backup og meta

ปลายประสาทอักเสบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/12/2022

    ปลายประสาทอักเสบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

    ปลายประสาทอักเสบ เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากเส้นประสาทเสียหาย เมื่อเป็นแล้ว จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชาตามเท้ามือเท้า หรือหัวใจเต้นเร็ว ทั้งนี้ เมื่อมีอาการปลายประสาทอักเสบ ควรไปพบคุณหมอทันที เพื่อลดความเสี่ยงเส้นประสาทเสียหายมากขึ้น

    คำจำกัดความ

    ปลายประสาทอักเสบ คืออะไร

    ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) หรือบางครั้งเรียกว่าปลายประสาทเสื่อม เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากปลายประสาท (Peripheral Nerve) หรือเส้นประสาทส่วนที่อยู่นอกเหนือสมองและไขสันหลังได้รับความเสียหาย

    ปลายประสาทอักเสบแบ่งเป็นหลายชนิด โดยชนิดหลัก ๆ ได้แก่

    • Motor Neuropathy เป็นปลายประสาทอักเสบซึ่งเกิดจากเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวเสียหาย
    • Sensory Neuropathy เป็นปลายประสาทอักเสบซึ่งเกิดจากเส้นประสาทรับความรู้สึก หรือเส้นประสาทที่ช่วยให้มนุษย์รู้สึกถึงอุณหภูมิและความเจ็บปวดเสียหาย
    • Autonomic Nerve Neuropathy เป็นปลายประสาทอักเสบซึ่งเกิดจากเส้นประสาทอัตโนมัติ หรือเส้นประสาทส่วนที่ควบคุมการทำงานของร่างกายที่อยู่เหนือจิตใต้สำนึกของมนุษย์เสียหาย

    อาการ

    อาการของ ปลายประสาทอักเสบ

    อาการของปลายประสาทอักเสบแตกต่างกันไปตามชนิดของปลายประสาทอักเสบ ดังนี้

    Motor Neuropathy มีอาการดังนี้

    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต
    • กล้ามเนื้อลีบ ฝ่อ
    • ตะคริว

    Sensory Neuropathy มีอาการดังนี้

  • รู้สึกเสียวซ่าน
  • รู้สึกชา ไม่รับรู้ต่ออุณหภูมิและความเจ็บปวด
  • ร่างกายเสียสมดุล
  • การรับความรู้สึกผิดปกติ เช่น รู้สึกเจ็บปวดเมื่อร่างกายสัมผัสเบา ๆ กับผ้าปูที่นอน
  • Autonomic Nerve Neuropathy มีอาการดังนี้

    • ความดันโลหิตลดลงแบบเฉียบพลัน
    • หัวใจเต้นเร็วเมื่อลุกยืน
    • เหงื่อออกมากหรือน้อยเกินไป
    • ท้องผูกหรือท้องร่วง
    • หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
    • ตาพร่ามัว
    • ผิวหนังเปลี่ยนสี

    ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการของปลายประสาทอักเสบมากกว่า 1 ชนิดในเวลาเดียวกัน หรือเรียกว่า Combination Neuropathies

    สาเหตุ

    สาเหตุของปลายประสาทอักเสบ

    ปลายประสาทอักเสบ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และหนึ่งในนั้นคือโรคเบาหวาน

    เมื่อเป็นโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่ดูแลตัวเอง จะส่งผลให้หลอดเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทของอวัยวะต่าง ๆ เกิดความเสียหาย จนทำให้เป็นปลายประสาทอักเสบได้

    นอกจากนั้น การขาดแคลนวิตามินบี 12 ยังเป็นสาเหตุของปลายประสาทอักเสบเช่นกัน เพราะเมื่อขาดวิตามินบี 12 ปลอกไมอิลิน (Myelin Sheath) ที่คอยปกป้องเส้นประสาทจะได้รับความเสียหาย และเส้นประสาทจะทำงานผิดปกติหรือมีปัญหาได้

    และนอกจากสาเหตุข้างต้น สาเหตุอื่น ๆ ของปลายประสาทอักเสบ มีดังนี้

    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ติดต่อกันเป็นเวลานาน
    • การบริโภควิตามินบี 6 มากเกินไป
    • โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง
    • โรคมะเร็งและเนื้องอก
    • โรคติดเชื้อจากไวรัสและแบคทีเรีย เช่น โรคลายม์ (Lyme Disease) โรคงูสวัด โรคไวรัสตับอักเสบ โรคคอตีบ โรคเอดส์
    • การสัมผัสกับสารเคมี รวมถึงการได้รับพิษจากโลหะหนักอย่างตะกั่วหรือปรอท
    • การทำเคมีบำบัดในผู้ที่เป็นมะเร็ง
    • การบาดเจ็บ ประสบอุบัติเหตุ

    เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    เมื่อพบอาการของปลายประสาทอักเสบ อย่างกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือความรู้สึกเจ็บผิดปกติบริเวณมือหรือเท้า ควรไปพบคุณหมอทันที เพราะยิ่งพบคุณหมอเร็วเท่าไร โอกาสพบเส้นประสาทเสียหายในอนาคตก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัย ปลายประสาทอักเสบ

    โดยทั่วไป คุณหมอจะตรวจด้วยวิธีการต่อไปนี้ เพื่อยืนยันว่าเป็นปลายประสาทอักเสบหรือไม่

    • ซักประวัติผู้ป่วย รวมถึงสอบถามเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์
    • ตรวจการตอบสนองของกล้ามเนื้อ รวมถึงความรู้สึกต่อความเจ็บปวดหรืออุณหภูมิ
    • ตรวจเลือด เพื่อดูมองหาความผิดปกติ ที่อาจเป็นสาเหตุของปลายประสาทอักเสบ เช่น โรคเบาหวาน การขาดวิตามิน
    • ตัดตัวอย่างเส้นประสาทไปตรวจ เพื่อหาความผิดปกติของเส้นประสาท
    • การตรวจคลื่นกล้ามเนื้อ (Electromyography) เป็นการสอดขั้วไฟฟ้าเข้าไปในกล้ามเนื้อ เพื่อวัดกระแสไฟฟ้าในกล้ามเนื้อขณะที่กล้ามเนื้อหดตัว
    • การทำซีที แสกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging) เพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในร่างกาย ซึ่งสัมพันธ์กับปลายประสาทอักเสบ เช่น เนื้องอก โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท เส้นประสาทที่ถูกดึงหรือกดไว้

    การรักษา ปลายประสาทอักเสบ

    เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นปลายประสาทอักเสบ คุณหมอมักเลือกรักษาคนไข้ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

    • ให้ยาแก้ปวด รวมถึงยาต้านเศร้าและยากันชัก อย่างกาบาเพนติน (Gabapentin) หรือพรีกาบาลิน (Pregabalin) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
    • ให้ทาครีม ซึ่งมีสารแคปไซซิน (Capsaicin) เป็นส่วนผสม โดยแคปไซซินเป็นสารที่พบได้ในพริกหลาย ๆ ชนิด และมีฤทธิ์บรรเทาความเจ็บปวด ด้วยการยับยั้งไม่ให้เส้นประสาทส่งสัญญาณของความเจ็บปวดไปที่สมอง
    • ให้วิตามินบี 12 แบบเม็ดหรือยาฉีด เพื่อชดเชยวิตามินบี 12
    • ทำกายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
    • ผ่าตัด เพื่อเชื่อมต่อเส้นประสาทที่ขาดหรือเสียหาย หรือนำเส้นประสาทที่พบปัญหาออกจากร่างกาย เพื่อทำให้การส่งสัญญาณจากเส้นประสาทไปยังสมองเป็นไปได้ตามปกติ
    • กระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation) เป็นการส่งกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ จากอุปกรณ์เฉพาะ ผ่านขั้วไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับผิวหนัง เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดของผู้ป่วย ในกรณีของผู้ที่ใช้ยาต่าง ๆ แล้วไม่ได้ผล

    นอกจากนี้ สำหรับอาการอื่น ๆ ของปลายประสาทอักเสบ อย่างหย่อนสมรรถภาพทางเพศหรือท้องผูก หากตรวจพบ คุณหมอจะรักษาไปพร้อม ๆ กัน

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    ปลายประสาทอักเสบอาจป้องกันได้ หากปรับไลฟ์สไตล์หรือดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • รับประทานอาหารให้ครบถ้วน เพื่อป้องการขาดแคลนวิตามินบี 12 หรือการบริโภควิตามินบี 6 มากเกินไป
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเเนะนำให้ออกกำลังกายที่มีความเหนื่อยระดับปานกลาง เช่น วิ่งเหยาะ ๆ เดินเร็ว อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ นานครั้งละอย่างน้อย 30 นาที ความถี่อย่างน้อย 5 วัน ต่อสัปดาห์
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด รวมถึงการสัมผัสกับสารพิษและโลหะที่เป็นสาเหตุของปลายประสาทอักเสบ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา