backup og meta

ปวดหัวข้างซ้าย สาเหตุ อาการ และวิธีรับมือ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

    ปวดหัวข้างซ้าย สาเหตุ อาการ และวิธีรับมือ

    ปวดหัวข้างซ้าย เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากโรคปวดศีรษะโดยตรง เช่น โรคไมเกรน หรืออาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อ เนื้องอกในสมอง หากมีอาการบ่อยครั้ง ควรเข้ารับการตรวจโดยคุณหมอเพื่อหาสาเหตุของอาการปวดหัวข้างซ้าย หาวิธีรักษาหรือวิธีการรับมือได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพโดยรวม

    ปวดหัวข้างซ้าย คืออะไร

    ปวดหัวข้างซ้าย เป็นภาวะสุขภาพที่พบได้บ่อย อาจเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อตึงตัว หรือหลอดเลือดในสมองขยายหรือพองตัว หรือในบางกรณี อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมอง การส่งกระแสประสาทที่ผิดปกติ เป็นต้น นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางประการ เช่น การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวข้างซ้ายได้เช่นกัน

    สาเหตุของอาการปวดหัวข้างซ้าย

    ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวข้างซ้ายได้ มีดังต่อไปนี้

    โรคปวดศีรษะ เช่น

    อาการปวดที่พบมักอยู่ในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง เริ่มเกิดขึ้นที่บริเวณรอบดวงตาหรือขมับ โดยอาการอาจลามไปทั้งข้างซ้ายและข้างขวา หรืออาจมีอาการปวดหัวข้างเดียวก็ได้ นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน การมองเห็นเปลี่ยนแปลง วิงเวียนศีรษะ ไวต่อแสง เสียง สัมผัส หรือกลิ่นมากเป็นพิเศษ หน้า หรือแขนขาชา หรือปวดหัวข้างซ้ายเหมือนเข็มทิ่ม

    • โรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache)

    โรคนี้อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวข้างซ้ายหรือข้างขวาอย่างรุนแรง รู้สึกปวดแสบร้อนบริเวณรอบดวงตา อาการมักเกิดในตอนกลางคืน โดยเฉพาะหลังนอนหลับได้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดรุนแรงประมาณ 30-60 นาที ก่อนอาการจะบรรเทาลงและคงอยู่ต่อไปอีกได้นานถึง 3 ชั่วโมง อาการของโรคมักเกิดในช่วงเวลาเดิม และหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นอาการหนึ่งของโรคภูมิแพ้

  • โรคปวดศีรษะจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อคอ (Cervicogenic Headache)
  • อาจเกิดจากการบาดเจ็บบริเวณคอ โรคข้ออักเสบ หรือความผิดปกติของกระดูกสันหลังส่วนบนที่ส่งผลให้มีอาการปวดปานกลางถึงรุนแรงในบริเวณคอ ลามไปจนถึงดวงตาและใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง รวมถึงตาเบลอ ไวต่อแสงและเสียง คลื่นไส้ และคอแข็งด้วย

    โรคและภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น

    • โรคหลอดเลือดอักเสบ

    โรคหลอดเลือดแดงอักเสบแบบไจแอนต์เซลล์ (Giant cell arteritis) หรือหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ จะส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดสมอง และอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวเฉียบพลัน ลักษณะเหมือนถูกฟ้าผ่าเป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที โดยอาการปวดมักรุนแรง และส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นชั่วขณะ หรือเจ็บปวดขณะเคี้ยวอาหาร หากมีอาการปวดหัวข้างซ้าย และมีอาการร่วมดังกล่าว ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที เพราะหากปล่อยไว้ อาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้

    โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะสุขภาพร้ายแรงที่เกิดจากหลอดเลือดแตก ตีบตัน หรืออุดตัน จนเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย และมีอาการปวดหัวเฉียบพลัน ตามัว ทรงตัวลำบาก พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว ใบหน้าหรือแขนขาอ่อนแรง เป็นต้น โรคนี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น หากมีอาการที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ของโรค ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที

    • เนื้องอกในสมอง

    อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวข้างซ้าย ข้างขวา หรือปวดทั้งสองข้าง โดยอาการจะเกิดบ่อยขึ้นและค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และยังอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ ทรงตัวลำบาก พูดลำบาก อ่อนเพลีย สับสน พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป มีอาการชัก เป็นต้น ซึ่งหากสงสัยว่าอาการปวดหัวข้างซ้ายและอาการอื่น ๆ ที่พบเป็นสัญญาณของเนื้องอกในสมอง ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที เพราะเนื้องอกในสมองอาจพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งได้

  • การติดเชื้อ
  • การติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดธรรมดา โรคไข้หวัดใหญ่ มักส่งผลให้มีไข้ และโพรงไซนัสอุดตัน ซึ่งทั้ง 2 อาการสามารถส่งผลให้ปวดหัวได้

    พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น

  • การสวมหมวก หรืออุปกรณ์ป้องกันศีรษะที่รัดแน่นเกินไป ทำให้เกิดแรงกดทับที่ศีรษะมากขึ้น จนส่งผลให้ปวดหัว
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ หรือเครื่องดื่มที่มีเอทานอล (Ethanol) หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว จึงอาจทำให้ปวดหัวได้
  • ความเครียด เพราะเมื่อเข้าสู่สภาวะกดดันหรือเครียด ต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่าฮอร์โมนสู้หรือหนี (Fight-or-flight Hormones) เช่น อะดรีนาลีน (Adrenaline) หรือเรียกอีกอย่างว่าเอพิเนฟรีน (Epinephrine) ที่ทำให้การไหลเวียนของเลือดเปลี่ยนไปและกล้ามเนื้อตึงตัวขึ้น จนส่งผลให้ปวดหัวได้
  • อาหารบางชนิด เช่น ชีส พืชตระกูลถั่ว เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารที่ใส่สารกันบูด อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้
  • การอดอาหาร เนื่องจากร่างกายต้องการน้ำตาลกลูโคสมาเปลี่ยนเป็นพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ หากอดอาหาร ร่างกายก็จะขาดกลูโคส ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง หรือที่เรียกว่า ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และทำให้ปวดหัวได้
  • การอดนอน และโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจส่งผลให้ปวดหัวได้
  • การใช้ยาเกินขนาด หากใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน ยาทริปแทน มากกว่า 2-3 วันต่อสัปดาห์ อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวได้ เรียกว่า โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นทุกวัน เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า
  • วิธีรับมือเมื่อปวดหัวข้างซ้าย

    วิธีการดังต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดหัวข้างซ้ายได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอทันที

    • ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำเย็นประคบบริเวณศีรษะ ดวงตา หรือต้นคอ
    • ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น อาบน้ำอุ่น ฝึกการหายใจ นั่งสมาธิ ฟังเพลง อ่านหนังสือ
    • นอนหลับตอนกลางคืนให้เพียงพอ หากรู้สึกเพลียในตอนกลางวัน อาจนอนกลางวันประมาณ 20-30 นาที
    • รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
    • รับประทานยาแก้ปวดหัวที่หาซื้อได้เองจากร้านขายยา เช่น ไอบูโพรเฟน พาราเซตามอล แต่ไม่ควรใช้ยาเกิน 2-3 วันต่อสัปดาห์ เพราะอาจส่งผลให้ยิ่งปวดหัวได้

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

    ส่วนใหญ่แล้ว อาการปวดหัวข้างซ้ายสามารถดีขึ้นได้ด้วยการดูแลตัวเอง เช่น การนอนหลับให้เพียงพอ การรับประทานยาตามที่คุณหมอสั่ง แต่หากเกิดอาการปวดหัวข้างซ้ายในกรณีเหล่านี้ ควรรีบเข้าพบคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้

    • เริ่มมีอาการปวดหัวข้างซ้ายเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป
    • ปวดหัวเฉียบพลัน เช่น นอนหลับอยู่แต่กลับปวดหัวจนนอนต่อไม่ได้
    • อาการแย่ลงเรื่อย ๆ หรือรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อไอ หรือเคลื่อนไหวร่างกาย
    • อาการปวดหัวส่งผลให้บุคลิกภาพ นิสัย และอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป
    • ปวดหัวข้างซ้ายร่วมกับมีอาการอื่น เช่น ตาแดงและปวดตา ปวดและกดเจ็บบริเวณขมับ มีไข้ คอแข็งจนขยับคอลำบาก สับสนมึนงง ไม่ตื่นตัว หรือมีปัญหาด้านความจำ มีอาการทางระบบประสาท อย่างการมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป พูดไม่ชัด มีอาการชัก อ่อนแรง มีอาการชา เป็นต้น
    • เป็นผู้ป่วยมะเร็ง หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา