backup og meta

ข้อควรรู้ก่อนใช้ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่

ข้อควรรู้ก่อนใช้ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่

คุณอาจจะเคยได้ยินมาว่า ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ (topical corticosteroids) นั้นเป็นอันตรายต่อผิวของคุณ เรื่องนี้จะจริงก็ต่อเมื่อคุณใช้ยานี้เป็นเวลานานติดต่อกันเท่านั้น สำหรับบางกรณีที่รุนแรงของสภาวะผิวบางชนิดนั้น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่จะสามารถช่วยบรรเทา และช่วยจัดการกับรอยแดงและอาการคันได้ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่มีมาตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 1950 และแพทย์ผิวหนังมักจะเป็นผู้สั่งใช้ยานี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ยานี้จะปลอดภัย เพียงแต่มันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสภาวะของคุณ

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์นั้นคล้ายกับคอร์ติซอล (cortisol) ฮอร์โมนตามที่ร่างกายผลิตขึ้น ยานี้ทำงานโดยการกดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้หรือสารที่ทำให้ระคายเคืองซึ่งนำไปสู่การบรรเทาอาการอักเสบ แพทย์ผิวหนังของคุณอาจจะแนะนำให้ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่เพื่อรักษาสภาวะผิวหนังดังต่อไปนี้

  • โรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
  • โรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม (Seborrhoeic dermatitis) – ซึ่งเป็นสภาวะที่ทำให้เกิดผิวหนังลอกเป็นขุย
  • โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
  • ผื่นผ้าอ้อม (Nappy rash)
  • โรคไลเคนพลานัส (Lichen planus) – สภาวะที่ทำให้เกิดผื่นคันที่ไม่ติดเชื้อ
  • โรคดีแอลอี (Discoid lupus erythematosus) – โรคลูปัส (lupus) ชนิดหนึ่งที่มักจะส่งผลต่อผิวหนังเท่านั้น
  • อาการแพ้ที่ผิวหนังที่เกิดจากแมลงหรือเหล็กใน

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ไม่ได้ใช้เพื่อรักษาสภาวะเหล่านี้เท่านั้น ในบางกรณีแพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่น ตามปกติมักจะใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่เพื่อบรรเทาอาการอย่างรวดเร็วเท่านั้น ก่อนที่คุณจะใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ มีบางอย่างที่คุณควรจะรู้

ข้อควรรู้เกี่ยวกับผลข้างเคียง

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่มักจะไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง หากใช้ยาไม่บ่อยนัก การใช้ยาในระยะยาวอาจทำไปสู่ผลข้างเคียงรุนแรงที่มากขึ้น ผลข้างเคียงอาจมีดังต่อไปนี้

  • ผิวบางลง หรือผิวเสื่อม (atrophy)
  • รอยแตกลายบริเวณรักแร้หรือขาหนีบ (striae)
  • มีรอยช้ำและผิวฉลอกง่าย อย่างจ้ำเลือดที่ผิวหนังในผู้สูงอายุ (senile purpura) หรือจ้ำเลือดที่ผิวหนังจากแสงอาทิตย์ (solar purpura)
  • หลอดเลือดโป่งพอง (telangiectasia)
  • มีขนดกหนาขึ้นเฉพาะส่วน หรือโรคมนุษย์หมาป่า (hypertrichosis)

ไม่ควรใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ หากคุณตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร คุณควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ขนานแรงในเด็ก

ข้อควรรู้เกี่ยวกับระดับของความแรง

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่มีระดับความแรงอยู่หลายระดับ มีช่วงตั้งแต่ระดับน้อยที่สุด (ระดับ 7) ไปจนถึงระดับรุนแรงมากพิเศษ (ระดับ 1) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์แรง มักจะเก็บไว้ใช้สำหรับกรณีรุนแรง และไม่ควรใช้กับบริเวณที่บอบบาง เช่นใบหน้า แพทย์มักจะแนะนำให้คุณเริ่มโดยการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์แรงน้อยที่สุด แล้วจึงค่อยเปลี่ยนเป็นยาที่มีฤทธิ์แรงกว่าหากจำเป็น ยาที่มีฤทธิ์แรงกว่านั้นจะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ รายชื่อของยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่พร้อมกับระดับของความแรงบางประการมีดังต่อไปนี้

ระดับรุนแรงมากพิเศษ (ระดับ 1)

  • โคลเบทาซอล โพรพิโอเนต (Clobetasol propionate) 0.05% แบบโลชั่น ยาพ่น แชมพู สารละลาย ครีม หรือขี้ผึ้ง
  • เบต้าเมทาโซน ไดโพรพิโอเนต (Betamethasone dipropionate) 0.05% แบบขี้ผึ้ง
  • ฮาโลเบทาซอล โพรพิโอเนต (Halobetasol propionate) 0.05% แบบขี้ผึ้ง หรือแบบครีม
  • ฟลูโอซิโนนายด์ (Fluocinonide) 0.01% แบบครีม
  • ไดฟลอราโซล ไดอะซิเตต (Diflorasone diacetate) 0.05% แบบขี้ผึ้ง
  • เดสออกซิเมทาโซน (Desoximetasone) 0.25% แบบยาพ่น

ระดับแรง (ระดับ 2)

  • เบต้าเมทาโซน ไดโพรพิโอเนต 0.05% แบบครีม
  • โมเมทาโซน ฟูโรเอต (Mometasone furoate) 0.1% แบบขี้ผึ้ง
  • ไดฟลอราโซล ไดอะซิเตต 0.05% แบบขี้ผึ้ง
  • ฮาลซินโนไนด์ (Halcinonide) 0.1% แบบขี้ผึ้ง หรือครีม
  • ฟลูโอซิโนโลน 0.05% แบบครีม เจล หรือขี้ผึ้ง
  • ไดฟลอราโซล ไดอะซิเตต 0.05% แบบครีม
  • เดสออกซิเมทาโซน 0.025% แบบครีม หรือขี้ผึ้ง
  • เดสออกซิเมทาโซน 0.05% แบบเจล

ระดับปานกลางส่วนบน (ระดับ 3)

  • ฟลูติคาโซน โพรพิโอเนต (Fluticasone propionate) 0.005% แบบขี้ผึ้ง
  • ฟลูโอซิโนโลน 0.05% แบบครีม
  • เบต้าเมทาโซน วาเลเรต (Betamethasone valerate) 0.12% แบบโฟม

ระดับปานกลาง (ระดับ 4)

  • ไฮโดรคอร์ติโซน วาเลเรต (Hydrocortisone valerate) 0.2% แบบขี้ผึ้ง
  • เดสออกซิเมทาโซน 0.05% แบบขี้ผึ้ง หรือครีม
  • ฟลูโอซิโนโลน อะเซโทไนด์ (Fluocinolone acetonide) 0.03% แบบขี้ผึ้ง
  • ไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ (Triamcinolone acetonide) 0.1% แบบครีม หรือยาพ่น
  • โมเมทาโซน ฟูโรเอต 0.1% แบบครีม
  • ฟลูแรนเดรโนไลด์ (Flurandrenolide) 0.05% แบบขี้ผึ้ง

ระดับปานกลางส่วนล่าง (ระดับ 5)

  • ฟลูโอซิโนโลน อะเซโทไนด์ 0.01% แบบแชมพู
  • ฟลูแรนเดรโนไลด์ 0.05% แบบครีม โลชั่น หรือแบบสายเทป
  • ฟลูติคาโซน โพรพิโอเนต 0.05% แบบครีม หรือโลชั่น
  • เพรดนิคาร์เบท (Prednicarbate) 0.1% แบบครีม
  • เดสโซไนด์ (Desonide) 0.05% แบบโลชั่น
  • ไฮโดรคอร์ติโซน บิวทีเรท (Hydrocortisone butyrate) 0.1% แบบครีม ขี้ผึ้ง หรือสารละลาย
  • ฟลูโอซิโนโลน อะเซโทไนด์ 0.03%, 0.01% แบบครีม
  • ไฮโดรคอร์ติโซน วาเลเรต 0.2% แบบครีม

ระดับเบา (ระดับ 6)

  • เดสโซไนด์ 0.05% แบบโฟม หรือเจล
  • ฟลูโอซิโนโลน อะเซโทไนด์ 0.01% แบบครีม หรือสารละลาย
  • อะโคลเมทาโซน ไดโพรพิโอเนต (Aclometasone dipropionate) 0.05% แบบครีม หรือขี้ผึ้ง

ระดับน้อยที่สุด (ระดับ 7)

  • ไฮโดรคอร์ติโซน 1% หรือ 2.5% แบบครีม ขี้ผึ้ง โลชั่น หรือยาพ่น

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์บางชนิดสามารถพบได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาแถวบ้าน ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์แรงกว่านั้นอาจจะต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งยา

รูปแบบของยา

คุณอาจจะคิดว่าคุณสามารถใช้ยาในรูปแบบไหนก็ได้ โดยไม่มีผลต่อความแรงของยา คุณควรจะคิดใหม่อีกครั้ง รูปแบบของยานั้นมีความสำคัญตรงที่วิธีการส่งสารที่ออกฤทธิ์ภายในยาเข้าสู่ร่างกายคุณ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่จะมีรูปแบบดังต่อไปนี้

  • ขี้ผึ้ง – ตามปกติแล้วยาที่มีความมัน เยิ้ม และมีฤทธิ์แรงนั้น จะเหมาะสมสำหรับบริเวณที่แห้งและหนา
  • ครีม – มีความมันน้อยกว่าและง่ายต่อการทา และอาจจะลดประสิทธิภาพของยาสเตียรอยด์ (steroid)
  • โลชั่น – ทั้งยาที่มีพื้นฐานเป็นแอลกฮอล์และสารหล่อลื่นนั้น ง่ายต่อการทาบริเวณที่มีเส้นขนมาก ยาที่มีพื้นฐานเป็นแอลกฮอล์นั้นเหมาะสมสำหรับบริเวณที่มีการคั่งบวม (exudative lesions) ส่วนยาที่มีพื้นฐานเป็นสารหล่อลื่นนั้นเหมาะสมสำหรับแผลแห้งบนหนังศีรษะ
  • เจล – มีส่วนประกอบทั้งน้ำและแอลกอฮอล์ มีผลทำให้แห้งเหมาะสมกับผดผื่นเยิ้ม

เคล็ดลับการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่

คุณควรจะทำตามแนวทางการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่จากแพทย์เสมอ ขึ้นอยู่กับแนวทางการใช้ยาของแพทย์ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่มักจะทาวันละหนึ่งถึงสองครั้งในเวลากลางวัน เป็นเวลาหนึ่งถึงสองสัปดาห์

คุณควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเป็นเวลานานและติดต่อกัน ควรทายาตรงบริเวณที่มีอาการเท่านั้น ควรบีบยาปริมาณเล็กน้อยลงบนนิ้วแล้วค่อยๆ นวดให้ซึมเข้าสู่ผิวตามแนวที่เส้นขนเติบโต

หากคุณใช้ทั้งยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่และสารที่ทำให้ผิวนุ่ม (emollients) ควรทาสารที่ทำให้ผิวนุ่มก่อน แล้วรอ 30 นาที ก่อนจะทายาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Corticosteroid preparations (topical). http://www.nhs.uk/conditions/Corticosteroid-preparations-(topical)/Pages/Introduction.aspx. Accessed September 20, 2016.

Choosing Topical Corticosteroids. http://www.aafp.org/afp/2009/0115/p135.pdf. Accessed September 20, 2016.

Topical corticosteroids – 10 must know facts. http://www.pharmacytimes.com/publications/issue/2014/may2014/topical-corticosteroids-10-must-know-facts. Accessed September 20, 2016.

Steroids Potency Chart. https://www.psoriasis.org/about-psoriasis/treatments/topicals/steroids/potency-chart. Accessed September 20, 2016.

Topical Steroids. http://www.dermnetnz.org/treatments/topical-steroids.html. Accessed September 20, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/01/2019

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

อัปเดตโดย: pimruethai


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาอะเซตามิโนเฟน ส่งผลต่อ ทารกในครรภ์ อย่างไรบ้าง

ยากลุ่ม แองจิโอเทนซินทูรีเซฟเตอร์บล็อกเกอร์ ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้อย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 25/01/2019

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา