ข้อบ่งใช้ ไอปราโทรเปียม โบรไมด์
ไอปราโทรเปียม โบรไมด์ ใช้สำหรับ
ไอปราโทรเปียม โบรไมด์ (Ipratropium bromide) เป็นยาที่มักใช้เพื่อควบคุมและป้องกันอาการต่างๆ เช่น หายใจมีเสียงและหายใจติดขัด ที่เกิดจากโรคปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่รวมถึงหลอดลมอักเสบ และถุงลมโป่งพอง ยานี้ออกฤทธิ์ด้วยการคลายกล้ามเนื้อโดยรอบทางเดินหายใจ เพื่อให้ทางเดินหายใจเปิด และคุณสามารถหายใจได้สะดวกขึ้น การควบคุมอาการต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาในการหายใจ สามารถลดเวลาที่ผู้ป่วยจะสูญเสียไปในระหว่างการทำงานหรือการเรียนได้
สำหรับการป้องกันอาการต่างๆ ของโรคปอดนั้น ต้องใช้ยานี้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การรักษาได้ผล ให้ใช้อุปกรณ์สูดดมสำหรับบรรเทาอาการแบบเร่งด่วนหรือสารละลายสำหรับฉีดพ่น เช่น สารละลายอัลบูเทอรอล (albuterol) ซึ่งเรียนอีกอย่างว่าสารละลายซัลบูทามอล (salbutamol) ในบางประเทศ สำหรับอาการหายใจมีเสียง หรือหายใจติดขัดเฉียบพลัน หากแพทย์ไม่ได้แนะนำไว้เป็นอย่างอื่น ยาไอปราโทรเปียมไม่ได้ออกฤทธิ์เร็วเท่ากับยาสำหรับบรรเทาอาการแบบเร่งด่วน แต่บางครั้งอาจใช้ร่วมกับยาสำหรับบรรเทาอาการแบบเร่งด่วน เพื่อบรรเทาอาการหายใจมีเสียง หรือหายใจติดขัดเฉียบพลัน หากแพทย์แนะนำไว้เช่นนั้น
วิธีใช้ยาไอปราโทรเปียม โบรไมด์
- ยานี้ควรมีลักษณะใส และไม่มีสี ก่อนใช้ยานี้ ให้ตรวจสอบยาด้วยสายตาเพื่อมองหาตะกอนหรือการเปลี่ยนสีของยา หากยามีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังกล่าว ห้ามใช้ยานั้น
- ให้สูดดมยานี้เข้าสู่ปอดโดยใช้อุปกรณ์พ่นยาตามที่แพทย์สั่ง โดยปกติแล้ว 3 ถึง 4 ครั้งต่อวัน (เว้นระยะห่าง 6 ถึง 8 ชั่วโมง) ให้หลีกเลี่ยงไม่ให้ยาเข้าดวงตา ยานี้อาจทำให้ดวงตาเกิดอาการเจ็บปวด/ระคายเคือง มองเห็นไม่ชัดชั่วคราว หรือความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับดวงตาอื่นๆ ดังนั้น แนะนำให้คุณใช้หน้ากากแบบปิดเฉพาะปาก แทนการใช้แบบปิดทั้งใบหน้าในการพ่นยา หรือให้คุณปิดตาขณะพ่นยา การรักษาแต่ละครั้งมักใช้เวลาประมาณ 5 ถึง 15 นาที ให้ใช้ยานี้กับอุปกรณ์พ่นยาเท่านั้น ห้ามกลืนหรือฉีดยา เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ให้ทำความสะอาดอุปกรณ์พ่นยาและหน้ากากปิดเฉพาะปาก/หน้ากากปิดทั้งหน้า ตามคำแนะนำของผู้ผลิตให้ล้างปากหลังใช้ยาเพื่อป้องกันอาการปากแห้ง และอาการระคายเคืองในลำคอ
- ยาไอปราโทรเปียมอาจผสมกับยาชนิดอื่นๆ เช่น ยาอัลบูเทอรอล (albuterol) หรือน้ำเกลือหากแพทย์สั่ง ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างระมัดระวัง เมื่อเปิดภาชนะบรรจุยาแล้ว ให้ทิ้งยาที่ไม่ได้ใช้งาน
- ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และการตอบสนองต่อการรักษา
- หากคุณได้รับการแนะนำให้ใช้ยานี้อย่างสม่ำเสมอ ยานี้ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด หากใช้ในช่วงระยะห่างที่สม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้คุณสามารถจำช่วงเวลาการใช้ยา ใช้ยาในเวลาเดียวกันในแต่ละวัน ห้ามเพิ่มขนาดยา ห้ามใช้ยาบ่อยขึ้น หรือห้ามหยุดใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- ให้แจ้งแพทย์ หากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
- ให้ศึกษาว่ายาสำหรับฉีดพ่น/ยากิน ชนิดใดที่คุณควรใช้ทุกวัน และยาชนิดใดที่คุณควรใช้ หากการหายใจของคุณแย่ลงอย่างฉับพลัน (ยาบรรเทาอาการเฉียบพลัน) ให้ปรึกษาแพทย์ล่วงหน้า เกี่ยวกับสิ่งที่คุณควรปฏิบัติ หากคุณมีอาการไอหรือหายใจติดขัด หายใจมีเสียง มีเสมหะมากขึ้น ตื่นนอนกลางดึก พร้อมด้วยอาการหายใจติดขัดที่เกิดขึ้นใหม่ หรือแย่ลง หากคุณใช้ยาสำหรับสูดดมบรรเทาอาการเฉียบพลันบ่อยขึ้นหรือหากยาสำหรับสูดดมบรรเทาอาการเฉียบพลันที่คุณใช้ ดูเหมือนไม่ให้ผลการรักษาที่ดีอีกต่อไป ให้ศึกษาเกี่ยวกับช่วงเวลาที่คุณสามารถรักษาปัญหาเกี่ยวกับการหายใจเฉียบพลันด้วยตัวเอง หรือช่วงเวลาที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยทันที
การเก็บรักษายาไอปราโทรเปียม โบรไมด์
- ให้เก็บภาชนะใส่ยาให้ห่างจากเปลวไฟหรือความร้อนสูง เช่น ในรถหรืออากาศร้อน ภาชนะอาจระเบิดหากร้อนเกินไป ห้ามเจาะหรือเผาภาชนะที่ใช้หมดแล้ว
- ให้เก็บอุปกรณ์สำหรับสูดดมโดยปิดฝาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้นและความร้อน ให้ทิ้งภาชนะใส่ยาเมื่อสัญลักษณ์บ่งชี้ขนาดยาอยู่ที่เลข 0 ถึงแม้จะรู้สึกว่ายังมียาเหลืออยู่ในภาชนะก็ตาม
ข้อควรระวังและคำเตือน
ข้อควรรู้ก่อนใช้
- ก่อนใช้ยาไอปราโทรเปียม โบรไมด์ ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร หากคุณแพ้ยานี้ หรือยาไทโอโทรเปียม (tiotropium) หรือยาอะโทรปีน (atropine) หรือยากลุ่มเบลลาดอนนา (elladonna-type drugs) อื่นๆ หรือแพ้สิ่งอื่นๆ ยานี้อาจมีส่วนผสมที่ไม่ออกฤทธิ์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรืออาการอื่นๆ ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
- ก่อนใช้ยานี้ ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับประวัติสุขภาพของคุณ โดยเฉพาะประวัติตนเอง หรือคนในครอบครัวเคยเป็นต้อหิน (glaucoma) ชนิดมุมปิด (angle-closure type) ปัสสาวะติดขัด เช่น เกิดจากภาวะต่อมลูกหมากโต
- ยานี้อาจทำให้เวียนศีรษะ หรือทำให้การมองเห็นไม่ชัด หรือทำให้การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป แอลกอฮอล์หรือกัญชาอาจทำให้อาการเวียนศีรษะรุนแรงขึ้น ห้ามขับรถ ใช้งานเครื่องจักร หรือทำสิ่งใดๆ ที่จำเป็นต้องตื่นตัว หรือใช้การมองเห็นที่ชัดเจน จนกว่าจะทำได้อย่างปลอดภัย ให้จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้แจ้งแพทย์หากคุณกำลังใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคอยู่
- ก่อนการผ่าตัด ให้แจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์เกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ ได้แก่ ยาที่แพทย์สั่ง ยาที่แพทย์ไม่ได้สั่ง หรือยาสมุนไพร
- ผู้สูงอายุอาจมีความไวต่อผลข้างเคียงของยานี้ได้มากกว่า โดยเฉพาะอาการเกี่ยวกับการขับถ่าย ปัสสาวะ หรืออาการท้องผูก
- ในระหว่างการตั้งครรภ์ ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและสรรพคุณของยานี้
- ยังไม่มีการศึกษาว่ายานี้สามารถแพร่เข้าสู่น้ำนมแม่ได้หรือไม่ ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร
ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้
ยาไอปราโทรเปียมโบรไมด์จัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)
การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ โดย FDA มีดังนี้
- A=ไม่มีความเสี่ยง
- B=ไม่มีความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
- C=อาจจะมีความเสี่ยง
- D=มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
- X=ห้ามใช้
- N=ไม่ทราบแน่ชัด
ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงของยาไอปราโทรเปียม โบรไมด์
- อาจเกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง ปากแห้ง หรือท้องผูก หากผลข้างเคียงเหล่านี้ไม่หายไปหรือแย่ลง ให้ติดต่อแพทย์หรือเภสัชกรทันที
- ให้ระลึกไว้ว่า แพทย์ได้สั่งให้คุณใช้ยานี้ เพราะได้พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ของยานี้มีต่อคุณ มากกว่าความเสี่ยงต่อผลข้างเคียง ผู้ป่วยจำนวนมากที่ใช้ยานี้ ไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง
- ยานี้มักไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการเกี่ยวกับการหายใจ ที่แย่ลงอย่างเฉียบพลันที่รุนแรงหลังจากใช้ยา หากคุณมีอาการเกี่ยวกับการหายใจที่แย่ลงอย่างเฉียบพลัน ให้ใช้ยาบรรเทาอาการเฉียบพลัน และเข้ารับการรักษาทันที
- ให้แจ้งแพทย์ทันที หากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรง ได้แก่ หัวใจเต้นเร็วและแรง ปัสสาวะลำบาก/มีอาการปวด
- ให้เข้ารับการรักษาทันที หากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรงมาก ได้แก่ ดวงตาเจ็บ/บวม/แดง การมองเห็นเปลี่ยนแปลง เช่น การมองเห็นสีรุ้งโดยรอบแสงสว่างในเวลากลางคืน การมองเห็นไม่ชัด
- อาการแพ้ยานี้ที่รุนแรงมากมักพบได้น้อย อย่างไรก็ดี ให้เข้ารับการรักษาทันที หากคุณสังเกตได้ถึงอาการแพ้ยาที่รุนแรง ได้แก่ มีผื่น อาการคัน/บวม (โดยเฉพาะที่ใบหน้า/ลิ้น/ลำคอ) เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หายใจลำบาก
- อาการข้างเคียงเหล่านี้พบไม่ได้ในผู้ใช้ยาทุกคน และอาจมีอาการข้างเคียงที่ไม่ได้ระบุข้างต้น หากคุณมีข้องกังวลเกี่ยวกับอาการข้างเคียง ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
ปฏิกิริยาของยา
ปฏิกิริยากับยาอื่น
ยาไอปราโทรเปียมโบรไมด์อาจเกิดอันตรกิริยา กับยาชนิดอื่นที่คุณใช้อยู่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงสำหรับอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาของยาที่อาจเกิดขึ้น คุณควรทำรายการยาที่ใช้อยู่ทั้งหมด (ยาที่สั่งโดยแพทย์ ยาที่ไม่ได้สั่งโดยแพทย์ และยาสมุนไพร) และแจ้งแก่แพทย์หรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัยของคุณ ห้ามเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยา โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์
ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์
ยาไอปราโทรเปียมโบรไมด์อาจทำปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ โดยการเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ยา หรือเพิ่มความเสี่ยงสำหรับผลข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เกี่ยวกับปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นของยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์ ก่อนการใช้ยา
ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น ๆ
ยาไอปราโทรเปียมโบรไมด์อาจทำปฏิกิริยากับสภาวะทางสุขภาพของคุณ ปฏิกิริยาดังกล่าวอาจทำให้สภาวะทางสุขภาพเสื่อมลง หรือเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเสมอ เกี่ยวกับสภาวะทางสุขภาพทั้งหมดของคุณในปัจจุบัน
ขนาดยา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนใช้ยาไอปราโทรเปียมโบรไมด์เสมอ
ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่
ขนาดยาปกติในผู้ใหญ่สำหรับรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง – การรักษา แบบประคับประคอง
- ยาพ่น: พ่นยา 2 ครั้ง (34 ไมโครกรัม) ทางปากวันละสี่รอบ หรือตามที่จำเป็นได้ถึง 12 ครั้ง ภายในเวลา 24 ชั่วโมง
- ยาพ่นรูปแบบ Nebulizer : 500 ไมโครกรัม สามหรือสี่ครั้งต่อวันโดยฉีดพ่นเข้าทางปาก เว้นระยะใช้ยา 6 ถึง 8 ชั่วโมง
การใช้
- การรักษาแบบประคับประคองอาการหลอดลมหดเกร็ง ที่สัมพันธ์กับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และถุงลมโป่งพอง
การปรับขนาดยาสำหรับไต
- ให้ใช้ด้วยความระมัดระวัง
การปรับขนาดยาสำหรับตับ
- ให้ใช้ด้วยความระมัดระวัง
ข้อแนะนำอื่นๆ
ข้อแนะนำในการใช้ยา
- ใช้ฉีดพ่นทางปากเท่านั้น
- ควรใช้ยาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่งโดยตลอดการรักษา
- ควรมีการอ้างอิงข้อมูลเกี่ยวกับยาของผู้ผลิต เพื่อเป็นข้อแนะนำในการใช้ยา
ละอองยา
- ควรเตรียมอุปกรณ์พ่นยาก่อนใช้ยาครั้งแรกโดยการทดสอบพ่นยา 2 ครั้งจากส่วนหน้าไปในอากาศ หรือหากไม่ได้ใช้ยาเกินกว่า 3 วัน
- ให้หลีกเลี่ยงการพ่นยาเข้าดวงตาในขณะที่เตรียมอุปกรณ์พ่นยา
สารละลายยาสำหรับฉีดพ่น
- การใช้เครื่องพ่นยา พร้อมด้วยหน้ากากแบบปิดเฉพาะปาก แทนการใช้หน้ากากปิดทั้งหน้า ช่วยลดโอกาสที่ยาจะเข้าสู่ดวงตา
- สารละลายยาสำหรับฉีดพ่น สามารถผสมในอุปกรณ์สำหรับฉีดพ่นที่มียาอัลบูเทอรอล (albuterol) หรือยาเมทาโพรเทเรนอล (metaproterenol) ได้หากใช้ภายในหนึ่งชั่วโมง แต่ไม่ได้ใช้ร่วมกับยาอื่น
- ความคงสภาพของยา (Drug stability) และความปลอดภัยของสารละลายยาสำหรับฉีดพ่นเมื่อผสมกับยาอื่นในอุปกรณ์สำหรับฉีดพ่นไม่ได้มีการกำหนดไว้
ข้อมูลทั่วไป
ยานี้ไม่มีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาเบื้องต้นของอาการหลอดลมหดเกร็งในระยะเฉียบพลัน เมื่อการรักษาเพื่อช่วยชีวิตมีความจำเป็นสำหรับการตอบสนองที่รวดเร็ว
ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วย
- ให้ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น
- ไม่แนะนำให้ใช้ยาบ่อยขึ้นหรือขนาดยาเพิ่มขึ้น
- หากพ่นยานี้เข้าไปในดวงตา ให้ปรึกษาแพทย์ทันทีหากมีอาการมองเห็นไม่ชัดและอาการผิดปกติอื่นๆ เกี่ยวกับการมองเห็น อาการปวดหรือไม่สบายในดวงตา รูม่านตาขยาย หรือต้อหินชนิดมุมแคบ หรือมีอาการเหล่านี้ที่แย่ลงในขณะที่ใช้ยานี้
ขนาดยาสำหรับเด็ก
ขนาดยาปกติในเด็กสำหรับรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง – การรักษาแบบประคับประคอง
สารละลายยาสำหรับฉีดพ่น
- อายุน้อยกว่า 12 ปี: รายละเอียดด้านความปลอดภัยไม่มีการกำหนดไว้
- อายุ 12 ปี หรือมากกว่า: 500 ไมโครกรัม สามหรือสี่ครั้งต่อวันโดยฉีดพ่นเข้าทางปาก เว้นระยะใช้ยา 6 ถึง 8 ชั่วโมง
การใช้
- การรักษาพยุงอาการของอาการหลอดลมหดเกร็งที่สัมพันธ์กับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมโป่งพอง
คำเตือน
การพ่นยา
- รายละเอียดเกี่ยวกับความปลอดภับและผลการรักษาไม่ได้กำหนดไว้สำหรับผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
การพ่นยาในรูปแบบ Nebulizer
- รายละเอียดเกี่ยวกับความปลอดภับและผลการรักษา ไม่ได้กำหนดไว้สำหรับผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
รูปแบบยา
ยาไอปราโทรเปียมโบรไมด์มีรูปแบบการใช้และปริมาณตัวยา ดังต่อไปนี้
- สารละลายสำหรับสูดดม
- สารละลายสำหรับฉีดพ่นจมูก
- ผงยา
กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด
ในกรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ให้โทรแจ้งบริการฉุกเฉิน หรือไปยังห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลใกล้บ้านคุณ
กรณีลืมใช้ยา
หากลืมใช้ยาไอปราโทรเปียมโบรไมด์ ให้ใช้ยาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ดี หากใกล้เวลาใช้รอบถัดไป ให้ข้ามรอบที่ลืมใช้ไปแล้วใช้ยาในรอบถัดไปตามปกติที่กำหนดไว้ ห้ามใช้เพิ่มเป็นสองเท่า
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]