backup og meta

ไกลพิไซด์ (Glipizide)

ไกลพิไซด์ (Glipizide) มักใช้ร่วมกับการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายอย่างเหมาะ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูง สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (type 2 diabetes) นอกจากนี้ยังอาจใช้ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานอื่น ๆ

[embed-health-tool-heart-rate]

ข้อบ่งใช้

ยา ไกลพิไซด์ ใช้สำหรับ

ยา ไกลพิไซด์ (Glipizide) มักใช้ร่วมกับการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายอย่างเหมาะ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูง สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (type 2 diabetes) นอกจากนี้ยังอาจใช้ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานอื่นๆ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงนั้น จะช่วยป้องกันความเสียหายที่ไต ตาบอด ปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาท สูญเสียแขนขา และปัญหาทางเพศ การควบคุมโรคเบาหวานอย่างเหมาะสม ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการหัวใจขาดเลือดฉับพลัน หรือโรคหลอดเลือดสมอง ยาไกลพิไซด์นั้นอยู่ในกลุ่มของซัลโฟนิลยูเรีย (sulfonylureas) ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ด้วยการทำให้ร่างกายปล่อยสารอินซูลินตามธรรมชาติออกมา

วิธีการใช้ยาไกลพิไซด์

รับประทานยานี้ 30 นาที ก่อนมื้อเช้าหรือมื้อแรกของวันตามที่แพทย์กำหนด โดยปกติคือวันละครั้ง ผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาในขนาดสูง อาจต้องรับประทานวันละสองครั้ง ขนาดยาขึ้นอยู่สภาวะทางการแพทย์ และการตอบสนองต่อการรักษา

เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง แพทย์อาจสั่งให้คุณเริ่มใช้ยาในขนาดต่ำแล้วค่อยๆ เพิ่มขนาดยา ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

หากคุณกำลังใช้ยาอื่นเพื่อรักษาโรคเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว เช่น คลอร์โพรพาไมด์ (Chlorpropamide) ควรหยุดใช้ยาเก่าและเริ่มใช้ยาไกลพิไซด์ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างระมัดระวัง

โคลเซเวแลม (Colesevelam) สามารถลดการดูดซึมยาไกลพิไซด์ได้ หากคุณใช้ยาโคลเซเวแลม ควรรับประทานยาไกลพิไซด์ก่อนยาโคลเซเวแลมอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

ควรใช้ยานี้เป็นประจำเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากยา เพื่อให้จำง่ายขึ้น ควรรับประทานในเวลาเดียวกันทุกวัน

โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป

การเก็บรักษายา ไกลพิไซด์

ยาไกลพิไซด์ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหายหรือเสื่อมสภาพ ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาไกลพิไซด์บางยี่ห้ออาจมีวิธีเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ และโปรดเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเพื่อความปลอดภัย

ไม่ควรทิ้งยาไกลพิไซด์ลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น หากยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง โดยสามารถสอบถามข้อมูลวิธีกำจัดยาที่ถูกต้องเพิ่มเติมได้จากเภสัชกร

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาไกลพิไซด์

ก่อนใช้ยาไกลพิไซด์ โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณแพ้ยานี้ หรือมีโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีส่วนประกอบที่ไม่ออกฤทธิ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการแพ้ โปรดปรึกษากับแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะโรคตับ โรคไต โรคไทรอยด์ สภาวะฮอร์โมนบางอย่าง เช่น ภาวะขาดต่อมหมวกไต (adrenal insufficiency) ภาวะขาดต่อมใต้สมอง (pituitary insufficiency) กลุ่มอาการของการหลั่งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะไม่เหมาะสม (syndrome of inappropriate secretion of antidiuretic hormone) อิเล็กโทรไลต์ไม่สมดุล (electrolyte imbalance) ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (hyponatremia)

คุณอาจมีอาการมองเห็นไม่ชัด วิงเวียน หรือง่วงซึมเนื่องจากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป อย่าขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องการความตื่นตัว หรือการมองเห็นที่ชัดเจน จนกว่าจะมั่นใจว่าสามารถทำได้อย่างปลอดภัย

จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้ เนื่องจากสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ในกรณีหายาก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำปฏิกิรยากับยาไกลพิไซด์ แล้วทำให้เกิดอาการรุนแรง ปฏิกิริยาเหมือนไดซัลฟิแรม (disulfiram-like reaction) และอาการ เช่น หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ปวดท้อง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เกี่ยวกับความปลอดภัยในการดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอาจเป็นไปได้ยากขึ้น เมื่อร่างกายคุณเกิดความเครียดจากสาเหตุ เช่น อาการไข้ การติดเชื้อ อาการบาดเจ็บ การผ่าตัด ควรปรึกษาแพทย์ เพราะคุณอาจจำเป็นต้องรับการตรวจเลือด เปลี่ยนแผนการรักษา หรือเปลี่ยนยา

ยานี้อาจทำให้คุณมีปฏิกิริยาไวต่อแสงแดดมากขึ้น ควรจำกัดเวลาอยู่ใต้แสงแดด ทาครีมกันแดดและสวมเสื้อผ้าป้องกันเมื่ออยู่ภายนอก แจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากคุณถูกแดดเผา หรือมีแผลหรือรอยแดงที่ผิวหนัง

ก่อนการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบ เกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณกำลังใช้ ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง สมุนไพรต่างๆ เป็นต้น

ผู้สูงอายุอาจมีปฏิกิรยาไวต่อผลข้างเคียงของยานี้ได้มากกว่า โดยเฉพาะภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

ในช่วงตั้งครรภ์ ควรใช้ยานี้ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น โปรดปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ของการใช้ยา

การตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือทำให้โรคเบาหวานรุนแรงขึ้น โปรดปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการจัดการระดับน้ำตาลในเลือดขณะตั้งครรภ์ แพทย์อาจต้องเปลี่ยนแผนการรักษาสำหรับโรคเบาหวานขณะที่คุณตั้งครรภ์ เช่น อาหาร ยาต่างๆ รวมถึงอินซูลิน

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ยานี้สามารถผ่านสู่น้ำนมแม่ได้หรือไม่ แต่ยาที่คล้ายกันนั้นสามารถผ่านสู่น้ำนมแม่ได้ โปรดปรึกษากับแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยาไกลพิไซด์จัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A = ไม่มีความเสี่ยง
  • B = ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C = อาจจะมีความเสี่ยง
  • D = มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X = ห้ามใช้
  • N = ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาไกลพิไซด์

อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องร่วง ท้องผูก ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดศีรษะ และน้ำหนักเพิ่มขึ้น หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้น โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที

โปรดจำไว้ว่า การที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้ เนื่องจากประเมินแล้วว่ายามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

แจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง ได้แก่ สัญญาณของการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอบ่อย เป็นไข้ มีรอยช้ำหรือเลือดออกง่าย ปวดท้อง ดวงตาและผิวเป็นสีเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม เหนื่อยล้าหรืออ่อนแรงผิดปกติ น้ำหนักเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือฉับพลัน มีความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจหรืออารมณ์ มีอาการบวมที่มือหรือเท้า มีอาการชัก

ยานี้สามารถทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) ได้ หากคุณได้รับแคลอรี่จากอาหารไม่เพียงพอ หรือออกกำลังกายอย่างหนักเป็นประจำ อาการของระดับน้ำตาลในเลือดต่ำคือ เหงื่อออกฉับพลัน สั่นเทา หัวใจเต้นเร็ว หิว มองเห็นไม่ชัด วิงเวียน หรือเป็นเหน็บที่มือหรือเท้า ควรจะพกยาเม็ดหรือเจลกลูโคส เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หากคุณไม่มีกลูโคสในรูปแบบที่เชื่อถือได้ สามารถเพิ่มระดับน้ำตาลอย่างรวดเร็ว ด้วยการรับประทานแหล่งของน้ำตาล เช่น น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง ลูกอม น้ำผลไม้ น้ำอัดลมแบบปกติ แจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีเกี่ยวกับปฏิกิรยาและการใช้ยานี้ เพื่อป้องกันอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาและไม่งดอาหาร โปรดสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร เกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำเมื่องดมื้ออาหาร

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (hyperglycemia) มีดังนี้ กระหายน้ำ ปัสสาวะเพิ่มขึ้น สับสน ง่วงซึม หน้าแดง หายใจเร็ว และมีกลิ่นปากเป็นกลิ่นผลไม้ หากเกิดอาการเหล่านี้ โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบในทันที เพราะอาจต้องเพิ่มขนาดยา

การแพ้ยารุนแรงค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ เวียนหัวขั้นรุนแรง หายใจติดขัด มีผดผื่น คันหรือบวม โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ 

ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หรือบางคนอาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากนี้ หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

มียาจำนวนมากที่สามารถส่งผลกระทบกับระดับน้ำตาลในเลือด และทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยาก ก่อนเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนยาใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เกี่ยวกับการส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดของยา ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำและแจ้งผลให้แพทย์ทราบ ติดต่อแพทย์ในทันที หากมีอาการของระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในส่วนของผลข้างเคียง) แพทย์อาจจำเป็นต้องปรับขนาดยาสำหรับโรคเบาหวาน โปรแกรมการออกกำลังกาย หรืออาหาร

ยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blocker medications) เช่น เมโทโพรลอล (metoprolol) โพรพราโนลอล (propranolol) ยาหยอดตาสำหรับโรคต้อหิน เช่น ทิโมลอล (timolol) อาจป้องกันอาการหัวใจเต้นเร็วหรือรัว ที่มักจะรู้สึกเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำเกินไป อาการอื่นๆ ของระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น วิงเวียน หิว หรือเหงื่อออกนั้น ไม่ได้รับผลกระทบจากยาเหล่านี้

ตรวจสอบฉลากยาทั้งหมดที่คุณใช้ เช่น ยาแก้ไอแก้หวัด เนื่องจากอาจมีส่วนประกอบที่ส่งผลกับระดับน้ำตาลในเลือดได้ โปรดสอบถามเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาเหล่านี้อย่างปลอดภัย

ยาไกลพิไซด์อาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร เป็นต้น และเพื่อความปลอดภัย คุณไม่ควรเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาไกลพิไซด์อาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาไกลพิไซด์อาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาไกลพิไซด์สำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Diabetes Type 2)

ยาออกฤทธิ์ทันที

  • ขนาดยาเริ่มต้น : 5 มก. รับประทานวันละครั้ง 30 นาทีก่อนมื้อเช้า
  • ขนาดยาปกติ : อาจมากได้ถึง 40 มก. โดยแบ่งรับประทาน 30 นาทีก่อนมื้ออาหารที่มีแคลอรี่เพียงพอ อาจเพิ่มขนาดยาขึ้นไปถึงในช่วงระหว่าง 2.5 ถึง 5 มก. วันละครั้งโดยขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อน้ำตาลในเลือด
  • ขนาดยาหนึ่งครั้งสูงสุด : 15 มก.
  • ขนาดยาสูงสุดต่อวัน : 40 มก.

คำแนะนำ

  • ควรรอให้ผ่านไปอย่างน้อยหลายวัน ระหว่างขั้นตอนการปรับขนาดยา
  • หากการตอบสนองต่อขนาดยาสำหรับครั้งเดียวไม่เพียงพอ การแบ่งขนาดยาอาจเพิ่มประสิทธิภาพได้

ยาออกฤทธิ์นาน

  • ขนาดยาเริ่มต้น : 5 มก. รับประทานวันละครั้ง 30 นาทีก่อนมื้อเช้า
  • ขนาดยาปกติ : 5 ถึง 10 มก. รับประทานวันละครั้ง
  • ขนาดยาสูงสุดต่อวัน : 20 มก.

ผู้ป่วยที่ใช้ยาแบบออกฤทธิ์ทันที อาจเปลี่ยนมาใช้ยาแบบออกฤทธิ์นานวันละครั้ง ในขนาดยาที่เกือบจะเท่ากับขนาดยาทั้งหมดต่อวันได้อย่างปลอดภัย หรือปรับขนาดยา เพื่อให้ได้ขนาดยาแบบออกฤทธิ์นานที่เหมาะสม เริ่มต้นที่ 5 มก. วันละครั้ง

การใช้ร่วมกัน

  • เมื่อเพิ่มยาอื่นที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดเข้าไปในยาไกลพิไซด์แบบออกฤทธิ์นาน ควรเริ่มใช้ยานั้นที่ขนาดต่ำสุดที่แนะนำ และเฝ้าระวังภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • เมื่อเพิ่มยาไกลพิไซด์แบบออกฤทธิ์นานเข้าไปในยาอื่นที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด อาจเริ่มใช้ยาไกลพิไซด์แบบออกฤทธิ์นานที่ขนาด 5 มก. เริ่มในขนาดยาที่ต่ำกว่านี้ สำหรับผู้ป่วยที่มีปฏิกิริยาไวมากกว่าต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

เมื่อผู้ป่วยเปลี่ยนจากใช้ยาอินซูลินมาใช้ยาไกลพิไซด์ แนวทางการใช้ยาทั่วไปควรพิจารณาดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยที่ใช้อินซูลินต่อวันที่ขนาด 20 หน่วยหรือน้อยกว่านั้น : หยุดใช้ยาอินซูลินและเริ่มใช้ยาไกลพิไซด์ที่ขนาดยาตามปกติ
  • ผู้ป่วยที่ใช้อินซูลินต่อวันที่ขนาดมากกว่า 20 หน่วย : ควรลดขนาดยาอินซูลิน 50% และเริ่มใช้ยาไกลพิไซด์ที่ขนาดยาตามปกติ

คำแนะนำ 

  • ควรรอให้ผ่านไปอย่างน้อยหลายวันระหว่างขั้นตอนการปรับขนาดยา
  • การลดขนาดยาอินซูลินในภายหลังนั้น ควรขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละคน
  • ในช่วงของการถอนยาอินซูลิน ผู้ป่วยควรตรวจตัวอย่างปัสสาวะเพื่อดูระดับน้ำตาลและคีโตนบอดีส์ (ketone bodies) อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง
  • ผู้ป่วยบางรายที่ใช้อินซูลินมากกว่า 40 หน่วยต่อวัน อาจพิจารณาการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่ทำการสับเปลี่ยนยา

ผู้ป่วยที่รับยาสำหรับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอื่นๆ

  • เมื่อเปลี่ยนจากซัลโฟนิลยูเรียครึ่งชีวิตยาว : เฝ้าระวังภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ 1 ถึง 2 สัปดาห์
  • ยาไกลพิไซด์แบบออกฤทธิ์นานใช้ร่วมกับยาโคลเซเวแลม (colesevelam) : ควรให้ยาไกลพิไซด์ก่อนยาโคลเซเวแลมอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

การใช้งาน : ใช้เพิ่มกับการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มการควบคุมน้ำตาล สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2

ขนาดยาสำหรับผู้สูงอายุเพื่อรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2

ขนาดยาเริ่มต้น : 2.5 มก. รับประทานวันละครั้ง 30 นาทีก่อนมื้อเช้า

คำแนะนำ

  • ควรระมัดระวังการใช้ยาในขนาดปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • สามารถปรับขนาดยาด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงระดับการทำงานของตับ ไต หรือหัวใจ และโรคหรือยาอื่นที่อยู่ร่วมกัน

การใช้งาน : ใช้เพิ่มกับการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มการควบคุมน้ำตาลสำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2

การปรับขนาดยาสำหรับไต

ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังและประคับประคอง

การปรับขนาดยา สำหรับตับ

ผู้ป่วยโรคไต : ขนาดยาเริ่มต้นคือ รับประทาน 2.5 มก. วันละหนึ่งครั้ง 30 นาทีก่อนมื้อเช้า

การปรับขนาดยา

  • การปรับขนาดยาควรปรับเพิ่มตามปกติที่ 2.5 ถึง 5 มก. ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของน้ำตาลในเลือด
  • ผู้ป่วยบางรายอาจสามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการใช้ยาวันละครั้ง ในขณะที่ผู้ป่วยรายอื่นอาจจะมีการตอบสนองที่ดีกว่ากับการแบ่งให้ยา
  • ขนาดยาโดยรวมที่มากกว่า 15 มก. ควรแบ่งให้ยา

สำหรับยาไกลพิไซด์แบบออกฤทธิ์นาน

  • การตรวจน้ำตาลหลังอดอาหาร (fasting glucose) หนึ่งครั้งอาจไม่มีความแม่นยำเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองต่อการรักษา ในกรณีส่วนใหญ่มักเลือกใช้การตรวจวัดระดับฮีโมโกลบิน เอ1ซี (hemoglobin A1C) ในช่วงเว้น 3 เดือนเพื่อเฝ้าสังเกตการตอบสนองต่อการรักษา
  • หากผ่านพ้น 3 เดือนแรกของการรักษาแล้วยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้เพียงพออาจต้องเพิ่มขนาดยาไกลพิไซด์
  • หากยังไม่เห็นความอาการที่ดีขึ้นหลังจากรักษาด้วยขนาดยาที่สูง 3 เดือน ควรย้อนกลับไปที่ขนาดยาก่อนหน้า
  • การปรับขนาดยาไกลพิไซด์แบบออกฤทธิ์นานนั้นควรขึ้นอยู่กับค่าผลแลบสองค่าขึ้นไปที่ต่อเนื่องอย่างคงที่และเป็นค่าที่ตรวจภายใน 7 วัน

ผู้ป่วยที่เปลี่ยนจากยาออกฤทธิ์นาน เช่น คลอร์โพรพาไมด์ (chlorpropamide) ควรมีการเฝ้าระวังภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างใกล้ชิด ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการรักษา

ขนาดยาไกลพิไซด์สำหรับเด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขนาดยานี้ต่อผู้ป่วยเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายสำหรับเด็กได้ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน
  • ยาเม็ดสำหรับรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน
  • ยาผงสำหรับผสม

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Glipizide Dosage. https://www.drugs.com/dosage/glipizide.html. Accessed February 8, 2018.

Glipizide. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-10094-9061/glipizide-oral/glipizide-tablet-oral/details. Accessed February 8, 2018.

Glipizide. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a684060.html. Accessed February 8, 2018.

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/11/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะก่อนเบาหวาน ปัจจัยเสี่ยง การป้องกัน

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยอาหารที่อาจช่วยสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 09/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา