น้ำมันละหุ่ง (Castor Oil) คือ น้ำมันพืชที่สกัดมาจากเมล็ดละหุ่ง ซึ่งเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในแถบแอฟริกาและเอเชีย เป็นอีกหนึ่งน้ำมันพืชที่ขึ้นชื่อในเรื่องสรรพคุณอันหลากหลายมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ถึงแม้ชื่ออาจจะแปลกหูสำหรับหลายคนไปบ้าง แต่คุณประโยชน์นั้นมีมากเกินกว่าจะมองข้ามไป วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำมันละหุ่งมาฝากค่ะ
สารอาหารในน้ำมันละหุ่ง
น้ำมันละหุ่งขนาด 1 ช้อนโต๊ะ จะให้คุณค่าทางสารอาหารที่สำคัญ ดังนี้
- พลังงาน 120 แคลอรี่
- ไขมัน 14 กรัม
- โปรตีน 0 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 0 กรัม
- ไฟเบอร์ 0 กรัม
- น้ำตาล 0 กรัม
มากไปกว่านั้นแล้ว น้ำมันละหุ่งยังเป็นแหล่งของแร่ธาตุจำเป็น ดังนี้
- วิตามินอี
- กรดไขมันโอเมก้า 9
- กรดไขมันโอเมก้า 6
ประโยชน์ของน้ำมันละหุ่ง
เป็นยาระบาย
น้ำมันละหุ่ง มีหนึ่งสรรพคุณที่ได้รับการพูดถึงมาเนิ่นนานนั่นคือ สรรพคุณในการเป็นยาระบายจากธรรมชาติ เพราะเมื่อรับประทานน้ำมันละหุ่งเข้าไป น้ำมันละหุ่งจะถูกย่อยและดูดซึมที่ลำไส้เล็ก เมื่อกรดไขมันที่ชื่อกรดริซิโนเลอิก (Ricinoleic Acid) ถูกดูดซึมแล้วก็จะไปกระตุ้นให้เกิดการระบาย ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม น้ำมันละหุ่งควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เพราะถ้ากินมากเกินไปจะเสี่ยงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วงได้
มากไปกว่านั้น ถึงแม้น้ำมันละหุ่งจะมีส่วนช่วยบรรเทาอาการท้องผูกโดยการเป็นยาระบายได้เป็นครั้งคราว แต่ไม่ควรใช้ทุกครั้งที่อึไม่ออก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการขับถ่ายในระยะยาว
รักษาบาดแผล
กรดไขมันในน้ำมันละหุ่งมีสรรพคุณเป็นสารต้านจุลชีพ และต้านเชื้อแบคทีเรีย มีส่วนช่วยรักษาบาดแผล หรือทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น จากผลการวิจัยของหลายสถาบันพบว่า น้ำมันละหุ่งเมื่อนำไปใช้กับผิวหนัง หรืบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผล จะมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลดอาการอักเสบของบาดแผล ช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดี ทั้งยังช่วยในการผลัดเซลล์ผิว และสมานแผลให้ดีขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม
หากเป็นแผลควรมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือรับการรักษาจากผู็เชี่ยวชาญ และถ้าหากต้องการใช้น้ำมันละหุ่งรักษาบาดแผล ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อป้องกันอาการแพ้หรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้น้ำมันละหุ่ง
บำรุงสุขภาพผิว
มีปัญหาผิวกวนใจใช่ไหม ถ้าใช่ล่ะก็ อย่าเพิ่งมองข้ามน้ำมันละหุ่งเลยเชียว เพราะน้ำมันละหุ่งมีส่วนช่วยในการ
- เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว เนื่องจากน้ำมันละหุ่งอุดมไปด้วยกรดริซิโนเลอิก (Ricinoleic Acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่มีสรรพคุณสามารถดูดซึมความชื้นได้ดี จึงสามารถใช้แก้ปัญหาผิวขาดน้ำ หรือผิวแห้งได้ดีไม่แพ้โลชั่นหรือมอยส์เจอไรเซอร์
- ทำความสะอาดผิว ไตรกลีเซอร์ไรด์ในน้ำมันละหุ่งมีสรรพคุณช่วยในการทำความสะอาดได้ดี สามารถชโลมน้ำมันละหุ่งเพื่อเช็ดล้าง หรือทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกายก่อนหรือหลังอาบน้ำได้
- ลดการเกิดสิว สิวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการอักเสบ สิ่งสกปรก อาการแพ้ การติดเชื้อรา หรือติดเชื้อแบคทีเรีย แต่น้ำมันละหุ่งมีสรรพคุณเป็นสารต้านจุลชีพที่ช่วยลดการอักเสบ ลดการติดเชื้อต่าง ๆ และยังช่วยในการทำความสะอาดผิวได้เป็นอย่างดี การบำรุงผิวหน้าด้วยน้ำมันละหุ่งเป็นประจำ จึงอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดสิวได้
บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ
น้ำมันละหุ่งไม่เพียงบำรุงแค่ผิวหน้าและผิวกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหนังศีรษะและเส้นผมอีกด้วย
- เนื่องจากเป็นน้ำมันที่มีองค์ประกอบและสรรพคุณในการดูดซึมความชื้นได้ดี ผู้ที่มีปัญหาผมแห้งเสีย สามารถชโลมน้ำมันละหุ่งไปที่เส้นผมเพื่อบำรุงสุขภาพเส้นผมที่แห้งเสียให้ดีขึ้นได้
- การบำรุงเส้นผมด้วยน้ำมันละหุ่งเป็นประจำก็ยังช่วยในการหล่อลื่น เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเส้นผม ลดโอกาสในการขาด หลุด ร่วงของเส้นผม หรือป้องกันการแตกหักของเส้นผมได้
- หนังศีรษะที่แห้งเป็นขุย จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นรังแค การบำรุงหนังศีรษะด้วยน้ำมันละหุ่งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่หนังศีรษะ ลดความเสี่ยงของปัญหาหนังศีรษะแห้ง ลอกเป็นขุย หรือลดความเสี่ยงในการเป็นรังแค
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้น้ำมันละหุ่ง
- กระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์หรือคลอด ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันละหุ่ง เนื่องจากน้ำมันละหุ่งมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์ที่จะนำไปสู่การคลอด ซึ่งอาจเป็นอันตรายและเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด หรืออาจคลอดแบบไม่เป็นไปตามธรรมชาติ
- เสี่ยงต่ออาการท้องร่วง น้ำมันละหุ่งหากกินน้อยก็จะเป็นยาระบาย แต่ถ้ากินเข้าไปมากเกินความจำเป็นจะเสี่ยงต่ออาการท้องร่วง ท้องเสีย จึงควรรับประทานแต่พอดี
- อาการแพ้ อาการแพ้น้ำมันละหุ่ง แม้จะเกิดขึ้นได้น้อย แต่ก็ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้น้ำมันละหุ่งในการบำรุงผิว ควรมีการทดสอบอาการแพ้ก่อนการใช้งาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้กำเริบ
น้ำมันละหุ่งหากใช้แต่พอเหมาะ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ถ้าหากใช้มากจนเกินความจำเป็น หรือใช้โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพ ก็อาจจะได้รับผลข้างเคียงที่อันตรายมากกว่าผลลัพธ์ที่ทำให้สุขภาพดี
[embed-health-tool-bmi]