backup og meta

ไมเกรนเกิดจาก อะไร และบรรเทาอาการได้อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

    ไมเกรนเกิดจาก อะไร และบรรเทาอาการได้อย่างไร

    ไมเกรน (Migraines) คือ อาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยมักปวดศีรษะข้างเดียว หรือเริ่มจากปวดศีรษะข้างเดียวก่อนจะปวดศีรษะทั้งสองข้างอย่างรุนแรง อาจเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้งหรือเกิดขึ้นแทบทุกวัน สาเหตุที่ทำให้เกิดไมเกรนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เป็นไปได้ว่า ไมเกรนเกิดจาก ความผิดปกติของระดับสารเคมีในสมองที่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดและเส้นประสาทในสมอง

    นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกอีกหลายปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้ เช่น ความเครียด ความร้อน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง กลิ่นแรง ๆ แสงสว่างที่จ้าเกินไป การพักผ่อนไม่เพียงพอ ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในเพศหญิง การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน การไม่ได้ดื่มกาแฟในคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ การสูบบุหรี่ ทั้งนี้ การปวดไมเกรนอาจรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ จึงควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    ไมเกรนเกิดจาก อะไร

    ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า ไมเกรนเกิดจาก สาเหตุใด แต่อาจเกิดจากเซลล์ประสาททำงานผิดปกติและส่งสัญญาณไปกระตุ้นเส้นประสาทไตรเจมินัล (Trigeminal nerve) ให้เกิดความรู้สึกบริเวณศีรษะและใบหน้า ส่งผลให้ร่างกายปล่อยสารเคมีอย่างเซโรโทนิน (Serotonin) และสาร Calcitonin gene-related peptide (CGRP) ซึ่งเป็นนิวโรเปปไทด์ชนิดหนึ่งในร่างกายโดยสาร CGRP จะทำให้หลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมองบวม จากนั้นสารสื่อประสาทในสมองจะทำให้เกิดการอักเสบและความรู้สึกเจ็บปวด

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรน อาจมีดังนี้

    • พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นไมเกรน อาจเสี่ยงเกิดไมเกรนได้มากกว่าคนทั่วไป
    • เพศ เพศหญิงเสี่ยงเป็นไมเกรนมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะผู้หญิงวัย 15-55 ปี ซึ่งอาจเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงวัยเจริญพันธุ์
    • อายุ คนทั่วไปอาจเริ่มมีอาการไมเกรนครั้งแรกในช่วงวัยรุ่น แต่ไมเกรนก็สามารถเกิดได้กับคนทุกวัย โดยมักเกิดก่อนอายุ 40 ปี
    • รูปแบบการใช้ชีวิต ผู้ที่มีภาวะเครียดเรื้อรังหรือมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ผ่อนคลาย อาจเกิดไมเกรนได้บ่อยกว่าคนที่ไม่ค่อยเครียด อีกทั้งไมเกรนยังพบได้บ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งมีสารเคมีให้โทษอย่างนิโคติน (Nicotine) ที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมและตีบตัน ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง นอกจากนี้ การนอนน้อยยังทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอจนทำให้เป็นไมเกรนได้เช่นกัน
    • ภาวะสุขภาพ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคไบโพลาร์ (Bipolar) โรคนอนไม่หลับ โรคลมบ้าหมู อาจทำให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้
    • ยารักษาโรค เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคหัวใจ หรือแม้แต่ยาบรรเทาอาการปวด หากใช้เกินปริมาณที่แนะนำก็อาจทำให้มีอาการปวดไมเกรนได้
    • อาหารบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ กาแฟ ช็อกโกแลต ผงชูรส อาหารหมักดอง อาจทำให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้ โดยเฉพาะเมื่อบริโภคร่วมกับมีปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆเช่น ดื่มแอลกอฮอล์หรือกาแฟขณะเครียดจัด

    อาการไมเกรน เป็นอย่างไร

    อาการไมเกรน อาจแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังต่อไปนี้

    ระยะอาการบอกเหตุ (Prodrome) ก่อนไมเกรนจะกำเริบประมาณ 1-2 วัน อาจมีอาการดังนี้

    • ท้องผูก
    • อารมณ์แปรปรวน
    • อยากอาหารมากกว่าปกติ
    • คอแข็ง
    • ถ่ายปัสสาวะมากกว่าปกติ
    • ตัวบวม
    • หาวบ่อย

    ระยะอาการเตือน (Aura) อาการเตือนอาจเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาการแต่ละอย่างอาจเริ่มขึ้นทีละน้อย อาจมีอาการต่อเนื่องเป็นเวลาหลายนาทีหรือนานถึง 1 ชั่วโมง

    อาการในระยะอาการเตือน เช่น

    • เห็นแสงสว่างวาบสีขาวคล้ายแสงแฟลช
    • เห็นภาพเป็นรูปร่างบิดเบี้ยว ขนาดผิดไปจากปกติ
    • สายตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
    • กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าหรือข้างลำตัวอ่อนแรง
    • เจ็บตามขาแขนเหมือนมีเข็มทิ่ม หรือรู้สึกชาที่แขนขา
    • มีปัญหาในการพูด

    ระยะปวดศีรษะ (Attack/ Headache) อาการปวดศีรษะอาจเกิดขึ้นนานประมาณ 4-72 ชั่วโมงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยทั่วไปความถี่ของอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน อาจเกิดขึ้นหลายครั้งใน 1 เดือน หรืออาจแทบไม่เกิดขึ้นเลย

    อาการในระยะปวดศีรษะ เช่น

    • ปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง หรือเริ่มปวดจากข้างใดข้างหนึ่งก่อนจะปวดศีรษะทั้งสองข้าง
    • ปวดศีรษะตุบ ๆ เป็นจังหวะ
    • มีความรู้สึกไวต่อแสง เสียง บางครั้งอาจรวมถึงกลิ่นและการสัมผัส
    • คลื่นไส้ อาเจียน

    ระยะหลังปวดศีรษะ (Post-drome)

    หลังระยะปวดศีรษะ ผู้ป่วยอาจรู้สึกอ่อนเพลีย สับสนมึนงง เหนื่อยล้า และอาจยังรู้สึกไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 วัน หากขยับศีรษะเร็ว ๆ อย่างกะทันหันอาจทำให้รู้สึกปวดศีรษะอีกเป็นระยะสั้น ๆ

    วิธีรักษาไมเกรน

    ในขณะนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาไมเกรนได้ 100% การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง ด้วยการรับประทานยาบรรเทาปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เมื่อมีอาการเท่านั้น ตามปริมาณที่คุณหมอหรือเภสัชกรแนะนำ ห่างกันครั้งละ 4-6 ชั่วโมง คุณหมออาจจ่ายยาแก้คลื่นไส้หรือแก้อาเจียนให้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังมียาอื่น ๆ เช่น ยากลุ่มทริปแทน (Triptans) เออร์โกตามีน (Ergotamine) ที่ช่วยให้สารเคมีในสมองสมดุลขึ้น ลาสมิดิแทน (Lasmiditan) ที่ช่วยลดความเจ็บปวด อาการคลื่นไส้ และความไวต่อแสงหรือเสียง

    นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจดูแลตัวเองขณะมีอาการได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • นอนพักผ่อนในห้องที่มืดสลัว ไม่มีแสงไฟรบกวน
  • วางเจลเย็นหรือผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาดบนหน้าผาก
  • ดื่มน้ำเยอะ ๆ อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน
  • การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไมเกรน

    การดูแลตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันไมเกรนได้

    • บรรเทาความเครียดและความรู้สึกแง่ลบต่าง ๆ ด้วยการทำกิจกรรมที่สนใจ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย อาจช่วยบรรเทาอาการไมเกรนและลดความถี่ในการเกิดอาการได้
    • สังเกตว่าไมเกรนเกิดจากสิ่งของหรือพฤติกรรมกระตุ้นใด เช่น หากนอนน้อยแล้วปวดไมเกรน ควรพยายามเข้านอนให้เร็วขึ้น หากดื่มกาแฟแล้วปวดไมเกรน ควรดื่มกาแฟให้น้อยลง
    • สำหรับผู้หญิงที่มีอาการไมเกรนที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน อาจไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เช่น การใช้ฮอร์โมนบำบัด (Hormone therapy)
    • สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ควรออกกำลังกายเป็นประจำและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาจช่วยป้องกันการเกิดไมเกรนได้
    • รับประทานอาหารเสริม เช่น ไรโบฟลาวิน (วิตามินบี 2) โคเอนไซม์คิวเท็น (Coenzyme Q10) อาจช่วยป้องกันการเกิดไมเกรนได้ และหากเป็นผู้ที่มีระดับแมกนีเซียมต่ำ อาจรับประทานแมกนีเซียมเพื่อเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทและสมอง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา