backup og meta

ไรวาสติกมีน (Rivastigmine)

ไรวาสติกมีน (Rivastigmine)

ข้อบ่งใช้

ยา ไรวาสติกมีน ใช้สำหรับ

ยาไรวาสติกมีน (Rivastigmine) ใช้เพื่อรักษาอาการสับสนหรือภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) และโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ยาไรวาสติกมีนไม่สามารถรักษาโรคทั้งสองได้ แต่อาจจะช่วยเพิ่มความจำ การตระหนักรู้ และความสามารถในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ยานี้ทำงานโดยการฟื้นฟูความสมดุลของสารสื่อประสาท (neurotransmitters) ภายในสมอง

วิธีการใช้ยาไรวาสติกมีน

รับประทานยานี้พร้อมกับอาหารตามที่แพทย์กำหนด โดยปกติคือวันละ 2 ครั้งในตอนเช้าและเย็น ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์และการตอบสนองต่อการรักษา เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง (เช่น คลื่นไส้และท้องร่วง) แพทย์จะให้คุณเริ่มใช้ยาในขนาดต่ำแล้วค่อยๆ เพิ่มขนาดยาขึ้นมา นานกว่า 2-4 สัปดาห์ ขนาดยาสูงสุดที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่คือ 6 มก. วันละ 2 ครั้ง

ใช้ยานี้เป็นประจำเพื่อให้ได้ประโยชน์จากยาสูงสุด เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน อย่าหยุดใช้ยานี้หากแพทย์ไม่ได้สั่ง อย่าใช้ยาบ่อยกว่าที่กำหนด

หากคุณไม่ได้ใช้ยาไรวาสติกมีนนานกว่า 3 วัน โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาอีกครั้ง คุณอาจจะต้องกลับมาเริ่มใช้ยาในขนาดที่ต่ำกว่าเดิม

โปรดแจ้งให้แพทย์หากอาการของคุณแย่ลง

การเก็บรักษายาไรวาสติกมีน

ยาไรวาสติกมีนควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาไรวาสติกมีนบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาไรวาสติกมีนลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูก สอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา ไรวาสติกมีน

ก่อนใช้ยาไรวาสติกมีน แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณแพ้ต่อยานี้ (รวมถึงอาการผื่นขณะที่ใช้แผ่นแปะยาไรวาสติกมีน) หรือหากคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีส่วนประกอบไม่ออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับการหายใจหรือปอด เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้ (เช่น มีแผลหรือมีเลือดออก) โรคหัวใจ เช่น กลุ่มอาการซิกไซนัส (sick sinus syndrome) หรือความผิดปกติของการนำคลื่นไฟฟ้าอื่นๆ หมดสติ ชัก ปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ (เช่น เนื่องจากต่อมลูกหมากโต)

ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนหรือง่วงซึม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกัญชานั้นอาจทำให้อาการวิงเวียนหรือง่วงซึมรุนแรงขึ้นได้ อย่าขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องการความตื่นตัวจนกว่าคุณจะสามารถทำได้อย่างปลอดภัย จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปรึกษาแพทย์หากคุณใช้กัญชา

ก่อนการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ (ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ)

ในช่วงขณะการตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น โปรดปรึกษาความเสี่ยงและประโยชน์กับแพทย์

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้สามารถส่งผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ได้หรือไม่ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา

ยาไรวาสติกมีนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด B โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยา ไรวาสติกมีน

อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องร่วง อ่อนแรง วิงเวียน ง่วงซึม และสั่นเทาในช่วงที่ร่างกายกำลังปรับตัวเข้ากับยาหรือเพิ่มขนาดยา แล้วอาการจะลดลงไป หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้นโปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที

โปรดจำไว้ว่าการที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้เนื่องจากคำนวณแล้วว่ายามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีหากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ หมดสติ อุจจาระสีดำ อาเจียนคล้ายกากกาแฟ ปวดท้องอย่างรุนแรง ชัก ปัสสาวะติดขัด

การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ ผดผื่น คันหรือบวม (โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ) วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาที่อาจจะมีปฏิกิริยากับยานี้ได้แก่ ยาแอสไพรินหรือยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือนาพรอกเซน (naproxen) ยาเมโทโคลพราไมด์ (metoclopramide)

ควรอ่านฉลากยาทั้งยาตามใบสั่งแพทย์และยาที่หาซื้อเองทั้งหมดอย่างละเอียดเนื่องจากยาเหล่านี้อาจจะมีส่วนผสมของยาบรรเทาอาการปวดหรือลดไข้ อย่าง ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน หรือยานาพรอกเซน ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับยาไรวาสติกมีนแล้วอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการเลือดออกได้ แต่ควรใช้ยาแอสไพรินขนาดต่ำที่แพทย์สั่งให้ใช้สำหรับเหตุผลทางการแพทย์ เช่น ใช้เพื่อป้องกันโรคหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองต่อไป (ขนาดยาโดยปกติคือ 81-325 มก. ต่อวัน) โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ยาไรวาสติกมีนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาไรวาสติกมีนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาไรวาสติกมีนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาไรวาสติกมีนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ระดับเบาถึงปานกลาง

ยาแบบรับประทาน

-ขนาดยาเริ่มต้น 1.5 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง

-ขนาดยาปกติ หลังจากใช้ยาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หากสามารถทนขนาดยาเริ่มต้นได้ สามารถเพิ่มขนาดยาขึ้นไปถึง 3 มก. วันละ 2 ครั้ง หลังจากนั้นการเพิ่มขนาดยาขึ้นไปถึง 4.5 มก. และ 6 มก. วันละ 2 ครั้ง ควรทำต่อเมื่อได้ใช้ยาในขนาดยาก่อนหน้านี้นานอย่างน้อย 2 สัปดาห์แล้วเท่านั้น

ยาแบบซึมเข้าผิวหนัง

-ขนาดยาเริ่มต้น 4.6 มก./24 ชั่วโมง แปะแผ่นยาบนผิวหนังวันละครั้งเท่านั้น

-ขนาดยาปกติ หลังจากใช้ยาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หากสามารถทนขนาดยาเริ่มต้นได้ สามารถเพิ่มขนาดยาขึ้นไปถึง 9.5 มก./ 24 ชั่วโมง ใช้นานเท่าที่ยังได้รับประโยชน์จากยาในขนาดนี้ สามารถเพิ่มขนาดยาขึ้นไปถึง 13.3 มก./ 24 ชั่วโมง

-ขนาดยาสูงสุด 13.3 มก./ 24 ชั่วโมง แปะแผ่นยาบนผิวหนังวันละครั้ง การใช้ยาในขนาดที่สูงกว่านี้ไม่ได้ให้ประโยชน์เพิ่มเติมและอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดผลข้างเคียง

โรคอัลไซเมอร์ระดับรุนแรง

ยาแบบซึมเข้าผิวหนัง

-ขนาดยาที่แนะนำ 13.3 มก./ 24 ชั่วโมง แปะแผ่นยาบนผิวหนังวันละครั้ง เปลี่ยนแผ่นยาใหม่ทุกๆ 24 ชั่วโมง

การใช้งาน เพื่อรักษาภาวาสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ประเภท AD ระดับเบา ปานกลาง หรือรุนแรง

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคพาร์กินสัน

ภาวะสมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสันระดับเบาถึงปานกลาง

ยาแบบรับประทาน

ขนาดยาเริ่มต้น 1.5 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้งพร้อมกับมื้อเช้าและมื้อเย็น

ขนาดยาปกติ หลังจากนั้นสามารถเพิ่มขนาดยาขึ้นไปถึง 3 มก. วันละ 2 ครั้ง และเพิ่มขนาดยาอีกไปจนถึง 4.5 มก. วันละ 2 ครั้ง และ 6 มก. วันละ 2 ครั้ง (ขึ้นอยู่กับความทนต่อยา) อย่างน้อย 4 สัปดาห์ระหว่างการเพิ่มขนาดยาแต่ละครั้ง

ยาแบบซึมเข้าผิวหนัง

-ขนาดยาเริ่มต้น 4.6 มก./24 ชั่วโมง แปะแผ่นยาบนผิวหนังวันละครั้งเท่านั้น

-ขนาดยาปกติ หลังจากใช้ยาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หากสามารถทนขนาดยาเริ่มต้นได้ สามารถเพิ่มขนาดยาขึ้นไปถึง 9.5 มก./ 24 ชั่วโมง ใช้นานเท่าที่ยังได้รับประโยชน์จากยาในขนาดนี้ สามารถเพิ่มขนาดยาขึ้นไปถึง 13.3 มก./ 24 ชั่วโมง

-ขนาดยาสูงสุด 13.3 มก./ 24 ชั่วโมง แปะแผ่นยาบนผิวหนังวันละครั้ง การใช้ยาในขนาดที่สูงกว่านี้ไม่ได้ให้ประโยชน์เพิ่มเติมและอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดผลข้างเคียง

การใช้งาน เพื่อรักษาภาวะสมองเสื่อมที่เกี่ยวข้องกับโรคพาร์กินสันระดับเบาถึงปานกลาง

การปรับขนาดยาสำหรับไต

ไม่มีการปรับขนาดยาที่แนะนำ เนื่องจากการปรับขนาดยาโดยขึ้นอยู่กับความทนต่อยาของแต่ละคน

ไตบกพร่องระดับปานกลางถึงรุนแรง (อัตราการกรองของไตน้อยกว่า 50 มล./นาที) ผู้ป่วยอาจสามารถทนต่อขนาดยาที่ต่ำกว่าได้เท่านั้น

การปรับขนาดยาสำหรับตับ

-ตับบกพร่องระดับเบา (ค่าไชด์พิว [Child-Pugh] 5 ถึง 6) และปานกลาง (ค่าไชด์พิว 7 ถึง 9) อาจลดขนาดยาลงมา

-ตับบกพร่องระดับรุนแรง ไม่มีข้อมูล

การปรับขนาดยา

การหยุดชะงัดการรักษาด้วยแผ่นแปะยาซึมเข้าสู่ผิวหนัง

-หากหยุดใช้ยาเป็นเวลาไม่เกิน 3 วัน สามารถกลับมาใช้ยาอีกครั้งในขนาดเดิมหรือขนาดต่ำกว่า

-หากหยุดใช้ยานานกว่า 3 วัน ควรกลับมาเริ่มใช้ยาใหม่ที่ขนาด 4.6 มก./24 ชั่วโมงแล้วค่อยปรับขนาดยา

การปรับขนาดยาในผู้ป่วยน้ำหนักตัวน้อย

-ควรปรับขนาดยาและเฝ้าระวังการเกิดความเป็นพิษ (เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง) ในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวน้อย (น้อยกว่า 50 กก.) และพิจารณาลดขนาดยาหากเกิดความเป็นพิษขึ้น

หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร) เนื่องจากการแพ้ยาระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาเป็นจำนวนหลายครั้งแล้วกลับมาใช้ยาอีกครั้งในขนาดเดิมหรือขนาดที่ต่ำลงหนึ่งระดับ

การเปลี่ยนจากยาแคปซูลหรือยาสารละลายสำหรับรับประทานมาเป็นแผ่นแปะยา

-ผู้ป่วยที่ใช้ยาแบบรับประทานในขนาดทั้งหมดต่อวันที่น้อยกว่า 6 มก. สามารถเปลี่ยนมาเป็นแผ่นแปะยาที่ขนาด 4.6 มก./24 ชั่วโมง

-ผู้ป่วยที่ใช้ยาแบบรับประทานในขนาดทั้งหมดต่อวันที่ 6-12 มก. สามารถเปลี่ยนมาเป็นแผ่นแปะยาที่ขนาด 9.5 มก./24 ชั่วโมงได้โดยตรง

-ควรใช้แผ่นแปะยาครั้งแรกในวันถัดจากวันที่ใช้ยาแบบรับประทานวันสุดท้าย

คำแนะนำอื่นๆ

คำแนะนำการใช้ยา

ยาแบบรับประทาน

-แบ่งรับประทานพร้อมกับอาหารในตอนเช้าและตอนเย็น

-สามารถดื่มยาสารละลายได้จากกระบอกยาโดยตรงหรือผสมยากับน้ำเปล่า น้ำผลไม้เย็นๆ หรือโซดา

แผ่นแปะยา

-อย่าใช้แผ่นแปะยาหากถุงยาเสียหายหรือแผ่นแปะยาขาด เสียหาย หรือมีความเปลี่ยนแปลง

-แปะแผ่นแปะยาวันละครั้ง

-กดให้แน่นนาน 30 วินาทีจนริมขอบของแผ่นแปะยาติดแนบสนิท

-แปะยาที่บริเวณหลังส่วนบนหรือส่วนล่าง

-อย่าแปะยาในบริเวณที่เพิ่งทาครีม โลชั่น หรือแป้ง

-อย่าแปะยาลงบริเวณผิวหนังที่มีรอยแดง อาการระคายเคือง หรือแผลบาด

-แปะยาครั้งละแผ่นเท่านั้น

-เปลี่ยนบริเวณที่แปะแผ่นยาทุกวัน อย่าแปะซ้ำในบริเวณเดิมเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน

-สามารถแปะแผ่นยาไว้ในขณะอาบน้ำได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแหล่งความร้อนภายนอกเป็นเวลานาน

การเก็บรักษา

-แยกเก็บแผ่นแปะยาไว้ในถุงยาที่ปิดสนิทจนกว่าจะพร้อมใช้ยา

-เก็บยาสารละลายสำหรับรับประทานไว้ในขวดตั้งตรงและอย่าแช่แข็ง

-ยาสารละลายสำหรับรับประทานจะคงตัวอยู่ได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลานานถึง 4 ชั่วโมงหลังจากผสมกับน้ำผลไม้หรือโซดาเย็นๆ

ทั่วไป

-ยารูปแบบรับประทานนั้นไม่ได้มีข้อบ่งใช้สำหรับภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ระดับรุนแรง

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

-แผ่นแปะยาที่ใช้แล้วควรม้วนพับไว้ ให้ด้านกาวติดเข้าหากันแล้วกำจัดอย่างปลอดภัย

-หลังจากจับแผ่นแปะยาซึมเข้าผิวหนังแล้วอย่าสัมผัสกับดวงตาและควรล้างมือ

ขนาดยาไรวาสติกมีนสำหรับเด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของขนาดยานี้สำหรับผู้ป่วยเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร

รูปแบบของยา

ขนาดและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาแคปซูลสำหรับรับประทาน
  • ยาสารละลายสำหรับรับประทาน
  • แผ่นแปะยาซึมเข้าสู่ผิวหนังแบบออกฤทธิ์นาน

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Rivastigmine Dosage. https://www.drugs.com/dosage/rivastigmine.html. Accessed April 16, 2018.

Rivastigmine. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-18190-8218/rivastigmine-tartrate-oral/rivastigmine-oral/details. Accessed April 16, 2018.

Rivastigmine. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a602009.html. Accessed November 25, 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Chayawee Limthavornrak


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารบำรุงสมองผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยงสมองเสื่อม เพิ่มความจำ

ป่วยเป็นพาร์กินสัน ออกกำลังกายอย่างไรให้เหมาะสม


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา