backup og meta

รีพาไกลไนด์ (Repaglinide)

ข้อบ่งใช้

ยา รีพาไกลไนด์ ใช้สำหรับ

ยา รีพาไกลไนด์ (Repaglinide) ใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาอื่น เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ร่วมกับการรับประทานอาหารที่เหมาะสม และโปรแกรมการออกกำลังกาย ยานี้ใช้สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงนั้นจะช่วยป้องกันไตเสียหาย ตาบอด ปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาท สูญเสียกล้ามเนื้อ และปัญหาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศ การควบคุมโรคเบาหวานอย่างเหมาะสม ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน หรือโรคหลอดเลือดสมอง ยานี้ทำงานโดยการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตอินซูลินมากขึ้น อินซูลินคือฮอร์โมนที่มีในร่างกาย ที่ทำให้ร่างกายสามารถใช้น้ำตาลจากอาหารได้อย่างเหมาะสม

วิธีใช้ยา รีพาไกลไนด์

รับประทานยานี้ 15 นาทีก่อนมื้ออาหารทุกครั้ง โดยปกติคือ 2-4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับจำนวนมื้ออาหาร หรือตามที่แพทย์กำหนด ไม่ควรรับประทานยานี้เกินกว่า 30 นาที ก่อนรับประทานอาหาร คุณสามารถรับประทานยาทันทีก่อนมื้ออาหารได้หากจำเป็น อย่ารับประทานยานี้ หากคุณงดอาหารมื้อนั้น หรือหากระดับน้ำตาลในเลือดของคุณต่ำ

ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์ การตอบสนองต่อการรักษา และยาอื่นๆ ที่คุณกำลังใช้ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ (ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ)

หากคุณเปลี่ยนจากการใช้ยารักษาโรคเบาหวานอื่น เช่น ยาคลอร์โพรพาไมด์ (chlorpropamide) มาเป็นยารีพาไกลไนด์ ควรทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เกี่ยวกับวิธีการหยุดใช้ยาเดิม และการเริ่มใช้ยาใหม่

ใช้ยานี้เป็นประจำตามที่แพทย์กำหนด เพื่อให้ได้ประโยชน์จากยาสูงสุด ควรทำตามแผนการรักษา แผนการรับประทานอาหาร และแผนการออกกำลังกายที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด

ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำตามที่แพทย์กำหนด เพื่อติดตามผลและแจ้งให้แพทย์ทราบ การทำแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญเพื่อที่จะหาขนาดยาที่ถูกต้อง โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบ หากระดับน้ำตาลในเลือดของคุณสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป เพราะอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแผนการรักษาของคุณ

การเก็บรักษายารีพาไกลไนด์

ยารีพาไกลไนด์ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยารีพาไกลไนด์บางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยารีพาไกลไนด์ลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยารีพาไกลไนด์

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะโรคไต โรคตับ

คุณอาจมีอาการมองเห็นไม่ชัด วิงเวียน หรือง่วงซึมเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไป อย่าขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องการความตื่นตัว หรือการมองเห็นที่ชัดเจน จนกว่าคุณจะสามารถทำได้อย่างปลอดภัย

ควรจำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะที่กำลังใช้ยานี้ เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้

ในช่วงของความตึงเครียด เช่น เป็นไข้ ติดเชื้อ หรือผ่าตัด อาจทำให้ยากต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควรปรึกษากับแพทย์เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของความตึงเครียดนั้น อาจทำให้คุณต้องเปลี่ยนแผนการรักษา ยา หรือการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

ในช่วงขณะการตั้งครรภ์ ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น การตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดโรคเบาหวาน หรือทำให้โรคนั้นรุนแรงขึ้น โปรดปรึกษาแพทย์ถึงแผนการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์อาจจะเปลี่ยนวิธีการรักษาโรคเบาหวานระหว่างที่คุณตั้งครรภ์ โปรดปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยง และประโยชน์ของวิธีการรักษาในแบบต่างๆ (เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยา รวมถึงอินซูลิน)

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ยานี้สามารถส่งผ่านน้ำนมแม่ได้หรือไม่ เนื่องจากโอกาสในการเกิดความเสี่ยงต่อเด็กทารก จึงไม่แนะนำการให้นมบุตรระหว่างที่กำลังใช้ยานี้ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยารีพาไกลไนด์จัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยารีพาไกลไนด์

อาจเกิดอาการน้ำหนักขึ้น ท้องร่วง และปวดข้อต่อ หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้น โปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที

โปรดจำไว้ว่า การที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้ เนื่องจากคำนวณแล้วว่า ยามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

ยารีพาไกลไนด์นั้นสามารถทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยเฉพาะหากใช้ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานอื่นๆ การดื่มสุราในปริมาณมาก รับแคลอรี่จากอาหารไม่เพียงพอ หรือออกกำลังกายหนักผิดปกติ ก็อาจนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ อาการอาจมีดังนี้คือ หนาวสั่น ตื่นตกใจกลัว วิงเวียน ง่วงซึม สั่นเทา หัวใจเต้นเร็ว อ่อนแรง ปวดหัว หมดสติ รู้สึกเสียวซ่าที่มือหรือเท้า หรือหิว ควรจะพกกลูโคสแบบเม็ดหรือเจลติดตัวไว้ เพื่อรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากคุณไม่มีแหล่งกลูโคสรูปแบบที่เชื่อถือได้ สามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็ว ด้วยการรับประทานแหล่งน้ำตาลที่หาง่าย เช่น น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง ลูกอม หรือดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำอัดลมแบบธรรมดา สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงสิ่งที่ควรทำ หากคุณลืมรับประทานอาหาร

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง มีดังนี้คือ กระหายน้ำ ปัสสาวะเพิ่มขึ้น สับสน ง่วงซึม หน้าแดง หายใจเร็ว และมีกลิ่นปากเป็นกลิ่นผลไม้ แจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากเกิดอาการเหล่านี้ แพทย์อาจจำเป็นต้องปรับยาสำหรับโรคเบาหวานของคุณ

การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ ผดผื่น คันหรือบวม (โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ) วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ได้แก่ ยาเอ็นพีเอชอินซูลิน (NPH insulin)

ยาอื่นสามารถส่งผลต่อการกำจัดยารีพาไกลไนด์ออกจากร่างกายได้ และส่งผลต่อการทำงานของยารีพาไกลไนด์ เช่น โคลพิโดเกรล (clopidogrel) เจมไฟโบรซิล (gemfibrozil) ไตรเมโทพริม (trimethoprim) ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล (azole antifungals) อย่างไอทราโคนาโซล (itraconazole) ยาปฏิชีวนะแมคโครไลด์ (macrolide antibiotics) อย่างอิริโทรมัยซิน (erythromycin) ยาไรฟามัยซิน (rifamycins) อย่างไรฟาบูติน (rifabutin) สมุนไพรเซนต์จอห์น (St. John’s wort) และอื่นๆ

ยาจำนวนมากสามารถส่งผลกระทบต่อน้ำตาลในเลือด และทำให้ควบคุมได้ยากขึ้น เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) อย่างเพรดนิโซน (prednisone) ยารักษาอาการทางจิต อย่างโอแลนซาปีน (olanzapine) ยาปฏิชีวนะฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolone antibiotics) อย่างไซโปรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin) และอื่นๆ ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำตามที่แพทย์กำหนด และแจ้งผลให้แพทย์ทราบ แจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากคุณมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในส่วนของผลข้างเคียง) แพทย์อาจจำเป็นต้องปรับยาสำหรับรักษาโรคเบาหวาน โปรแกรมการออกกำลังกาย และอาหาร

ยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blocker medications) เช่น เมโทโพรลอล (metoprolol) โพรพราโนลอล (propranolol) หรือยาหยอดตาสำหรับโรคต้อหิน (glaucoma) อย่างทิโมลอล (timolol) อาจป้องกันอาการหัวใจเต้นเร็วหรือรัว ที่คุณมักจะรู้สึกเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไป อาการอื่นๆ ของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อย่างวิงเวียน หิว หรือเหงื่อออกนั้นจะไม่ได้รับผลกระทบจากยาเหล่านี้

ควรอ่านฉลากยาของยาที่คุณใช้ทั้งหมด (เช่น ยาแก้ไอแก้หวัด) เนื่องจากยาเหล่านี้อาจมีน้ำตาลหรือแอลกอฮอล์ และอาจส่งผลกระทบต่อน้ำตาลในเลือดของคุณ โปรดสอบถามเภสัชกร สำหรับวิธีการใช้ยาเหล่านี้อย่างปลอดภัย

ยาอื่นสามารถส่งผลกระทบต่อการตรวจปัสสาวะ เพื่อหาน้ำตาลหรือคีโตนได้ (ketones) โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ยารีพาไกลไนด์อาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยารีพาไกลไนด์อาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยารีพาไกลไนด์อาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยารีพาไกลไนด์สำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2

การบำบัดรายบุคคล

ขนาดยาก่อนมื้ออาหาร 2, 3 หรือ 4 ครั้งต่อวัน

  • สำหรับผู้ป่วยที่ไม่เคยรักษาด้วยยาต้านโรคเบาหวานหรือผู้ที่มีระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (glycosylated hemoglobin) น้อยกว่า 8% มีขนาดยาเริ่มต้นคือ 0.5 มก. รับประทานพร้อมกับแต่ละมื้ออาหาร
  • สำหรับผู้ป่วยที่เคยรักษาด้วยยาต้านโรคเบาหวานหรือผู้ที่มีระดับน้ำตาลสะสมในเลือด 8% ขึ้นไป มีขนาดยาเริ่มต้นคือ 1 หรือ 2 มก. รับประทานพร้อมกับแต่ละมื้ออาหาร

การปรับขนาดยา

ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของน้ำตาลกลูโคสในเลือด เพิ่มขนาดยาก่อนมื้ออาหารเป็นสองเท่าจนถึงสูงสุดที่ขนาด 4 มก. ต่อมื้อ จนได้รับการตอบสนองของน้ำตาลกลูโคสในเลือดที่น่าพึงพอใจ ควรรออย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อน แล้วจึงค่อยประเมินการตอบสนองหลังจากปรับขนาดยาทุกครั้ง

  • ช่วงขนาดยาที่แนะนำคือ 0.5 ถึง 4 มก. รับประทานพร้อมกับแต่ละมื้ออาหาร
  • ขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 16 มก. ต่อวัน

คำแนะนำ

  • มักจะปรับขนาดยาโดยขึ้นอยู่กับใช้ความเข้มข้นของระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร แต่ในบางครั้งอาจมีการใช้ระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหารเพื่อปรับขนาดยา สำหรับผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดก่อนมื้ออาหารอยู่ระดับที่น่าพึงพอใจแต่มีระดับน้ำตาลสะสมในเลือดไม่เพียงพอ
  • เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ร่วมกับยาไทอาโซลิดีนไดโอน (thiazolidinedione) หรือยาเมตฟอร์มิน (metformin) ควรลดขนาดยาของยานี้

การใช้งาน

  • เพื่อเสริมกับการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการควบคุมน้ำตาลในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2

การปรับขนาดยาสำหรับผู้ป่วยโรคไต

  • ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ควรรอให้นานขึ้นในช่วงระหว่างการปรับขนาดยาเพื่อประเมินการตอบสนองอย่างเต็มที่

การปรับขนาดยาสำหรับผู้ป่วยโรคตับ

  • ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ควรรอให้นานขึ้นในช่วงระหว่างการปรับขนาดยาเพื่อประเมินการตอบสนองอย่างเต็มที่

การปรับขนาดยา

  • ผู้ป่วยที่อ่อนแอหรือขาดสารอาหาร ควรประคับประคองขนาดยาเริ่มต้นและขนาดยาปกติไว้ด้วยการปรับขนาดยาด้วยความระมัดระวัง
  • ผู้ป่วยที่เปลี่ยนมาจากยารักษาโรคเบาหวานแบบรับประทานอื่นๆ เมื่อเปลี่ยนจากยาต้านเบาหวานอื่นมาใช้ยานี้ ควรเริ่มต้นใช้ยานี้ในวันหลังจากที่รับประทานยาต้านเบาหวานอื่นครั้งสุดท้าย ควรเฝ้าระวังผู้ป่วยให้ดีสำหรับผลของยาที่ทับซ้อนกัน

การบำบัดร่วมกัน

  • หากการรักษาด้วยยาชนิดเดียวไม่ให้ผลการควบคุมน้ำตาลที่เพียงพอ อาจเพิ่มยาเมตฟอร์มินหรือยาไทอาโซลิดีนไดโอน
  • ยานี้ไม่ควรใช้ร่วมกับยาเอ็นพีเอชอินซูลิน

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากการใช้ยาร่วมกับยาไทอาโซลิดีนไดโอนหรือยาเมตฟอร์มิน ควรลดขนาดยารีพาไกลไนด์

อาจจำเป็นต้องลดขนาดยาหากใช้ร่วมกับยายับยั้งไซโตโครมพี 450 3 เอ4 (CYP450 3A4 inhibitors) และยาเหนี่ยวนำไซโตโครมพี 450 3 เอ4 (CYP450 3A4 inducers)

คำแนะนำอื่นๆ

คำแนะนำการใช้

  • รับประทานก่อนมื้ออาหาร โดยปกติคือ 15 นาทีก่อนมื้ออาหาร แต่แตกต่างได้จากมื้อก่อนหน้าทันที สูงสุดที่ 30 นาทีก่อนมื้ออาหาร
  • ผู้ป่วยที่ข้ามมื้ออาหารควรข้ามยาสำหรับอาหารมื้อนั้นด้วย หากจำนวนมื้ออาหารเพิ่มขึ้นก็ควรรับประทานยาเพิ่มขึ้นตามจำนวนมื้ออาหาร

ทั่วไป

  • สามารถใช้ยานี้ในการรักษาด้วยยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยาเมตฟอร์มินหรือยาไทอาโซลิดีนไดโอน ไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกับอินซูลิน
  • ยานี้ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 1 หรือผู้ที่มีภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน (diabetic ketoacidosis) เนื่องจากสภาวะเหล่านี้ควรรักษาด้วยอินซูลิน
  • การให้ยาในระยะสั้นอาจมีประโยชน์ในช่วงการสูญเสียการควมคุมชั่วคราวในผู้ป่วยที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้เป็นอย่างดีจากอาหาร
  • อาจเกิดการล้มเหลวแบบทุติยภูมิ (Secondary failure) ก่อนจะจำแนกผู้ป่วยว่ามีการล้มเหลวแบบทุติยภูมิหรือไม่ ควรจะประเมินสม่ำเสมอในของขนาดยาและการรับประทานอาหารเสียก่อน

การเฝ้าระวัง

  • ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร และระดับน้ำตาลสะสมในเลือดเป็นระยะๆ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยา

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

  • ผู้ป่วยควรเข้าใจถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามแนวทางการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายเป็นประจำ ในช่วงของความตึงเครียด เช่น เป็นไข้ บาดเจ็บ ติดเชื้อ หรือผ่าตัด อาจต้องเปลี่ยนการจัดการโรคเบาหวาน และควรแนะนำผู้ป่วยให้รับคำปรึกษาทางการแพทย์
  • ผู้ป่วยควรทราบเกี่ยวกับอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และควรระมัดระวังการขับรถและการใช้เครื่องจักร โดยเฉพาะเมื่อยังไม่ได้ความเสถียรสูงสุด เช่นในระหว่างการเปลี่ยนจากยาอื่นมาใช้ยานี้หรือในช่วงที่ใช้ยาแบบไม่ปกติ
  • ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ หากตั้งครรภ์ ตั้งใจที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร

ขนาดยารีพาไกลไนด์สำหรับเด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Repaglinide Dosage. https://www.drugs.com/dosage/repaglinide.html. Accessed April 12, 2018.

Repaglinide. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-6614/repaglinide-oral/details. Accessed April 12, 2018.

Repaglinide. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00912. Accessed July 8, 2019.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

โยคะรักษาเบาหวาน ศาสตร์โบราณสู่การปฏิบัติที่เห็นผลจริง

อาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรกินและควรหลีกเลี่ยงประเภทใดบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา