ฟันหน้าซี่ข้างขึ้นก่อนฟันหน้าซี่กลาง ฟันซี่เดียวกันที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกันขึ้นห่างกันเกิน 6 เดือน หรือฟันหน้ากลาง 2 ซี่บนขึ้นช้ากว่าฟันหน้ากลาง 2 ซี่ล่างนานเกิน 1 ปี อาจเป็นสัญญาณของภาวะฟันแท้ขึ้นช้า (Delayed Eruption of Permanent Upper Front Teeth) ที่ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและหาวิธีรักษาที่เหมาะสม

สาเหตุที่ทำให้ฟันแท้ขึ้นช้า อาจมีดังนี้

  • มีฟันเกินที่กำลังพัฒนาอยู่ภายในเหงือก
  • ฟันเรียงไม่เป็นระเบียบ เช่น ฟันเบียด ฟันเกทับกัน ฟันซ้อน
  • ฟันที่ยังไม่ขึ้นมีรูปร่างผิดปกติ เช่น ฟันยาว รากฟันบิดโค้ง
  • มีพื้นที่ในกรามไม่เพียงพอ ทำให้ฟันไม่สามารถงอกขึ้นมาตามเวลาปกติได้
  • เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกหรือเนื้อเยื่ออ่อนที่บริเวณใกล้เคียง

นอกจากนี้ ฟันแท้ขึ้นช้ายังอาจเกิดจากภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการของกระดูกผิดปกติ เช่น โรคกระดูกอ่อน (Rickets) โรคดาวน์ซินโดรม ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) ไฟบรัสดิสเพลเซีย (Fibrous Dysplasis) หรืออาการผิดปกติของการสร้างกระดูก แต่ภาวะเหล่านี้พบได้ไม่บ่อยนัก

หากเด็กมีฟันแท้ขึ้นช้าผิดปกติแม้ว่าฟันน้ำนมจะหลุดไปนานแล้ว แนวทางแก้ไขที่ดีที่สุด คือ การพาเด็กไปหาหมอฟันเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้ฟันขึ้นช้า โดยทั่วไปคุณหมอจะเอกซเรย์ดูเหงือกและฟันที่ยังไม่ขึ้น เมื่อทราบสาเหตุแล้ว คุณหมอจะได้วางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุด และช่วยให้ฟันของเด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย

การดูแลฟันเด็ก ทำได้อย่างไรบ้าง

การดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของเด็ก สามารถทำได้ดังนี้

เด็กอายุไม่เกิน 3 ปี

  • เริ่มแปรงฟันให้เด็กทันทีที่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น โดยทั่วไปฟันน้ำนมจะเริ่มงอกตอนเด็กอายุได้ประมาณ 6 เดือน
  • ดูแลให้เด็กแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในปริมาณติดแปรงเล็กน้อย วันละ 2 ครั้ง ๆ ละไม่ต่ำกว่า 2 นาที ในตอนเช้าและก่อนนอน
  • พ่อแม่ควรแปรงฟันให้เด็กหรือคอยดูแลตอนเด็กแปรงฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้แปรงหลุดเข้าลำคอเด็ก หรือคอยเตือนหากเด็กแปรงฟันไม่สะอาด
  • ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สำหรับเด็กที่มีฟลูออไรด์ไม่น้อยกว่า 1,000 ppm (สามารถดูได้จากฉลากสินค้า) หรือยาสีฟันสำหรับครอบครัวที่มีฟลูออไรด์ระหว่าง 1,350-1,500 ppm เป็นปริมาณที่เหมาะสำหรับเด็กทุกวัย

เด็กอายุ 3-6 ปี

  • ดูแลให้เด็กแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในปริมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว วันละ 2 ครั้ง ๆ ละไม่ต่ำกว่า 2 นาที ในตอนเช้าและก่อนนอน
  • พ่อแม่ควรอยู่ด้วยขณะเด็กแปรงฟัน เพื่อคอยดูแลไม่ให้แปรงหลุดเข้าลำคอเด็ก หรือคอยเตือนหากเด็กแปรงฟันไม่สะอาด
  • ให้เด็กบ้วนยาสีฟันที่อยู่ในปากทิ้ง และหลีกเลี่ยงการบ้วนน้ำตาม เพราะอาจทำให้ฟลูออไรด์ทำงานได้ไม่เต็มที่

เด็กอายุ 7 ปีขึ้นไป

  • ดูแลให้เด็กแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในปริมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว วันละ 2 ครั้ง ๆ ละไม่ต่ำกว่า 2 นาที ในตอนเช้าและก่อนนอน
  • ให้เด็กบ้วนยาสีฟันที่อยู่ในปากทิ้ง และหลีกเลี่ยงการบ้วนน้ำตาม เพราะอาจทำให้ฟลูออไรด์ทำงานได้ไม่เต็มที่
  • ให้เด็กแปรงฟันเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนเข้านอน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What to Know About Eruption of Child’s Permanent Teeth. https://www.webmd.com/children/what-to-know-eruption-childs-permanent-teeth. Accessed November 16, 2022

Teeth Eruption Timetable. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/11179-teeth-eruption-timetable. Accessed November 16, 2022

Teeth development in children. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/teeth-development-in-children. Accessed November 16, 2022

Your Teeth. https://kidshealth.org/en/kids/teeth.html. Accessed November 16, 2022

Anatomy and Development of the Mouth and Teeth. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=anatomy-and-development-of-the-mouth-and-teeth-90-P01872. Accessed November 16, 2022

Children’s teeth. https://www.nhs.uk/live-well/healthy-teeth-and-gums/taking-care-of-childrens-teeth/. Accessed November 16, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/12/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีแปรงฟัน สำหรับเด็ก และประโยชน์ของการแปรงฟันเด็ก

เด็ก แปรง ฟัน ได้เมื่อไหร่ ควรสอนอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา