backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

5 ปัจจัยกระตุ้นอาการหอบหืด ที่คุณอาจนึกไม่ถึง

5 ปัจจัยกระตุ้นอาการหอบหืด ที่คุณอาจนึกไม่ถึง

เมื่อคุณเป็น หอบหืด ให้ระวังสิ่งต่าง ๆ รอบตัวคุณ ปัจจัยหลายประการสามารถกระตุ้นอาการหอบหืดได้ ซึ่งอาจเป็นที่ทราบกันว่า เชื้อรา ไรฝุ่น หรือควันบุหรี่ เป็นสาเหตุหลักของอาการหอบหืด ทว่ายังมี ปัจจัยกระตุ้นอาการหอบหืด อื่น ๆ ที่ต้องรู้ไว้

ความเครียด

หนึ่งใน ปัจจัยกระตุ้นอาการหอบหืด คือความเครียด ความเครียดที่ว่านีเอาจมาจากงาน ลูก ความสัมพันธ์ เงิน บ้าน และครอบครัว เป็นต้น ความเครียดสามารถส่งผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก (musculoskeletal) หัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular) ทางเดินอาหาร (gastrointestinal) ระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทส่วนกลาง (immune and central nervous systems) และแน่นอนว่าความเครียดยังสามารถส่งผลต่อหอบหืดได้อีกด้วย

ความเครียดสามารถส่งผลให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงและกระตุ้นเส้นประสา ทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจในปอด กล้ามเนื้อเหล่านี้อาจเกิดความตึงซึ่งทำให้อาการหอบหืดแย่ลง เช่น หายใจมีเสียง ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก นอกจากนี้ ความเครียดยังสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งสามารถทำให้หอบหืดกำเริบได้

อย่างไรก็ดี หอบหืด ไม่ใช่ภาวะทางร่างกายที่เกิดจากจิตใจ (psychosomatic condition) และไม่ได้เกิดจากความเครียด หมายความว่าหากคุณไม่เป็นหอบหืด ความเครียดไม่ได้เป็นสาเหตุของหอบหืด แต่ความเครียดสามารถกระตุ้นอาการต่าง ๆ หากเป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว

อารมณ์ที่รุนแรง เช่น การตะโกน ความกังวล การร้องไห้ ความโกรธ หัวเราะเสียงดัง ก็สามารถกระตุ้นหอบหืดได้เช่นกัน

การใช้ยาที่กระตุ้น หอบหืด

ผู้ป่วยอาจแพ้ยาบางชนิดที่สามารถกระตุ้นหอบหืด (asthma attack) ดังนั้น ให้ระวังการใช้ยาหากเป็นโรคหอบหืด อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงยาทุกชนิด แต่ควรหลีกเลี่ยงยาที่กระตุ้นอาการหอบหืด นอกจากนี้ ให้ระวังเมื่อต้องใช้ยาชนิดอื่นถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นสิ่งกระตุ้นหอบหืดเนื่องจากปฏิกิริยารุนแรงสามารถเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้ หากได้รับการสั่งยาใด ๆ ที่คิดว่าอาจกระตุ้นอาการหอบหืด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

ยาทั่วไปที่สามารถกระตุ้น หอบหืด ได้แก่

  • แอสไพริน (Aspirin) และยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ หากเป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว อาจแพ้ยาแอสไพรินและยาต้านการอักเสบปราศจากสเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDS) อื่น ๆ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ยานาพร็อกเฟน (naproxen) ยาเหล่านี้ใช้บรรเทาอาการปวด ไข้ หวัด และไข้หวัดใหญ่ อาการหอบหืดที่ถูกกระตุ้นโดยยาเหล่านี้อาจมีความรุนแรงได้ บางคนกล่าวว่ายาที่มีตัวยาอะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยหอบหืดที่แพ้ยาแอสไพริน อย่างไรก็ดี การศึกษาบางประการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาอะเซตามิโนเฟนและหอบหืด ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะปรึกษาแพทย์
  • ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blockers) ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์เป็นยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อาการปวดศีรษะไมเกรน และต้อหิน (glaucoma)
  • ยากลุ่ม ACE inhibitors ยากลุ่ม ACE inhibitors ที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจอาจทำให้เกิดอาการไอในผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าว และสามารกระตุ้นอาการหอบหืดได้

อาหารและสารปรุงแต่งอาหาร

การแพ้อาหารสามารถกระตุ้นอาการที่ไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรงในผู้ป่วยหอบหืดได้ อาหารที่สัมพันธ์กับอาการหอบหืดมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม (เนยแข็ง นม) ไข่ ถั่ว ถั่วเหลือง แป้งสาลี ปลา กุ้ง และสลัด

นอกจากนี้ สารถนอมอาหารในอาหารแปรรูปยังสามารถกระตุ้นหอบหืดได้อีกด้วย สารถนอมอาหารใช้เพื่อรักษาอาหารให้อยู่ในสภาพดีเป็นเวลานาน โดยสามารถกระตุ้นอาการ หอบหืด ในผู้ป่วยที่มีความไวต่อสารถนอมอาหาร เช่น โซเดียมไบซัลไฟต์ (sodium bisulfite) โพแทสเซียมไบซัลไฟต์ (potassium bisulfite) โซเดียมซัลไฟต์ (sodium sulfite) โซเดียมเมทาไบซัลไฟต์ (sodium metabisulfite) โพแทสเซียมเมทาไบซัลไฟต์ (potassium metabisulfite) สารถนอมอาหารเหล่านี้พบได้ในผลไม้แห้ง (แอปริคอต ลูกเกด สับปะรด) มันฝรั่งบรรจุห่อ ซุปกระป๋อง ไวน์ เบียร์ น้ำมะนาวกระป๋อง และอาหารหมักดอง

อาการแพ้อาหารทั่วไป ได้แก่ ลมพิษ (hives) คลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วง (diarrhea) หากอาหารที่รับประทานกระตุ้นหอบหืด อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ อาการแพ้อาหาร ไอ หายใจมีเสียง และคอบวม

การออกกำลังกายกระตุ้น หอบหืด

หลายคนอาจประหลาดใจว่าการออกกำลังกายซึ่งเป็นที่ทราบว่าดีต่อสุขภาพ จะสามารถกระตุ้นหอบหืดได้อย่างไร การออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก เช่น การวิ่งเหยาะ ๆ การเดินเร็ว การกระโดดเชือก สามารถทำให้ทางเดินหายใจตีบตันและกระตุ้น หอบหืด ในระหว่างการออกกำลังกาย เรามีแนวโน้มที่จะหายใจทางปากและจะหายใจเอาอากาศที่เย็นและแห้งมากกว่าการหายใจตามปกติเข้าไป โดยปกติ ทางเดินหายใจมักมีความไวต่ออุณหภูมิและความชื้น ดังนั้น ทางเดินหายใจจึงมีโอกาสมากที่จะตีบ ซึ่งทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ของหอบหืดที่เกิดจากการออกกำลังกาย เช่น หายใจมีเสียง แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย ไอ

อากการหอบหืดที่เกิดจากการออกกำลังกาย ได้แก่ อาการแน่นหน้าอก ไอ และหายใจลำบากภายในเวลา 5 ถึง 15 นาทีแรก หลังเริ่มออกกำลังกาย โดยอาการอาจหายไปในนาทีที่ 30 ถึง 60 ของการออกกำลังกาย อย่างไรก็ดี อาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการหอบหืดอีกครั้ง ในเวลา 6 ถึง 10 ชั่วโมง การอบอุ่นร่างกายอย่างระมัดระวังก่อนออกกำลังกายสามารถช่วยป้องกันหอบหืดกำเริบได้

การติดเชื้อ

การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย อย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่และหวัด สามารถส่งผลต่อปอด ทำให้เกิดการติดเชื้อ และทำให้ทางเดินหายใจตีบ ดังนั้น ควรระวังอาการติดเชื้อต่าง ๆ ที่สามารถกระตุ้นหอบหืด ได้แก่

  • อาการไอ
  • หายใจติดขัด
  • หายใจลำบาก
  • หายใจมีเสียง
  • มีไข้
  • อ่อนเพลีย
  • เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะ

สุขอนามัยที่ดี วัคซีน และยาสูดหายใจรักษา หอบหืด (asthma inhaler/ asthma nebulizer) สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ที่กระตุ้นหอบหืดได้

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรคหอบหืดสามารถปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม เพื่อควบคุมอาการหอบหืด โดยการหลีกเลี่ยงหรือจัดการกับสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How stress triggers asthma. http://www.webmd.boots.com/asthma/guide/how-stress-triggers-asthma. Accessed June 3, 2017.

Asthma Causes and Triggers. http://www.webmd.com/asthma/guide/asthma-triggers#1. Accessed June 3, 2017.

Aspirin and Other Drugs That May Trigger Asthma. http://www.webmd.com/asthma/guide/medications-trigger-asthma#1. Accessed June 3, 2017.

Common Asthma Triggers. https://www.cdc.gov/asthma/triggers.html. Accessed June 3, 2017.

Asthma triggers. http://healthywa.wa.gov.au/Articles/A_E/Asthma-triggers. Accessed June 3, 2017.

Food Allergies and Asthma. http://www.webmd.com/asthma/guide/food-allergies-and-asthma. Accessed June 3, 2017.

Exercise-Induced Asthma. http://www.webmd.com/asthma/guide/exercise-induced-asthma#1. Accessed June 3, 2017.

Infections and Asthma. http://www.webmd.com/asthma/guide/infections-and-asthma. Accessed June 3, 2017.

เวอร์ชันปัจจุบัน

21/04/2021

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล

avatar

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 21/04/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา