backup og meta

มือเท้าชา ในผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    มือเท้าชา ในผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากอะไร

    มือเท้าชา เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยเบาหวานหรือที่เรียกว่า โรคเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน (Diabetic Neuropathy) ซึ่งเกิดขึ้นจากการปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรังเป็นเวลานาน ทั้งนี้ อาการมือเท้าชาจากเบาหวาน ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจป้องกันเเละควบคุมไม่ให้เป็นมากขึ้นได้ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม

    มือเท้าชา เกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคเบาหวาน

    โรคเบาหวานนั้นจัดเป็นเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เป็นสาเหตุของอาการผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อย คอแห้งตลอดเวลา รู้สึกอ่อนล้าไม่มีเเรง ตาพร่ามัว

    หากผู้ที่เป็นเบาหวานไม่ดูแลตัวเองให้ดีปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน จะทำให้หลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทเสียหาย เป็นผลให้การส่งสัญญาณของเส้นประสาทไปยังสมองบกพร่องจึงทำให้เกิดอาการ มือเท้าชา หรืออาจเรียกได้ว่า โรคเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน

    โดยรูปแบบของโรคเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวานที่มักพบบ่อยที่สุด คือ เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม (Peripheral Neuropathy) ซึ่งอาจทำให้มีอาการมือเท้าชา หรืออาการอื่น ๆ เช่น ไวต่อการสัมผัสผิดปกติ รู้สึกเสียวหรือแสบร้อนตามมือ เท้า หรืออาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ 

    ทั้งนี้ สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association) แนะนำว่า ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ควรได้รับการตรวจส้นประสาทเมื่อได้รับวินิจัยโรคเบาหวานเลย และหลังจากนั้นอาจเป็นการตรวจประจำปี ส่วนในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ควรได้รับการตรวจเส้นประสาทหลังจากได้รับการวินิจฉัยโรคเบาหวานไปแล้ว 5 ปี และหลังจากนั้นเป็นประจำทุก ๆ ปี

    มือเท้าชารักษาอย่างไร

    อาการมือเท้าชาเนื่องจากเส้นประสามเสื่อมในผู้ป่วยเบาหวาน ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เเต่หากรับการรักษาที่ถูกต้องอาการจะไม่พัฒนาไปมากขึ้น โดยเมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอจะตรวจเส้นประสาทเบื้องด้น ได้เเก่ การตรวจการรับรู้ความรู้สึกและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมถึงอาจมีการประเมินการทำงานของหลอดเลือดส่วนปลายร่วมด้วย เนื่องจากหากเลือดไหลเวียนไม่ดีอาจเป็นอีกสาเหตหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการมือเท้าชาได้ อย่างไรก็ตามการรักษาหลักของ อาการเส้นประสาทเสือมจากเบาหวานคือการ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย คือระดับน้ำตาลก่อนมื้ออาหารอยุ่ระหว่าง 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร  และ ระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหาร มีค่าไม่เกิน180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร  นอกจากนี้ในกรณีที่มีอาการเจ็บปวดหรือรู้สึกแสบร้อนบริเวณมือหรือเท้า คุณหมออาจให้การรักษาด้วยยากลุ่มที่สามารถบรรเทาอาการปวดจากเส้นประสาทได้ เช่นพรีกาบาลิน (Pregabalin) กาบาเพนติน (Gabapentin) อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) หรือนอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline) 

    มือเท้าชาป้องกันได้อย่างไร

    มือเท้าชาสามารถป้องกันได้ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ เต้นแอโรบิก ว่ายน้ำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงและยังช่วยควบคุมน้ำหนักอีกด้วย
    • ผ่อนคลายความเครียด ผ่อนคลายความเครียด ด้วยการทำงานอดิเรกที่ตนเองชื่นชอบ หรืออาจนั่งสมาธิ เพราะความเครียดจะทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลซึ่งมีฤทธิ์ต้านกับอินซูลินหลั่งมากขึ้น จึงอาจทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ยากขึ้นด้วย
    • หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดปลายนี้วด้วยตนเองเป็นประจำจะช่วยให้ทราบถึงระดับน้ำตาลของตนเป็นระยะ ทำให้สามารถควบคุมอาหารหรือปรับพฤติกรรมได้ดีขึ้น เเละหากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นหรือลดลงมากจนเกินไป จะได้สามารถเเก้ไขหรือมาพบคุณหมอได้ก่อนที่จะมีอาการรุนเเร
    • ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูงเลือกรับประทานผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยใยอาหาร เพราะใยอาหารอาจมีส่วนช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้
    • เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินในบุหรี่ นอกจากจะทำให้เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินแย่ลงเเล้วยังทำให้หลอดเลือดส่วนปลายเสือมลง ยิ่งส่งผลให้เกิดอาการปลายมื้อปลายเท้าชาได้มากขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา