backup og meta

ไพริเมทามีน (Pyrimethamine)

ไพริเมทามีน (Pyrimethamine)

ยา ไพริเมทามีน (Pyrimethamine) ใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น ยาซัลโฟนาไมด์ (sulfonamide) เพื่อรักษาการติดเชื้อปรสิตที่รุนแรง อย่างโรคทอกโซพลาสโมซิส (toxoplasmosis)

ข้อบ่งใช้

ยา ไพริเมทามีน ใช้สำหรับ

ยาไพริเมทามีน (Pyrimethamine) ใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น ยาซัลโฟนาไมด์ (sulfonamide) เพื่อรักษาการติดเชื้อปรสิตที่รุนแรง อย่างโรคทอกโซพลาสโมซิส (toxoplasmosis) ในร่างกาย สมอง หรือดวงตา หรือใช้เพื่อป้องกันโรคทอกโซพลาสโมซิสในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี ยาไพริเมทามีนนั้นจัดอยู่ในกลุ่มของยารักษาโรคปรสิต (antiparasitics) ยานี้ทำงานโดยการฆ่าเชื้อปรสิต

วิธีการใช้ยา ไพริเมทามีน

การรับประทานยานี้โดยปกติคือ วันละหนึ่งหรือสองครั้งหรือตามที่แพทย์กำหนด โดยรับประทานยาพร้อมกับอาหารเพื่อลดอาการคลื่นไส้และอาเจียน หากมีอาการอาเจียนอย่างรุนแรงหรือต่อเนื่อง แพทย์อาจจะลดขนาดยาหรือสั่งให้คุณหยุดใช้ยานี้ แพทย์จะสั่งให้คุณใช้ยาอื่น เช่น ยากรดโฟลิค (folic acid) หรือยากรดโฟลินิก (folinic acid) เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับเลือดที่เกิดจากยาไพริเมทามีน ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างระมัดระวัง ควรดื่มน้ำให้มากเพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับไตหากคุณกำลังใช้ยาซัลฟ่า (sulfa) พร้อมกับยาไพริเมทามีน

ยานี้จะทำงานได้ดีที่สุดหากมีปริมาณของยาภายในร่างกายคงที่ ดังนั้น จึงควรใช้ยานี้หรือยารักษาโรคปรสิตอื่นๆ เป็นประจำตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน

ขนาดยาควรขึ้นอยู่กับชนิดของการติดเชื้อ ภาวะสุขภาพ อายุ และการตอบสนองต่อการรักษา ระยะเวลาการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับการติดเชื้อของคุณ แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดยาของคุณอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาการติดเชื้อและป้องกันผลข้างเคียงที่รุนแรง ดังนั้น ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

อย่าใช้ยานี้ในขนาดที่มากกว่าหรือน้อยกว่าที่กำหนด อย่าหยุดใช้ยาก่อนครบตามที่กำหนดเว้นเสียแต่ว่าแพทย์จะสั่งให้ทำเช่นนั้น แม้ว่าคุณจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม การข้ามมื้อยาหรือเปลี่ยนขนาดยาโดยไม่ได้รับการยอมรับจากแพทย์นั้นอาจทำให้ปริมาณของเชื้อปรสิตเพิ่มขึ้นและทำให้การติดเชื้อนั้นรักษาได้ยากขึ้น (ดื้อยา) หรือทำให้ผลข้างเคียงรุนแรงขึ้นได้

โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

การเก็บรักษายา ไพริเมทามีน

ยาไพริเมทามีนควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาไพริเมทามีนบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาไพริเมทามีนลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา ไพริเมทามีน

ก่อนใช้ยาไพริเมทามีน แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณแพ้ยานี้ หรือหากคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีส่วนประกอบไม่ออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะ อาการชัก ปัญหาเกี่ยวกับไต ปัญหาเกี่ยวกับตับ ภาวะเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำบางชนิด อย่างภาวะโลหิตจางจากการขาดกรดโฟลิก (megaloblastic anemia) เนื่องจากโฟเลทในเลือดต่ำ ภาวะกรดโฟลิกต่ำจากสภาวะอื่นๆ เช่น ภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) มีปัญหากับการดูดซึมสารอาหาร หรือโรคพิษสุรา (alcoholism) จำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงหรือขาวต่ำ จำนวนเกล็ดเลือดต่ำ

ก่อนการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ (ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ)

ในช่วงขณะการตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น โปรดปรึกษาความเสี่ยงและประโยชน์กับแพทย์ กรดโฟลิกนั้นมีความสำคัญมากในช่วงขณะตั้งครรภ์ แพทย์จะสั่งให้คุณใช้ยากรดโฟลิกหรือยากรดโฟลินิกเพื่อป้องกันภาวะโฟเลทต่ำ

ยานี้สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ได้ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา

ยาไพริเมทามีนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยา ไพริเมทามีน

อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้นโปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที

โปรดจำไว้ว่าการที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้เนื่องจากคำนวณแล้วว่ายามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

บางคนที่ใช้ยานี้อาจจะมีผลข้างเคียงที่รุนแรงรวมถึงปัญหาเกี่ยวกับเลือด โดยเฉพาะหากใช้ยาในขนาดที่สูง ความเสี่ยงนี้จะลดลงจากการใช้ยากรดโฟลิกหรือยากรดโฟลินิกและการตรวจเลือดเป็นประจำ โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากเกิดอาการดังต่อไปนี้ มีรอยช้ำหรือเลือดออกง่าย มีสัญญาณของการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น เป็นไข้สูง หนาวสั่นอย่างรุนแรง เจ็บคอบ่อยครั้ง หรือมีสัญญาณของจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ เช่น เหนื่อยล้าอย่างรุนแรง ปากซีด เล็บซีด หรือผิวซีด หัวใจเต้นเร็วหรือหายใจเร็วจากการทำกิจกรรมตามปกติ มีอาการบวมหรือปวดที่ลิ้น

ควรรับการรักษาในทันทีหากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรงมากดังต่อไปนี้ ปัสสาวะสีเลือดหรือสีชมพู ปวดหน้าอก หัวใจเต้นช้า เร็ว หรือผิดปกติ

การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ ผดผื่น คันหรือบวม (โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ) วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาที่อาจจะมีปฏิกิริยากับยานี้ได้แก่ ยาโลราเซแพม (lorazepam) ยาเพนิซิลลามีน (penicillamine) ยาซัลฟ่า (sulfa drugs) อย่างซัลฟาเมโทซาโซล (sulfamethoxazole) ยาที่สามารถลดระดับของโฟเลทได้ อย่างเฟนีโทอิน (phenytoin) หรือไตรเมโทพริม (trimethoprim) ยาที่สามารถลดจำนวนเม็ดเลือดได้ อย่างโพรกัวนิล (proguanil) ซิโดวูดีน (zidovudine) ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) อย่างเมโทเทรเซต (methotrexate) ดอโนรูบิซิน (daunorubicin) หรือไซโตซีน (cytosine)

ยาไพริเมทามีนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาไพริเมทามีนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาไพริเมทามีนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาไพริเมทามีนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อป้องกันโรคมาลาเรีย (Malaria)

25 มก. รับประทานสัปดาห์ละครั้ง ควรเริ่มต้นการป้องกันหนึ่งสัปดาห์ก่อนออกเดินทางและดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 ถึง 10 สัปดาห์หลังจากเปิดรับเชื้อ

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคท็อกโซพลาสโมซิส

ขนาดยาเริ่มต้น 50 ถึง 75 มก. รับประทานวันละครั้งพร้อมกับยาซัลโฟนาไมด์ (sulfonamide) อย่างซัลฟาดอกซีน (sulfadoxine) หรือซัลฟาไดอาซีน (sulfadiazine) ขนาด 1 ถึง 4 กรัม รักษาอย่างต่อเนื่องนาน 1 ถึง 3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองและความทนต่อการรักษา อาจลดขนาดยาสำหรับยาแต่ละชนิดลงครึ่งหนึ่งและรักษาต่อเนื่องเพิ่มอีก 4 ถึง 5 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่ใช้ยาไพริเมทามีนควรได้รับยากรดโฟลลินิกร่วมด้วย

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อป้องกันโรคท็อกโซพลาสโมซิส

1 มก./กก. หรือ 15 มก./ตารางเมตร (สูงสุด 25 มก.) รับประทานทุกวันร่วมกับยากรดโฟลินิกอย่างลูวโคโวริน (leucovorin) 5 มก. รับประทานทุกๆ 3 วัน และยาซัลฟาไดอะซีน 85 ถึง 120 มก./กก./วัน แบ่งรับประทาน 2 ถึง 4 ครั้ง อาจใช้คลินดามัยซิน (Clindamycin) 20 ถึง 30 มก./กก./วัน แทนที่ยาซัลฟาไดอะซีนเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมซิสติส (Pneumocystis Pneumonia)

50 ถึง 75 มก. รับประทานสัปดาห์ละครั้ง ยาไพริเมทามีนใช้ร่วมกับยาแดปโซนและยาลูวโคโวริน เป็นสูตรยาทางเลือกสำหรับผู้ที่ทนต่อยาไตรเมโทพริม – ยาซัลฟาเมโทซาโซล

ข้อควรระวัง

ยาไพริเมทามีนเป็นยายับยั้งโฟเลต (folate antagonist) และห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดกรดโฟลิก

ผู้ป่วยที่รักษาโรคท็อกโซพลาสโมซิสโดยใช้ยาไพริเมทามีนขนาดสูง ควรเฝ้าระวังสัญญาณหรืออาการและความผิดปกติจากห้องแล็บที่บ่งบอกว่ามีภาวะขาดโฟเลต หากเกิดภาวะขาดโฟเลตขึ้น ควรลดขนาดยาหรือหยุดใช้ยา ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วย และควรให้ยากรดโฟลิก (ลูวโคโวริน) จนกระทั่งฟื้นฟูการสร้างโลหิต (hematopoiesis) ให้กลับมาเป็นตามปกติ

ยาไพริเมทามีน อาจจะเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogenic) โดยการรักษาด้วยยาไพริเมทามีนนั้นมีรายงานให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมากของการเกิดเนื้องอกปอดในหนูทดลองเมื่อฉีดเข้าช่องท้อง (intraperitoneally) ในขนาด 25 มก./กก.

ไม่ควรใช้ยาเกินขนาดยาที่แนะนำสำหรับการใช้ยาเพื่อป้องกันโรคมาลาเรีย แนะนำให้ใช้ขนาดยาเริ่มต้นที่ขนาดเล็กเพื่อรักษาโรคท็อกโซพลาสโมซิสในผู้ป่วยที่มีอาการลมชัก (convulsive disorders) เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสในการเป็นพิษต่อระบบประสาทจากการใช้ยานี้ และควรใช้ยาไพริเมทามีนด้วยความระมัดระวังสำหรับผู้ป่วยที่มีตับและไตบกพร่อง หรือผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดภาวะขาดโฟเลต เช่น ผู้ที่มีกลุ่มอาการดูดซึมอาหารผิดปกติ (malabsorption syndrome) ผู้ที่เป็นโรคพิษสุรา หรือผู้ที่ตั้งครรภ์

ควรทำการตรวจเลือดและเกล็ดเลือดสัปดาห์ละสองครั้งสำหรับผู้ป่วยที่รักษาโรคทอกโซพลาสโมซิส

ผู้ป่วยควรได้รับคำเตือนให้หยุดใช้ยาไพริเมทามีน หากเกิดผดผื่นและควรรับการรักษาในทันที นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังควรติดต่อแพทย์หากเกิดอาการเจ็บคอ รอยซีด จ้ำเขียว และ/หรืออาการลิ้นอักเสบ

อาจรับประทานยานี้พร้อมกับอาหารเพื่อลดอาการอะนอเร็กเซีย (anorexia) และอาเจียน

ควรเก็บยาไพริเมทามีนให้พ้นจากมือของทารกและเด็กเนื่องจากพวกเขามีปฏิกิริยาไวอย่างมากต่อผลที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเกินขนาด เคยมีการเสียชีวิตในผู้ป่วยเด็กจากการเผลอรับประทานยา

งานวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาไพริเมทามีนนั้นไม่มีผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปในจำนวนมากพอที่จะหาว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการตอบสนอที่แตกต่างจากผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่าหรือไม่ การสังเกตทางการแพทย์อื่นๆ ยังไม่มีการระบุความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า โดยปกติแล้วควรระมัดระวังการเลือกขนาดยาสำหรับผู้สูงอายุ ตามปกติแล้วการเริ่มต้นที่ขนาดยาในขนาดที่ต่ำที่สุดของช่วงขนาดยาจะสะท้อนให้เห็นถึงความถี่ในการลดลงของการทำงานของตับ ไต หรือหัวใจอย่างมาก และของโรคหรือยาอื่นที่ใช้ร่วมกัน

คำแนะนำอื่นๆ

อาจรับประทานยาไพริเมทามีนพร้อมกับมื้ออาหารได้

ขนาดยาไพริเมทามีนสำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อป้องกันโรคมาลาเรีย

อายุน้อยกว่า 4 ปี 6.25 มก. รับประทานสัปดาห์ละครั้ง

อายุ 4 ถึง 10 ปี 12.5 มก. รับประทานสัปดาห์ละครั้ง

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคทอกโซพลาสโมซิส

ทารกแรกเกิดและทารก

ขนาดยาเริ่มต้น 2 มก./กก./วัน แบ่งรับประทานทุกๆ 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 2 วัน แล้วตามด้วย 1 มก./กก./วัน วันละครั้งพร้อมกับยาซัลฟาไดอะซีนใน 6 เดือนแรก อีก 6 เดือนหลังจากนั้นให้ใช้ยาในขนาด 1 มก./กก./วัน สัปดาห์ละ 3 ครั้งพร้อมกับยาซัลฟาไดอะซีน ควรให้ยากรดโฟลิกสำหรับรับประทานขนาด 5 ถึง 10 มก. สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อป้องกันความเป็นพิษต่อเลือด

อายุ 1 ถึง 12 ปี

2 มก./กก./วัน แบ่งรับประทานทุกๆ 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 3 วัน แล้วตามด้วย 1 มก./กก./วัน (ขนาดยาสูงสุดที่ 25 มก./วัน) วันละครั้ง หรือแบ่งให้วันละสองครั้งเป็นเวลา 4 สัปดาห์พร้อมกับยาซัลฟาไดอะซีน ควรให้ยากรดโฟลิกสำหรับรับประทานขนาด 5 ถึง 10 มก. สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อป้องกันความเป็นพิษ

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน
  • ยาผงสำหรับผสม

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pyrimethamine Dosage. https://www.drugs.com/dosage/pyrimethamine.html. Accessed April 10, 2018.

Pyrimethamine Tablet. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-5911/pyrimethamine-oral/details. Accessed April 10, 2018.

pyrimethamine https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Pyrimethamine

 

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

อัปเดตโดย: Ploylada Prommate


บทความที่เกี่ยวข้อง

เชื้อราในปากจากการให้นมแม่ ส่งผลกระทบอย่าไร

เอชไอวี กับ เอดส์ ต่างกันอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา